รถยนต์…ปัจจัยที่ห้าของมนุษย์ วลีนี้ยังคงความเป็นจริงเสมอสำหรับหลาย ๆ คน เพราะนอกจากความต้องการในการขนส่งตัวเองจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแล้ว การมีรถยนต์สักคันเสมือนเป็นเครื่องบอกสถานะของผู้ขับขี่ คนที่ไม่เคยมีรถยนต์ส่วนตัวมาก่อน ก็มีความต้องการแบบหนึ่ง คนที่เคยขับมาเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ต้องการอีกแบบหนึ่ง สถานะกับความต้องการมักสอดคล้องกันด้วยข้อจำกัดทางการเงินของแต่ละบุคคลอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ความต้องการความเป็นส่วนตัว ความสบาย ความบ่งบอกถึงสถานะที่ดีมั่นคงในสายตาผู้อื่น ความอยากอวดเล็ก ๆ มีอยู่แล้วในพื้นฐานความเป็นมนุษย์ผู้ที่ยังละความสุขทางโลกไม่ได้ สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นปัจจัยให้บรรดานักการตลาด ใช้เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์วางตำแหน่งสินค้ารถยนต์ของตัวเอง ว่ารุ่นไหนวางตำแหน่งทางการตลาดไว้ที่ใด และตำแหน่งนั้น ๆ มีปริมาณฐานลูกค้ามากเท่าไหน และที่สำคัญ ที่ตรงตำแหน่งนั้นมีรถยนต์รุ่นอื่นยี่ห้ออื่นอะไรบ้างเป็นตัวเปรียบเทียบ
นักการตลาดที่เก่งย่อมมองออก และมักชัดเจนในการทำตลาด คนซื้อต่างหากที่ต้องชัดเจนในความต้องการของตัวเอง ไม่หลงติดกับดักนักการตลาดกับแคมเปญยั่วใจ พริ้ตตี้ยั่วตา ให้เผลอเลือกรถยนต์ที่ไม่เหมาะกับทั้งความต้องการและสถานะของตัวเอง ความชัดเจนในความต้องการประกอบกับการศึกษาหาข้อมูลในตัวรถก่อน ช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อรถได้เยอะ
ปี 2559 นี้มีการจัดเก็บขึ้นภาษีรถยนต์ โดยใช้หลักเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นหลัก เดิมทีอุปกรณ์ดักจับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์และคาร์บอนมอนน๊อกไซด์นั้นคือ คะตะไลท์ติก คอนเวอร์เตอร์ (Catalytic Converter) รถเกือบทุกคันถูกบังคับให้ติดตั้งเพื่อดักจับก๊าซและละอองฝุ่นควันดำที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ แต่รถปัจจุบันโดยเฉพาะ Eco-Car เครื่องขนาดเล็กกว่า 1500cc มักละเลยติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เหตุผลหนึ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์แจ้งคือเครื่องยนต์มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งตัวดักจับที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งคอยแต่จะถ่วงให้รถมีน้ำหนักมากเกินความจำเป็น และทำให้รถลดประสิทธิภาพลง เหตุผลนี้น่าคิด
อ่านเพิ่มเติม : ภาษีรถยนต์ใหม่ ปี 2559 กับมาตรฐานใหม่ที่ควรรู้
เพียงแต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้รถเล็กมักถูกดัดแปลงให้ใช้ก๊าซ ซึ่งก่อนให้เกิดมลพิษจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ได้มากกว่าเดิมหลายเท่า พร้อมกับก๊าซอันตรายโดยตรงที่เกิดจากการรั่วไหลของก๊าซโพรเพน ประเด็นนี้อาจมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพยายามสร้างมาตรฐาน CO2 ใหม่ด้วยการกำหนดอัตราภาษีของรัฐเลย ทั้งนี้รัฐก็ไม่เคยจริงจังใช้กฎหมายรุนแรงกับพวกรถซิ่งรถแต่ง ที่เกือบทุกคันจะถูกดัดแปลงโดยเอาตัว Catalytic Converter ออกเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุผลที่ว่าสร้างภาระน้ำหนักเกินความจำเป็น รวมถึงทำให้อัตราการปล่อยไอเสียช้า รถพวกนี้เวลาเหยียบเร่งแต่ละครั้งปล่อยควันดำออกมามหาศาลแทบจะเทียบไม่ได้กับรถยนต์ปกติเลยทีเดียว
