ในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไร สิ่งหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วเหมือนฝูงไฮดร้าคอยทำร้ายคนอื่นก็คือ เหล่ามิจฉาชีพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโจรวิ่งราวทรัพย์ หรือ แก๊งคอลเซนเตอร์ที่เคยระบาดมาพักหนึ่ง แล้วก็หายไปเพราะทางตำรวจและรัฐบาลกวาดล้าง จับกุม แต่ตอนนี้พวกมันกำลังจะกลับมาผงาดอีกครั้งหนึ่ง
แก๊งคอลเซนเตอร์ คืออะไร
แก๊งคอลเซนเตอร์พวกนี้คือมิจฉาชีพรูปแบบหนึ่ง โดยวิธีการของพวกมันโดยทั่วไปแล้วก็คือจะทำทีว่าเป็นตำรวจแล้วโทรเข้าเบอร์ผู้เสียหาย จากนั้นก็ทำเป็นว่ากำลังสืบคดีโดยเรามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ จากนั้นก็ทำการซักประวัติเรา แล้วก็บอกทางแก้ไขอย่างง่าย ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีที่พวกนั้นบอกมาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า เงินในบัญชีของเรานั้นเป็นของเราจริง จากนั้นก็นำเงินที่เราโอนให้นั้นหายเข้ากลีบเมฆไปอย่างไร้ร่องรอย
เหมือนจะตาย แต่ก็ยังไม่ตาย
สำหรับการหลอกลวงทางโทรศัพท์ให้โอนเงินไปให้ หรือที่เรียกว่า แก๊งคอลเซนเตอร์ นี้ถือว่าเป็นมิจฉาชีพรูปแบบหนึ่งที่ต้องบอกเลยว่า “ฆ่าไม่ตาย” จริงๆ เนื่องจากช่วงที่ระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว ทางรัฐบาลกับตำรวจก็ร่วมมือกันปราบปรามจนสามารถจับได้ แล้วเอามาแสดงให้ดูจนหลายคนเข้าใจวิธีการของพวกนี้เป็นอย่างดี เลยทำให้คนเริ่มที่รู้เท่าทันกลโกงของพวกนี้ ทำให้หายไปสักพักหนึ่ง แต่ตอนนี้พวกมันกลับมาอีกครั้งแล้ว โดยเหยื่อรายล่าสุด เป็นสาวใหญ่เมืองใต้คนหนึ่งที่ถูกพวกแก๊งหลอกให้โอนเงินกว่า หกแสนบาท จนต้องออกมาแจ้งความพร้อมกับบอกกล่าวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ต่อไป (อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.thairath.co.th/content/776146)
ความผิดที่พวก แก๊งคอลเซนเตอร์ หยิบมาทำให้เราตกใจ
เพื่อเป็นการรู้เท่าทันของมิจฉาชีพพวกนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่า พวกมันจะหยิบอะไรมาเป็นข้ออ้างให้เราตกใจกันได้บ้าง
1.ความผิดเรื่องบัตรเครดิต เช่น การไม่จ่ายหรือชำระหนี้ตามกำหนดเวลา จะถูกอายัดบัตร
2.ความผิดเรื่องการฟอกเงิน เรื่องนี้ถือว่าเป็นไม้ตายของพวกมันเลยประเด็นคือ เราจะถูกตำรวจ(ปลอม)ที่โทรมาบอกว่าบัญชีของเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน แก๊งยาเสพติด และขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ ควรโอนเงินที่ได้มาไปยังบัญชีที่เปิดไว้ ถ้าไม่โอนมาจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและอายัดบัญชี
