สมัยนี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุลใหม่กันมากมายจนเป็นเรื่องธรรมดาบางคนเปลี่ยนมาแล้วมากกว่าสองสามชื่อ นามสกุลอีกก็หลายครั้ง อาจจะเป็นเพราะไม่ชอบชื่อเดิมจึงอยากเปลี่ยนใหม่ให้ไพเราะมากขึ้น หรือให้ได้ชื่อที่เจ้าตัวคิดว่าเหมาะสมหรือเข้ากับตัวเองมากกว่า บ้างก็เปลี่ยนเพราะมีคนทัก อาจจะเป็นหมอดูหรือคนรอบข้างที่ทักว่าชื่อเป็นกาลกินี หรือชื่อและนามสกุลเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ชีวิตยากลำบากต้องพบเจอเรื่องที่ไม่ดี ต่างจากสมัยก่อนที่คนโดยทั่วไปไม่นิยมจะเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุล แม้ว่าบางชื่อหรือบางนามสกุลก็ฟังดูแปลกหรือน่าตลก น่าตกใจก็ตาม
การเปลี่ยนชื่อและนามสกุล ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร ใครที่กำลังคิดจะเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล หรือเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุล วันนี้เราจึงมีวิธีการและขั้นตอนในการทำเรื่องเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนนามสกุลมาฝากกัน
ก่อนอื่นเรามาดูจาก พ.ร.บ การเปลี่ยนชื่อของคนไทยกันก่อน
พ.ร.บ.นี้ มีบัญญัติขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505 ใจความของ พ.ร.บ.นี้ กล่าวไว้ว่าสำหรับคนไทยซึ่งมีสัญชาติไทย สามารถมีชื่อตัว นามสกุล และจะมีชื่อรองด้วยก็ได้ ชื่อตัวในที่นี้ ก็คือ ชื่อประจำของตัวบุคคล ชื่อรอง ก็คือ ชื่อประกอบของคน ๆ นั้น ที่ต่อจากชื่อจริง ส่วนชื่อสกุล ก็คือ ชื่อวงศ์ตระกูลนั่นเอง
มีข้อห้ามอยู่บ้างในการเปลี่ยนชื่อ ก็คือ สำหรับชื่อตัวหรือชื่อรองต้องไม่ไปพ้องหรือคล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามพระราชินีและราชทินนาม ของพระองค์ทั้งสอง ห้ามตั้งชื่อที่เป็นคำหยาบคาย หรือว่ามีความหมายในทางหยาบคาย และไม่ส่อเจตนาไปในด้านที่ทุจริต ถ้าใครที่เคยได้รับหรือว่าได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ก็สามารถใช้มาเป็นชื่อตัวหรือใช้เป็นชื่ออรองก็ได้
มาถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการเปลี่ยนชื่อกันบ้าง
เริ่มจากเอกสารที่จะต้องเตรียมไปยังเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามทะเบียนบ้าน เอกสารที่ใช้มีเพียงสองอย่างเท่านั้น ก็คือ บัตรประชาชนใบปัจจุบันที่ยังไม่หมดอายุ หากบัตรประจำตัวประชาชนของใครหมดอายุแล้วและยังไม่ได้ต่อก็ต้องแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ทราบก่อน ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนอะไร และเอกสารอีกชิ้น ก็คือ ทะเบียนบ้านที่มีชื่อของผู้ขอยื่นเปลี่ยนอยู่ในนั้นด้วยเท่านั้น ถ้าเป็นคนต่างด้าวก็ใช้ใบรับรอคนต่างด้าว
