เช็กให้ชัวร์ ซื้อประกันชีวิต ยกเลิกได้เงินคืนไหม?
ในปัจจุบันคนไทยรู้จักกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากในช่วงการจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงเล็งเห็นถึงโรคร้ายใหม่ ๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง การใส่ใจสุขภาพอย่างประกันชีวิตกลายเป็นตัวเลือกการลงทุนของคนยุคใหม่เพิ่มขึ้น
แต่ในขณะเดียวการดำเนินชีวิตยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และหลายคนก็อาจจะมีการสะดุดระหว่างทาง อาจจะต้องการลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลง จึงสงสัยว่า ประกันชีวิต ยกเลิกได้เงินคืนไหม ซึ่งจะพาไปไขข้อสงสัย พร้อมแนวทางการขอยกเลิกประกันภัยแบบไหนให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด
ประกันชีวิต ยกเลิกได้เงินคืน คืออะไร
การยกเลิกประกัน ถือเป็นการขอสิ้นสุดการคุ้มครองของประกันภัยต่าง ๆ ที่ได้ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องทำการแจ้งเรื่องเพื่อยื่นคำร้องกับทางตัวแทน หรือบริษัทประกันภัยโดยตรง จากนั้นให้ทำการจัดเตรียมเอกสารประกอบการเวนคืนกรมธรรม์ตามที่บริษัทฯ ได้ระบุไว้ให้ครบถ้วน และทำการจัดส่งเอกสารดังกล่าวไปยังบริษัทฯ เพื่อให้ดำเนินการยกเลิกประกัน ซึ่งระยะเวลาการยกเลิกขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทประกันภัยฯ
ยกเลิกประกันชีวิต ได้เงินคืนไหม
คำถามที่หลายคนสงสัยว่า หากยกเลิกประกันชีวิต ได้เงินคืนไหม? คำตอบคือ ยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้เงินคืน แต่ทั้งนี้อาจจะต้องทบทวนในส่วนของเงื่อนไขในการส่วนของค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไปเพราะมีจำนวนเงินคืนเท่าไร อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น
- บางกรมธรรม์จะได้รับเงินประกันคืนน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป
- บางกรณีเป็นเบี้ยประกันแบบจ่ายทิ้งซึ่งจะไม่ได้รับเงินคืน
- บางกรณีเป็นแบบไม่มีเงินปันผล คือ เมื่อยกเลิกประกันก็ไม่ได้รับเงินคืน
ยกเลิกประกัน มีขั้นตอนอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง
เมื่อทราบกันไปแล้วว่า สามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ แต่ก็มีขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงเอกสารที่ใช้ในการยกเลิกซึ่งมีวิธีการดังนี้
วิธีการยกเลิกประกัน
1. ให้ทำการติดต่อ Call Center ของบริษัทฯ ประกันที่เป็นผู้ออกกรมธรรม์
2. เจ้าหน้าที่ฯ จะทำการรับเรื่องพร้อมบันทึกไฟล์เสียงการสนทนา พร้อมชี้แจงรายละเอียดเอกสารที่ต้องใช้เพื่อประกอบการยกเลิกกรมธรรม์
3. ทำการเตรียมเอกสารให้ครบ เมื่อครบให้ดำเนินการส่งเอกสารแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ผ่าน 3 ช่องทาง (โดยสามารถเลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่ง) ได้แก่ ทางไปรษณีย์ อีเมล หรือแฟกซ์
เอกสารที่ใช้ในการยกเลิกประกัน
- แบบฟอร์มคำร้องขอใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ โดยให้ทำการกรอกแบบฟอร์ม 1 ชุด/กรมธรรม์
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
- กรมธรรม์ต้นฉบับ หรือใบแจ้งความ
- กรณีกรมธรรม์สูญหายให้นำใบแจ้งความระบุเลขที่กรมธรรม์ และชื่อสกุลผู้เอาประกันภัยตามข้างต้นแทน
- สำเนาบัญชีธนาคาร พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
- กรณีผู้รับเงินมีความประสงค์รับเงินคืนผ่านทางบัญชีธนาคาร
- เอกสารอื่น ๆ ตามที่บริษัทประกันภัยได้ทำการร้องขอ
4 กรณีที่นิยมใช้ในการยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต
1.ยกเลิกกรมธรรม์ในช่วงระยะ Free Look ภายใน 15 วัน
จะเป็นการยกเลิกกรมธรรม์ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องถูกหักเงินใด ๆ หรือที่เรียกกันว่า ช่วงระยะเวลา Free Look ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดย คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)
หากต้องการที่จะขอยกเลิกประกันภัยจะต้องดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ถึงจะได้เงินคืนค่าประกันแบบ 100% (แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉบับละ 500 บาท และค่าตรวจสุขภาพ (ถ้ามี)) ส่วนการขอยกเลิกจะต้องส่งหนังสือแจ้งการยกเลิกทำประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยคืนทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงบริษัทประกันโดยตรง
2.ขอคืนเงินกรมธรรม์แบบเวนคืนกรมธรรม์ ภายหลัง 15 วัน
วิธีนี้ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่ทำประกันแล้วอาจจะส่งเบี้ยไม่ไหว หรือต้องการใช้เงินอยากปิดกรมธรรม์โดยไม่ต้องให้ความคุ้มครองแล้วและไม่ต้องส่งเบี้ยประกัน การเวนคืนแม้อาจจะได้ไม่เต็มจำนวน แต่ก็ได้เงินคืนโดยจะใช้สูตรในการคำนวณเงินที่เวนคืนของกรมธรรม์ ดังนี้ เงินที่ได้รับคืน = (มูลค่าเวนคืน x เงินเอาประกัน) ÷ 1,000
3.การเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์แบบใช้เงินสำเร็จ
โดยข้อ 1 และข้อ 2 จะเป็นวิธีการยกเลิกรมธรรม์แบบสิ้นสุดความคุ้มครอง แต่สำหรับวิธีนี้เหมาะกับคนที่ยังต้องการการให้ความคุ้มครองต่อ แต่ไม่ต้องการส่งเบี้ย ก็จะเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์แบบใช้เงินสำเร็จที่ความคุ้มครองจะลดลงเท่ากับมูลค่าเงินสำเร็จที่กำหนดไว้ในตารางมูลค่าของกรมธรรม์ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- กรณีผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา บริษัทประกันภัยฯ จะจ่ายเงินครบสัญญา “ตามมูลค่าใช้เงินสำเร็จ” ที่ได้ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์
- กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตระหว่างสัญญา บริษัทประกันภัยฯ จะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามมูลค่าใช้เงินสำเร็จที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- โดยจำนวนเงินเอาประกันภัยจะลดลงเท่ากับมูลค่าใช้เงินสำเร็จที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ระยะเวลาในการความคุ้มครองให้เป็นไปตามสัญญาเดิม
- หากมีหนี้สินคงค้างจากกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยฯ จะดำเนินการหักหนี้สินออกจากเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ก่อนจะนำมาคำนวณเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะของกรมธรรม์ต่อไป
ข้อดีของวิธีนี้ คือ ไม่ต้องส่งเบี้ยประกันต่อ แต่ยังได้รับความคุ้มครองเป็นระยะเวลาเท่าเดิม แต่ทุนประกันจะลดลงตามมูลค่าใช้เงินสำเร็จที่กำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์
4.การแปลงเป็นการประกันภัยแบบขยายเวลา
จะคล้ายกับข้อ 3 คือ ไม่ต้องจ่ายเบี้ยต่อไป แต่ยังได้รับความคุ้มครองต่อในจำนวนเงินเอาประกันเท่าเดิม แต่ต่างกันตรงที่ข้อ 4 จะสามารถขยายระยะความคุ้มครองต่อไปได้*ตามที่กำหนดไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์ ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้
- กรณีผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาที่ขยาย กรมธรรม์จะสิ้นผลบังคับโดยไม่มีการจ่ายเงินผลประโยชน์ใด ๆ
- แต่หากกรมธรรม์ยังมีเงินเหลืออยู่ บริษัทประกันภัยฯ จะจ่ายเงินครบกำหนดให้ตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ (ถ้ามี)
- กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในช่วงของการขยายระยะเวลาดังกล่าว บริษัทฯ จะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยเท่าเดิมให้ผู้รับประโยชน์
- จำนวนเงินเอาประกันภัยเท่าเดิม หากมีหนี้สินจากกรมธรรม์ส่งผลให้ทุนประกันภัยลดลง
- ระยะเวลาคุ้มครองเป็นไปตามระยะเวลาที่กรมธรรม์ได้มีการแปลงเป็นกรมธรรม์ขยายเวลาตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- หากมีหนี้สินคงค้างจากกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยฯ จะต้องดำเนินการในการหักหนี้สินออกจากเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ ก่อนที่จะนำมาคำนวณเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะของกรมธรรม์เป็นลำดับต่อไป
ประกันชีวิต ยกเลิกได้เงินคืนในบางกรณีเท่านั้น โดยจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันภัยฯ กับผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีหลายวิธีตามข้างต้น คือ ยกเลิกความคุ้มครองไปเลย หรือคุ้มครองต่อแต่ไม่จ่ายเงินประกันต่อ หรือขยายระยะความคุ้มครอง แต่ยกเลิกการจ่ายเบี้ยประกันซึ่งแต่ละวิธีก็ต้องขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้เอาประกันด้วยนั่นเอง