3.ความผิดเรื่องหนี้ เช่น เรามีหนี้ค้างชำระ(ทั้งที่ไม่เคยไปกู้หรืออาจจะกู้อยู่แต่จ่ายแล้ว) ต้องโอนเงินมาเคลียร์ยอดคงค้างอยู่กี่บาทก็ว่ากันไป ไม่งั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากความผิดสมมุติเหล่านี้ พวกมิจฉาชีพมักหยิบมาใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้เสียหาย ให้รีบโอนเงินมาให้เร็วที่สุด ซึ่งหากเราไม่ได้ทำความผิดอะไรก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรเลย
ความกลัว ความน่าเชื่อถือ และความเร็ว
สิ่งที่ทำให้มักจะมีเหยื่อจากแก๊งคอลเซนเตอร์อยู่เป็นประจำเลยก็คือ ความสามารถในการเจรจาของพวกเค้านั้นต้องยอมรับเลยว่า เป็นมืออาชีพจริง ทั้งการสร้างความกลัวจากความผิดปลอมที่ก่อขึ้นมาทั้งการพูดถึงเรื่องคดีความ บทลงโทษ และอื่นอีกมากมายทำให้เหยื่อเกิดความกลัว ผนวกกับความน่าเชื่อถือในเรื่องของการบอกชื่อ ยศ และตำแหน่งที่ถูกต้อง(แน่นอนว่าไม่ใช่ตัวจริง)อย่างชัดเจน น้ำเสียงหนักแน่นไม่มีการสะดุดเลยแม้แต่น้อยเนื่องจากทำมาหลายครั้งแล้ว สุดท้ายคือเรื่องของความเร็วในการควบคุมผู้เสียหายให้ไปโอนเงินที่ตู้ จะเห็นว่าเหยื่อมักจะถูกหลอกให้ไปโอนภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที พอทั้งหมดทั้งมวลมารวมกันก็ไม่แปลกที่เหยื่อจะหลงเชื่อเพราะมันเกิดขึ้นเร็วมากพอนั่งตั้งสติอีกทีก็เรียบร้อยไปแล้ว
การป้องกันตัวเอง จากการถูกหลอก
หากเราเป็นคนหนึ่งที่เคยเจอเบอร์แปลกโทรมาแล้วเพื่อหลอกลวงเข้าข่ายแก๊งคอลเซนเตอร์ การป้องกันตัวเองอย่างง่ายที่สุดก็คือ การตั้งสติไว้ให้ดี เป็นไปได้อย่าคุยคนเดียวเพราะอาจจะคิดไม่ทันพวกมันทางที่ดีเปิดลำโพงไปเลย(แต่พวกแก๊งมักจะให้เราคุยคนเดียวเงียบๆ) ให้รีบวางสายไปเลย ยิ่งฟังยิ่งโดนหลอกง่าย หากวางสายไปแล้วไม่แน่ใจจริงให้ติดต่อกับตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อแจ้งความหรือติดตาม จากนั้นก็ไปติดต่อที่ธนาคารได้เลย จำไว้เลยว่าไม่มีทางที่ตำรวจหรือธนาคารจะโทรมาติดต่อเราเพื่อให้ไปโอนเงินไม่ว่าเป็นกรณีไหนก็ตาม
การติดตามที่ตำรวจไซเบอร์ต้องมี
นอกจากการป้องกันตัวเองแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่คอยรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างตำรวจไซเบอร์ บ้านเราก็ต้องสามารถติดตาม สืบหาต้นตอ ของพวกเค้าได้ด้วย บางครั้งการที่จับไม่ได้มันก็เหมือนเป็นการส่งเสริมให้แก๊งคอลเซนเตอร์พวกนี้ออกล่าหาเหยื่อต่อไปเชื่อว่าตำรวจไทยเก่งอยู่แล้วสามารถจับได้อย่างแน่นอน รวมถึงทางธนาคารเองก็ควรจะมีการติดตามได้ว่า เงินจำนวนมากที่โอนไปแต่ละครั้งนั้นไปอยู่ที่ใครบัญชีใคร จะได้ติดตามได้ถูกสุดท้ายขอย้ำอีกครั้งว่า การที่จะรับมือกับ พวกแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ได้นั้น การมีสติสำคัญที่สุด หากไม่แน่ใจให้รีบวางสายไปเลย อย่าตกใจ อย่ากลัว