เมื่อไปถึงที่เขตหรือที่ว่าการอำเภอก็ให้ไปขอบัตรคิวและรอ ระหว่างนั้นอาจจะนั่งกรอกเอกสารที่ไปติดต่อขอรับมาก่อน คือ แบบ ช. 1 และยื่นให้กับทางนายทะเบียนของอำเภอหรือเขตนั้น นายทะเบียนก็จะทำหน้าที่รับคำร้องตามเอกสารที่เรายื่นไปและก็ตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ. ที่ได้กล่าวไปในขั้นต้น ถ้าทุกอย่างผ่านไม่มีปัญหานายทะเบียนก็จะออกหนังสือสำคัญให้ หากเรามีสัญชาติไทยเป็นหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรองของเรา เรียกว่า แบบ ช.3 แต่ถ้าใครที่เป็นคนต่างด้าว นายทะเบียนก็จะออกรับรองการเลี่ยนชื่อของคนต่างด้าวให้ และใบนี้ยังสามารถใช้เป็นการแสดงประกอบหลักฐานเพื่อแปลงชาติหรือเมื่อได้สัญชาติไทย นายทะเบียนก็จะออกใบรับรองการเปลี่ยนชื่อไทยใบใหม่ให้ด้วย ตรงนี้ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 50 บาท
หลังจากที่ได้ใบรับรับรองการเปลี่ยนชื่อแล้วก็ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการเปลี่ยนชื่อ เพราะเราจะต้องนำใบนี้ไปทำการเปลี่ยนชื่อที่ทะเบียนบ้านกับเจ้าหน้าที่ก่อน และไปทำบัตรประชาชนใบใหม่ในชื่อใหม่ด้วย ในขั้นตอนนี้ขอเตือนว่า วันที่จะไปทำเรื่องปเลี่ยนชื่อนั้นอย่าลืมแต่งตัวดี ๆ ไปด้วยเพื่อถ่ายรูปทำบัตรประชาชนใหม่
ส่วนการเปลี่ยนนามสกุลนั้นก็มีหลักเกณฑ์ที่คล้าย ๆ กัน คือ ไม่ไปพ้องหรือคล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามพระราชินีและราชทินนามของพระองค์ทั้งสอง และไม่ไปพ้องกับราชทินนาม นอกจากจะเป็นราชทินนามที่ทรงประทานให้ตัวคนยื่นคำร้องขอเปลี่ยนเองหรือของบุพการีหรือของผู้สืบสันดาน ที่สำคัญต้องไม่ซ้ำกับนามสกุลอื่น ๆ ที่มีคนใช้แล้ว ในส่วนนี้สามารถค้นหาจากอินเทอร์เน็ตได้ว่าซ้ำหรือไม่ ไม่ใช่คำหยาบคายหรือเป็นคำที่มีความหมายไปในทางหยาบคาย
การเปลี่ยนนามสกุลที่กำหนดอีกอย่าง ก็คือ ต้องมีความยาวไม่เกิน 10 พยางค์ ห้ามใช้คำนำหน้านามสกุลโดยใช้ตัว ณ ถ้าไม่ใช่ได้รับพระราชทานมา ห้ามไม่ให้ใช้ชื่อพระมหานครและพระปรมาภิไธยมาเป็นนามสกุล ส่วนเอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนนามสกุลนั้นก็ใช้เหมือนกับการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อทุกอย่าง ขั้นตอนต่าง ๆ ที่เหลือนั้นก็เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนชื่อนั่นเอง ส่วนค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนนามสกุลนั้น คือ 100 บาท
อย่าลืมว่าหากเราไปเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลในหลักฐานต่าง ๆ ของทางราชการแล้ว อย่าลืมหาเวลาไปเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลในใบสำคัญต่าง ๆ ด้วย เช่น ใบขับขี่ สมุดบัญชีธนาคาร บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตและอีกสารพัดบัตร จะได้ไม่ต้องพกใบเปลี่ยนชื่อไปไหนมาไหนเพื่อประกอบหลักฐานให้ยุ่งยากอยู่ตลอดเวลา
หากการเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนนามสกุล ทำให้ผู้เป็นเจ้าของชื่อและนามสกุลมีความสุข และมั่นใจสบายใจมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดีและสามารถทำได้ แต่ที่สำคัญอย่าหลงลืมว่าการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลไม่ใช่ทั้งหมดที่จะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยน แต่ชีวิตคนเราจะเปลี่ยนได้อยู่ที่การเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิดและการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง