ขิงยิ่งแก่ ก็ยิ่งเผ็ด
ใครที่คิดว่า คนวัย 60 ที่เป็นวัยเกษียณจะไร้คุณค่า และความหมาย หากคุณยังมีความคิดเฉกเช่นนี้อยู่ ขอให้ปรับทัศนคติเสียใหม่ เพราะความเป็นขิงแก่ที่หลายคนมองข้าม กลับมีองค์กรหลายแห่งเห็นศักยภาพจากประสบการณ์ที่โชกโชน ตกผลึก อันจะนำมาเป็นประโยชน์สู่องค์กรของเขาไม่แพ้คนหนุ่มสาววัยทำงาน หรือบางทีอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำไป
เครือเซ็นทาราเปิดรับแรงงานวัยเกษียณ
อย่างเช่นโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราที่ประกาศกร้าวตอบรับนโยบายรัฐอย่างเต็มตัว สนับสนุนมติกระทรวงการคลังในการจัดตั้งโครงการใหม่ออกมาตรการลดหย่อนภาษีแก่บริษัทผู้ว่าจ้างแรงงานสูงวัย ซึ่งทางโรงแรมได้ออกแบบนโยบายด้านทรัพยากรบุคคล ให้ความสำคัญกับพนักงานที่ร่วมงานกับบริษัทมาเป็นระยะเวลานานจนถึงปัจจุบัน โดยเปิดรับแรงงานวัยเกษียณกลับสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นขององค์กรอีกครั้ง ด้วยเห็นคุณค่าของคนวัยนี้ที่มากประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ และความชำนาญในสายงานที่รับผิดชอบ ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยาก และเป็นทรัพยากรทรงคุณค่าที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรมีความเหนือชั้นในด้านบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรได้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
ทางโรงแรมและรีสอร์ทจึงมีนโยบายจะรับพนักงานเก่าที่มีแนวโน้มจะกลับมาทำงานใหม่ ไม่ใช่แต่เฉพาะแรงงานวัยเกษียณเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพนักงานอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พนักงานหญิงที่กลับมาทำงานหลังจากเลี้ยงดูบุตร และพนักงานที่ลาออกไปดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแบบเต็มเวลาอีกด้วย รวมถึงพนักงานในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน หรือทำงานในสายงานเดียวกันมาเป็นเวลานาน โดยจะกำหนดนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น มีการแชร์งานกัน และสับเปลี่ยนโยกย้ายกำลังคนมาทดแทนกันได้ แน่นอนว่า นโยบายนี้จะทำให้ผู้สูงอายุได้ชื่นใจ เพราะเชื่อว่าหลายคนยังมีแรงกำลัง และศักยภาพในการทำงานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ทั้งยังมีวุฒิภาวะในการแก้ปัญหา ขยัน อดทน สู้งาน และความรับผิดชอบที่ดีอีกด้วย
World Bank ห่วงปัญหาสังคมผู้สูงวัย
สำหรับเรื่องประชากรวัยเกษียณในประเทศไทยนั้น ล่าสุดได้มีรายงานจากธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งในปี 2559 นี้ ประชากรไทยราว 7.5 ล้านคน หรือประมาณ 11% ของประชากรทั้งหมด จะมีอายุเกินกว่า 65 ปี ซึ่งทำให้ประชากรวัยทำงานในประเทศลดฮวบลงจาก 49 ล้านคน เหลือเพียง 40.5 ล้านคนโดยประมาณ และคาดว่าในปี 2583 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุมากถึง 17 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว ในขณะที่แนวโน้มอัตราการเกิดกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำรวจในปี 2558 พบว่า มีอัตราเด็กเกิดใหม่เพียง 1.5 คนต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์เท่านั้น
เวิร์ลแบงก์ยังให้ความเป็นห่วงในแง่เศรษฐกิจของประเทศเพิ่มเติมว่า ประเทศใดก็ตามที่กำลังเข้าสู่สังคมคนชรามักจะประสบปัญหาประชากรมีการออมและการลงทุนน้อยลง เพราะแหล่งที่มาของรายได้ หรือทรัพย์สินของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 31.7% มาจากเงินออม ซึ่งเงินออมเหล่านี้มักจะไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอีกด้วย จึงทำให้รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับสวัดิการและเงินสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลอื่นๆ แต่ในทางกลับกันรายได้จากการเก็บภาษีลดลง เนื่องจากวัยแรงงานที่น้อยลงตามอัตราการเกิดนั่นเอง
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ปรับนโยบายในเรื่องสวัสดิการ สาธารณสุข และการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว เพิ่มบทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงาน รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและทักษะให้กับแรงงานเพิ่มเติมด้วย
แมนพาวเวอร์กรุ๊ปแนะไทยยืดอายุวัยเกษียณ
ในเรื่องนี้ มาร่า สวอน รองกรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ บริษัทแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประจำสำนักงานใหญ่ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยเกษียณตอนอายุ 60 ปีนั้น ถือว่าเป็นการเกษียณในช่วงที่อายุน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยยุโรปจะเกษียณอายุตอน 65 ปี ในขณะที่บางประเทศ เช่น สวีเดน จะเกษียณตอนอายุ 67 ปี เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลในประเทศเหล่านั้นต้องการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้สูงอายุช้าลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตให้แก่คนวัยนี้ให้มากขึ้น และประเทศก็ไม่ขาดแคลนทรัพยากรในวัยทำงานอีกด้วย
สำหรับลูกค้าองค์กรหลายแห่งก็เตรียมมีนโยบายในการสนับสนุนคนวัยเกษียณเข้ามาทำงาน โดยเข้ามาเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของบริษัท เพราะต้องการนำขุมทรัพย์ความรู้จากคนวัยเกษียณมาวางแผนเรียนรู้แล้วโอนถ่ายไปสู่คนอีกรุ่นเพื่อรับช่วงต่องานให้มีประสิทธิภาพ
คนวัย 60 ใช่ว่าจะไร้คุณค่า ไร้ความหมาย ไร้แรงกำลังจะทำงาน เพราะขิงแก่สมัยใหม่หลายท่านยังคงกระชุ่มกระชวย และกระตือรือร้นในการทำงานอยู่เสมอ ที่สำคัญเขาเหล่านั้น มีคลังประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านอุปสรรค และหนามแหลมมามากกว่า พร้อมขัดเกลาให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่า ความโชกโชนที่ผ่านมาสามารถสร้างประโยชน์ให้องค์กรได้อีกมากมายจนคุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
ที่มา