วันนี้เราก็มีเรื่องเด่น ประเด็นร้อนมาฝากท่านผู้อ่านอีกเช่นเคยค่ะกับข่าวที่ถือว่า เป็นข่าวดีอีกอย่างหนึ่ง ไม่กี่วันมานี้ได้มีข่าวออกมาว่า ญี่ปุ่นต้องการที่จะหนุนให้ไทยเป็น ศูนย์กลางของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง โดยท่านอธิบดีกรมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น (METI) นาย Tatsuya Terazawa ได้เข้าพบเจรจาหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าว ทั้งนี้การเจรจาได้ข้อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งฝ่ายไทยเองก็ยอมรับข้อเสนอที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้
หากเราจะพูดถึงการพัฒนาแล้ว ประเทศไทยของเรายังคงต้องได้รับการพัฒนาในหลายๆด้าน เหมือนกัน นอกเหนือจากในเรื่องของเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมแล้ว สิ่งที่เป็นกำลังสำคัญที่ควรพัฒนามากที่สุด ก็คือ “คน” หรือที่เรียกว่า ทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง เพราะอะไร ? ก็เพราะว่า ทรัพยากรมนุษย์นี่ล่ะ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญด้านอื่นๆให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง ถ้าหากบุคคลในวัยแรงงานได้รับการศึกษา มีความรู้ความสามารถ มีทักษะอาชีพต่างๆแล้ว ย่อมทำให้เกิดการมีงานทำ ประชาชนไม่ว่างงาน รวมไปถึงยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับบุคคลเองอีกด้วย
การที่จะให้ไทยเป็น ศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงนั้น ถือว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก เพราะไทยเองก็ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของการคมนาคม การเดินทางสะดวกและมีสถานที่มีความพร้อมที่จะสามารถเปิดเป็นศูนย์ศึกษาหรือฝึกอบรมความรู้ต่างๆได้ดี โดยทางด้านนาย Tatsuya Terazawa อธิบดีกรมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น ได้จัดงบสนับสนุนในโครงการนี้ จำนวน จำนวน 2,500 ล้านเยน หรือ 21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นงบประมาณในการพัฒนาแรงงานในทุกระดับจากประเทศลาว กัมพูชา และพม่า เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและทักษะทางด้านการประกอบอาชีพแรงงานในด้านต่างๆ โดยโครงการนี้จะส่งผลที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อไทยและญี่ปุ่น เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ซึ่งญี่ปุ่นเอง นอกจากจะสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณแล้ว ยังจัดให้มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้อบรมทักษะและร่วมมือกับไทยอีกด้วย
ในด้านของประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นฮับ หรือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแรงงานในครั้งนี้ คือ การพัฒนาแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนหน้านี้ไทยเองก็ได้มีนโยบาย/โครงการ ที่ต้องการจะพื้นที่ชายแดนในบางจังหวัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ อันได้แก่
- อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ชายแดนไทย-พม่า : เส้นทางเปิดประตูเชื่อมโยงสู่ย่างกุ้ง พัฒนาในด้านอุตสาหกรรม
- มุกดาหาร ชายแดนไทย-ลาว : เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีอาณาเขตติดต่อกับแม่น้ำโขง และอีกฝากฝั่งเป็นประเทศลาว ส่งเสริมการค้าขาย,ขนส่ง และการเก็บคลังสินค้าต่างๆ
- อำเภออรัญประเทศ ชายแดนไทย-กัมพูชา : ส่งเสริมการค้าแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและกัมพูชา มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง กระตุ้นการค้าส่งและค้าปลีก
- ตราด ชายแดนไทย-กัมพูชา : ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า รวมไปถึงการค้าระหว่างประเทศ
- ปาดังเบซาร์และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไทย-มาเลเซีย : ส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา อาหารทะเล การค้าระหว่างไทย-มาเลเซีย
ซึ่งพื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้น เรียกได้ว่าเป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึง เงินทุนในการพัฒนาคุณภาพของแรงงาน ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมแต่เพียงเท่านั้น ในด้านของการบริการต่างๆ ก็ต้องครบครัน เพื่อเป็นประโยชน์นำพาความเจริญสู่ประเทศต่อไป
แล้วถามว่าญี่ปุ่นจะได้อะไรจากการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในครั้งนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจอีกตามเคย เงินลงทุนที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้ มีหรือที่จะให้มาฟรีๆเฉยๆ ทางญี่ปุ่นเอง แน่นอนว่าได้ประเมินถึงความเป็นไปได้และผลประโยชน์ที่จะได้รับเอาไว้แล้ว อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า มีบริษัทญี่ปุ่นและนักลงทุนจากญี่ปุ่นหลายบริษัทเหมือนกันที่เข้ามาลงทุนในไทย เพราะ หนึ่งล่ะ ต้นทุนในการผลิตต่ำ ทั้งเรื่องของวัตถุดิบและแรงงาน ทั้งไทยยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการกระจายสินค้าในอาเซียน ยิ่งถ้าไทยจะมีการพัฒนาระบบขนส่ง อย่าง รถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยแล้ว นับว่าเป็นโอกาสที่เหมาะมากในการส่งเสริมพัฒนาแรงงานเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในไทย ญี่ปุ่นเองก็ได้กำไรจากการที่เข้ามาลงทุนที่ไทยเช่นกัน เนื่องด้วยเหตุผลข้างต้นคือ ต้นทุนต่ำและสามารถกระจายสินค้า ขยายตลาดได้กว้างขึ้นนั่นเอง
นอกจากจะมองในแง่ของผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแล้ว ยังมีประเด็นของการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่มีมาตลอดระยะเวลายาวนานกว่านับร้อยปี ทั้งในด้านของการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม พึ่งพาอาศัย น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ากันมาตลอด โดยญี่ปุ่นเองก็เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญประเทศญี่ปุ่นได้เชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม การเชื่อมสัมพันธ์และมีการค้าร่วมกัน ทำให้ไทยได้เรียนรู้สามารถนำเอาความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจมากขึ้นได้ รวมไปถึงโอกาสในการขยายตลาดกับญี่ปุ่นในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย .
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.thansettakij.com/2016/03/28/40823