ตามกระทู้นี้เลยค่ะ http://pantip.com/topic/32483024 เจ้าของกระทู้ที่ใช้ล็อคอินว่า Sherlockoam ได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์ที่ลูกวัย 1 ขวบ 9 เดือน แอดมิดนอนโรงพยาบาลเพราะไข้สูงเป็นเวลา 11 วัน ผลการตรวจจากโรงพยาบาลปรากฏว่าติดเชื้อไวรัส RSV เมื่อคิดรวมยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 196,714 บาท ดูไม่ผิดค่ะ เกือบสองแสนบาท หลายคนเริ่มอยากรู้ว่าโรงพยาบาลไหน ทำไมค่าใช้จ่ายถึงได้แพงขนาดนี้ ลูกคุณ Sherlockoam แอดมิดที่โรงพยาบาลกรุงเทพที่อยู่ซอยศูนย์วิจัย ที่ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลรวมถึงเรื่องการให้บริการกับลูกค้าระดับบน
แต่ก็ต้องบอกว่าคุณ Sherlockoam โชคดีมากที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบสองแสนบาทนี้เอง เพราะมีทำประกันสุขภาพไว้ให้ลูกถึง 2 ฉบับด้วยกัน ได้มีการนำเอกสารมาแสดงไว้ในกระทู้ด้วย กรมธรรม์ฉบับแรกที่ทำไว้กับ AXA เคลมได้ 164,679.50 บาท ส่วนเกินอีก 32,034.50 บาท จึงใช้กรมธรรม์ฉบับที่ 2 ที่ทำไว้กับ AIA เคลมได้เกือบหมด เหลือยอด 89 บาทที่ต้องจ่ายเอง ตัวคุณ Sherlockoam เองก็คิดว่าตัวเองโชคดีมากที่ทำประกันสุขภาพไว้ให้ลูก เพราะถ้าไม่ได้ทำไว้แล้วต้องเจอกับค่าใช้จ่ายแบบนี้ก็ไปไม่ถูกเหมือนกัน
อ่านเพิ่มเติม : ประกันเด็กควรทำหรือไม่? เหตุใดจ่ายเบี้ยแพงแต่จำเป็นต้องทำ
คุณ Sherlockoam ได้ทิ้งข้อคิดไว้ที่ช่วงท้ายของการตั้งกระทู้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่เราต้องแอบเก็บกลับไปคิดจริง ๆ ค่ะ ว่าการทำประกันสุขภาพเอาไว้ แม้ไม่ได้ใช้ก็ยังดีกว่า ไม่ได้ทำไว้ แล้วถึงเวลาเจ็บป่วยต้องจ่ายเอง เพราะมันตูมมาแบบไม่ได้วางแผน ไม่ได้คาดการณ์ไว้อาจมีช็อคได้ หลายคนคิดว่าไม่ทำประกันเก็บออมเงินไว้ ถึงเวลาเป็นอะไรก็เอาเงินเก็บมาจ่ายเอง สบายใจกว่า ก็ขอให้อย่าลืมคิดเรื่องเหล่านี้ด้วย
- ถ้าเกิดเจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายไม่ใช่แค่ 2 แสนบาท แต่เป็นล้านจะไหวหรือไม่ ถ้าต้องจ่ายเอง
- การทำประกันสุขภาพไว้เป็นการวางแผนการเงินที่เราสามารถรู้ล่วงหน้า ว่าเราต้องจ่ายเงินจำนวนเท่าไหร่และจ่ายเมื่อไหร่เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่าง ๆ ขึ้น ตรงข้ามกับถ้าไม่ทำประกันแล้วเกิดเจ็บป่วย จำนวนเงินและเวลาที่เราต้องจ่าย เราวางแผนไม่ได้เลย
- หลายคนบอกว่าถึงแม้ทำประกันสุขภาพไว้ ก็ไม่ได้คุ้มครอง 100% การจ่ายเงินแค่ไม่กี่หมื่น ก็ดีกว่าต้องจ่ายเป็นแสนเป็นล้านอย่างแน่นอน
- ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ก็คือ ถ้าเราไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้ สุดท้ายเงินก้อนนั้นเราก็อาจไม่ได้เก็บ แต่เอาไปใช้จ่ายอะไรที่ทำให้เงินหมดไปก็ได้ ถ้าเราไม่ได้วางแผนเรื่องเงินให้ดี
ส่วนใหญ่ของคนที่เข้ามาคอมเม้นท์ก็มีประสบการณ์เหมือนกันกับคุณ Sherlockoam เจ้าของกระทู้เช่นกัน ที่เมื่อเจ็บป่วยต้องแอดมิดเพื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลต้องพบกับค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว บางคนก็มีทำประกันสุขภาพไว้ เคลมได้ทั้งหมดบ้าง จ่ายเองบางส่วนบ้าง บางคนก็ไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้ ต้องจ่ายเองทั้งหมดเลยก็มีและก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่หลังจากต้องจ่ายเงินไปเอง ก็รีบติดต่อตัวแทนเพื่อซื้อประกันสุขภาพทันที
ประกันสุขภาพ คุ้มหรือไม่คุ้ม
ถ้าเป็นคนที่เจ็บป่วยและได้เคลมประกันสุขภาพก็มักจะบอกว่าคุ้ม ในขณะที่มีหลายคนเหมือนกันที่ซื้อประกันสุขภาพมาตั้งหลายปี แต่ก็ไม่เคยเป็นอะไร ไม่เคยเคลมเลย ก็เลยรู้สึกว่าไม่คุ้ม ไม่เคยได้ใช้สิทธิ์ เหมือนเสียเงินไปเปล่า ๆ ถ้าเลิกซื้อประกันสุขภาพไปแล้วยังไม่เจ็บไม่ป่วยแข็งแรงดีเช่นเดิม ก็น่าจะดี แต่ถ้าเลิกซื้อประกันไปแล้วเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาพอดี ก็กลายเป็นว่าที่เสียไปไม่ได้ใช้ แต่พอถึงเวลาจะใช้ก็ต้องมาเสียเงินเองอยู่ดี
เกือบทุกคนที่ทำประกันสุขภาพให้ความเห็นไว้ว่า เมื่อถึงเวลาที่เราเคลมประกัน เงินที่เคลมได้มักจะมากพอที่ทำให้เรารู้สึกว่าคุ้มกับที่ทำประกันมาตั้งหลายปี เช่น บางคนจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพปีละหมื่นกว่าบาท จ่ายมา 3-4 ปีไม่เคยป่วย พอมาป่วยครั้งหนึ่งค่าใช้จ่ายปาเข้าไป 6-7 หมื่นบาท เหมือนกับว่าได้ใช้เงินที่จ่ายค่าประกันย้อนหลังไปหลายปีเลย
ส่วนคนที่ทำประกันสุขภาพมาตั้งหลายปีแต่ก็ไม่ได้เคลมเสียที ถ้าจะคิดเรื่องคุ้มไม่คุ้มก็ต้องบอกว่าไม่คุ้มนั่นแหละ เพียงแต่ว่าเงินที่เราเสียไปถือว่าเป็นการซื้อความความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บของเราไว้ ซึ่งมันเป็นความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับใคร เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครคาดการณ์ได้
มีคนเข้ามาให้ความเห็นว่าทำประกันสุขภาพให้พ่อมาตั้งนานหลายปี ไม่เคยป่วยเลย พ่อเลยบอกให้ยกเลิกไปเพราะแพง เลยทำแต่ประกันชีวิตอย่างเดียว ผ่านไปแค่ปีเดียว ปรากฏพ่อเป็นไข้หวัด H5N1 เจอค่าใช้จ่ายไปแสนกว่าบาท แล้วเจอไวรัสตับอักเสบบีต่อเนื่องอีก เสียดายมากที่ยกเลิกซื้อประกันสุขภาพไป
บัตรทองกับโรงพยาบาลรัฐ อีกทางเลือก
บางคนเข้ามาคอมเม้นท์ไว้ว่าโรงพยาบาลรัฐก็เป็นอีกทางเลือก ยิ่งหากเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ตอนแรกเราอาจเลือกไปโรงพยาบาลเอกชนก่อน หลังจากแอดมิด 2-3 วัน ก็ขอย้ายไปโรงพยาบาลรัฐบาลเพื่อรักษาตัวต่อ ถ้าพูดเรื่องของการรักษาพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลรัฐบาลดี ๆ ก็มีมาตรฐานการรักษาไม่ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนที่ต่างกันก็น่าจะเป็นแค่เรื่องของการให้บริการเท่านั้นที่อาจไม่ดีเท่า ซึ่งอันนี้เราก็ต้องเข้าใจเพราะคนไข้มีจำนวนมากกว่าเจ้าหน้าที่หลายเท่า
สรุปก็คือว่าการทำประกันสุขภาพควรเป็นหนึ่งในการวางแผนการเงินที่เราควรจะต้องคำนึงถึงไว้ด้วย ถ้าเรามีความสามารถที่จะจ่ายเงินประกันได้ก็ควรทำ เพราะถือเป็นการซื้อความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ และถ้าเราต้องการได้รับการรักษาพยาบาลและการบริการจากโรงพยาบาลแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราก็ควรยิ่งต้องซื้อประกันสุขภาพไว้ เพื่อที่จะสามารถเลือกรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้
ส่วนจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันที่ซื้อก็ให้ดูตามความเหมาะสมกับรายได้และฐานะของเรา ถ้าจะซื้อประกันให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วค่าเบี้ยแพงมากจ่ายไม่ไหว อย่างคุณ Sherlockoam ที่จ่ายเบี้ยประกันปีละหกหมื่นกว่าบาท (เป็นส่วนของเบี้ยประกันสุขภาพประมาณเกือบสามหมื่น) ก็ให้เลือกค่าเบี้ยที่รอง ๆ ลงมา เมื่อเจ็บป่วยเงินที่เคลมได้แม้ไม่ 100% ก็ช่วยบรรเทาภาระลงไปได้มากเช่นกัน ส่วนคนที่ไม่สามารถเจียดเงินมาซื้อประกันสุขภาพได้ อย่างน้อยก็ให้คิดว่าเรายังมีโรงพยาบาลรัฐบาลที่เรามีสิทธิ์รักษาฟรีจากบัตรทองที่เราเลือกไปใช้บริการได้เช่นกัน