การทำธุรกิจส่วนตัวโดยการเข้าหุ้นกันหลาย ๆ คนเพื่อเป็นการระดมทุน ปัจจุบันรูปแบบที่นิยมกันมากในการจัดตั้งธุรกิจก็คือ บริษัทจำกัด บริษัทจำกัดจะเป็นเสมือนอีกบุคคลหนึ่งที่มีตัวตนตามกฎหมายซึ่งเราเรียกว่า นิติบุคคล แยกต่างหากจากบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจะต้องมีอย่างน้อย 3 คนและต้องนำบริษัทจำกัดเข้าจดทะเบียนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะมีการแบ่งทุนของบริษัทออกเป็นหุ้นเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นจะรับผิดชอบจำกัดแค่ตามจำนวนหุ้นที่เราถืออยู่เท่านั้น
ข้อดีของการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบของบริษัทจำกัด ก็คือ ความรับผิดจำกัดแค่ตามมูลค่าที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถืออยู่เท่านั้น หากทำธุรกิจแล้วเกิดการขาดทุน ก็จะไม่มีการไปบังคับเอาจากทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ถือหุ้นได้ บริษัทจำกัดยังสามารถระดมทุนได้มากกว่าโดยสามารถขายหุ้นของบริษัทได้ และเนื่องจากรูปแบบบริษัทประกอบด้วยผู้ถือหุ้นหลายคน มีเงินทุนมากพอที่จะดำเนินธุรกิจแบบมีประสิทธิภาพ โดยการสามารถจ้างทีมบริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารกิจการให้สามารถสร้างผลกำไรได้
อ่านเพิ่มเติม : 7 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท ด้วยตัวเอง
ธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดถือว่ามีความน่าเชื่อถือมาก เพราะต้องดำเนินการทุกอย่างภายใต้กฎหมายที่ควบคุมอยู่ ในเรื่องของภาษีก็มีข้อดี เนื่องจากผลกำไรของนิติบุคคลจะเสียภาษีในอัตราสูงสุดแค่เพียง 30% เปรียบเทียบกับภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่ขั้นสูงสุดอยู่ที่ 35%
เช่นเดียวกับตอนจัดตั้งบริษัท หากต้องการเลิกบริษัทจำกัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ก็จะต้องจดทะเบียนเลิกบริษัทจำกัด ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่บริษัทนั้นตั้งอยู่ โดยจะต้องปฏิบัติตามวิธีและหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ปกติการเลิกบริษัทมีสาเหตุสำคัญ 3 สาเหตุด้วยกัน คือ
- เลิกโดยผลของกฎหมาย กรณีที่มีข้อบังคับของบริษัทที่กำหนดเหตุที่จะเลิกบริษัท บริษัทได้จัดตั้งขึ้นมาแบบมีระยะเวลา บริษัทจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือบริษัทล้มละลาย เมื่อมีเงื่อนไขตามนั้น โดยผลของกฎหมายบริษัทก็ต้องเลิกไป
- เลิกโดยความประสงค์ของผู้ถือหุ้น ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เลิกบริษัทอาจจะเป็นด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ เช่น บริษัทอาจไม่สามารถทำกำไรและไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจนั้นได้ ผู้ถือหุ้นเลยมีมติที่จะเลิกบริษัท เป็นต้น โดยผลของมติในที่ประชุมที่จะสามารถเลิกบริษัทได้ต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุม
- เลิกโดยคำสั่งศาล ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการจัดตั้งบริษัทของผู้ก่อตั้งหรือคณะกรรมการ จำนวนผู้ถือหุ้นลดลงจนมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้ถือหุ้นขั้นต่ำที่จะสามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดได้ บริษัทรายงานผลขาดทุนต่อเนื่องและโอกาสที่จะฟื้นตัวยาก หรือจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำธุรกิจหรือประกอบการใดใดภายในกำหนดเวลา 1 ปี หรือหยุดทำธุรกิจเป็นเวลา 1 ปี
สำหรับขั้นตอนในการเลิกบริษัทนั้น สามารถอ้างอิงจาก link http://www.dbd.go.th/mainsite/fileadmin/downloads/03_boj/intro_step_bj_dissolve.pdf ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยจะขอนำมาสรุปไว้ดังนี้
ขั้นตอนในการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำกัดนั้น แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ การเลิกและขอจดทะเบียนเลิกบริษัท และการชำระบัญชี
การเลิกและขอจดทะเบียนเลิกบริษัทมีขั้นตอน ดังนี้
- ส่งหนังสือให้ผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าประชุม โดยจะต้องส่งหนังสือก่อนถึงวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือตามที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัท โดยต้องส่งให้ถึงตัวผู้ถือหุ้นเองหรือส่งไปรษณีย์เป็นจดหมายลงทะเบียน และต้องจัดลงพิมพ์เรื่องนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 ครั้ง ด้วย
- จัดการประชุมผู้ถือหุ้น โดยมติในที่ประชุมที่จะเลิกบริษัทจะต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุมและมีสิทธิออกเสียง
- ประกาศการเลิกบริษัทในหนังสือพิมพ์ 1 ครั้ง ภายใน 14 วัน หลังวันที่มีมติในที่ประชุมให้เลิกบริษัท
- ส่งหนังสือเพื่อบอกเจ้าหนี้เรื่องการเลิกบริษัท เป็นไปรษณีย์แบบลงทะเบียน ภายใน 14 วัน หลังวันที่มีมติในที่ประชุมให้เลิกบริษัท
- จัดทำคำขอจดทะเบียนและยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ภายใน 14 วัน หลังวันที่มีมติในที่ประชุมให้เลิกบริษัท
ส่วนขั้นตอนในการชำระบัญชีนั้น ก็จะมีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีของบริษัท กรรมการทุกคนในบริษัทถือเป็นผู้ชำระบัญชี ยกเว้นว่าข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ชำระบัญชีจะต้องเป็นผู้ลงนามในคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทด้วย การเลิกบริษัทในทุกกรณีต้องมีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ยกเว้นกรณีล้มละลายเท่านั้น
เมื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว บริษัทจะยังคงอยู่เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้น ซึ่งกระบวนการในการชำระบัญชีนั้น ก็จะเป็นการรวบรวมทรัพย์สินที่มีอยู่ของบริษัทไปชำระหนี้ หากมีทรัพย์สินเหลือหลังจากชำระหนี้ก็ให้คืนทุนเฉลี่ยเป็นกำไรคืนให้กับผู้ถือหุ้นแต่ละคนตามสัดส่วนไป เสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้วถึงขั้นตอนการจดทะเบียนอีกครั้ง คือ การจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี หากกรณีที่ทรัพย์สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ การดำเนินการฟ้องร้องบริษัทตามกฎหมายก็จะต้องทำภายใน 2 ปี นับจากวันที่เสร็จสิ้นการชำระบัญชี
ในส่วนของค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเลิกบริษัทนั้น ก็มีดังนี้
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเลิกบริษัท 400 บาท
- หนังสือรับรองการเลิกบริษัท 120 บาท ต่อฉบับ
- รับรองสำเนาเอกสาร (ในกรณีถ่ายสำเนา) 50 บาท ต่อหน้า
สำหรับสถานที่ในการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำกัดนั้น หากอยู่ในกรุงเทพมหานครก็สามารถยื่นคำขอได้ที่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าที่ตั้งอยู่ในทั้ง 6 เขต หากอยู่ในต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่บริษัทตั้งอยู่ หรือสำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังอำนวยความสะดวกให้เพิ่มขึ้นโดยการสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ด้วย