การจัดเก็บภาษีใหม่นี้มีผลกระทบกับรถยนต์บางยี่ห้อที่มีอัตราการปล่อย CO2 เกินมาตรฐานใหม่อยู่พอสมควร เพราะภาษีขึ้นหลักหมื่นถึงหลาย ๆ หมื่นบาท (สูงสุดที่เห็น 88,000 บาท) ซึ่งมีผลให้ราคาของรถโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก แต่จากการสำรวจทางการตลาดแล้ว ความต้องการรถยนต์ในเมืองไทยไม่ได้ลดลง ดังนั้นจึงคาดว่าตลาดรถยังคงเติบโตต่อไปเช่นเดิม แต่ในอัตราที่ถดถอย และในช่วงรอประกาศความชัดเจนของกำหนดอัตราภาษีใหม่ เป็นช่วงกอบโกยยอดจองของบรรดาค่ายรถยนต์หลาย ๆ ค่าย ทั้งนี้ยังไม่มีตัวเลขยืนยัน แต่ผลการสำรวจมีแนวโน้มตามนี้
ถึงแม้ว่าปลายปี 58 ที่ผ่านมา จะมีอัตราการเติบโตที่มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีสำนักข้อมูลใดแจ้งรายละเอียดว่าเติบโตขึ้นด้วยปัจจัยใดเป็นหลัก หรือจะเกิดจากข่าวการปรับอัตราภาษีใหม่ปี 59 จึงทำให้คนตัดสินใจซื้อรถทันทีเลยหรือไม่ แต่ปี 59 เองก็มีปัจจัยบวกสำคัญ ๆ เช่นการเปิด AEC การอนุมัติเมกะโปรเจคท์ของรัฐ ซึ่งสองปัจจัยนี้หนุนให้ตลาดทุกภาคส่วนให้ชิฟท์ระดับขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย ลำพังเพียงการเปิด AEC เอง ตลาดรถบรรทุกก็โตขึ้นกว่า 15% แล้ว
ประเทศไทยถูกเรียกกันเล่น ๆ กว่าเป็นดีทร้อยท์ของเอเชีย ซึ่งก็เป็นจริงเพราะเมืองไทยเปิดรับผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อ เพียงแต่ถูกบังคับให้ใช้ผลิตภัณฑ์หรืออะไหล่ที่ประกอบขึ้นภายในประเทศตามสัดส่วนที่กำหนด ก็สามารถทำการผลิตได้ ไม่เหมือนหลาย ๆ ประเทศในเอเชียที่มีข้อจำกัดมากมาย เช่น มาเลเซีย ที่นำเข้าได้ยาก เพราะรัฐมีนโยบาย Nationalism คือเน้นใช้รถยนต์แบรนด์ของตัวเอง แม้จะได้เปรียบเรื่องการขนส่งก็เข้าได้ยากอยู่ดี หรืออินโดนีเซียที่มีปัญหาที่โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ไม่มีมาตรฐานตามกำหนด กำลังการผลิตจึงลดลงเรื่อย ๆ เมืองไทยไม่มีรถยนต์ยี่ห้อของตัวเอง ฟังดูแล้วอาจเศร้านิด ๆ แต่ก็อาจส่งผลดีกว่าที่ว่าเมืองไทยเราเปิดกว้างให้บริษัทรถแข่งขันกันเองอย่างเต็มที่ รถยนต์ที่ผลิตจากเมืองไทยจึงเป็นที่ยอมรับมาตรฐานในระดับโลกได้อย่างไม่ยากเย็น
ถึงแม้ปี 59 ตลาดรถยนต์ใหม่จะยังคงมีความเติบโต ด้วยปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจจาก AEC และเมกะโปรเจคท์ ตลาดรถยนต์เก่าก็ขยับขยายเตรียมตัวกับการชิฟท์ย้ายกลุ่มลูกค้าจากเหตุผลเรื่องอัตราภาษี จึงทำให้ภาพรวมของตลาดรถทั้งมือหนึ่งมือสองถือว่าสดใสขึ้นกว่าปี 58 มาก ในเมื่อความจริงคือความต้องการรถยนต์ของคนไทยไม่ได้ลดลงเลย เพียงแต่ลักษณะและพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปตลอด แบรนด์ไหนที่ราคามีผลกระทบด้านราคาซึ่งเฉลี่ยอยู่ระดับ 3-5% ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ตรึงราคาไว้ได้ การปรับปรุงอัตรา CO2 ให้อยู่ในเกณฑ์นั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด บริษัทผู้ผลิตสามารถทำได้เลย เพียงแต่รอจังหวะความเหมาะสมในการปล่อยข้อมูลสู่ตลาด ซึ่งถือเป็นเรื่องเทคนิคทางการตลาดล้วน ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นยอดขายรถโดยรวมของตัวเองให้ได้มากที่สุดนั่นเอง