ข่าวเด็ด ข่าวร้อน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 58 จนถึงเปิดศักราชใหม่ คงไม่มีข่าวไหนน่าหวั่นเท่ากับการทรุดตัวทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน ที่พลอยทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มระส่ำระสายเพราะแรงดึงจนทำให้ดิ่งดำไปตามๆ กัน
ถึงแม้นายหลี่ ปูหมิน โฆษกสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) ได้แถลงที่กรุงปักกิ่งแล้วว่า ในปี 2558 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตที่ประมาณร้อยละ 7 และประชาชนมีงานทำใหม่ 13 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศ แต่อย่างไรเสีย การเติบโตที่ร้อยละ 7 ก็ยังนับว่าเชื่องช้าที่สุดในรอบ 25 ปี แถมลดลงจากร้อยละ 7.3 ในปี 2557 อีกด้วย สืบเนื่องจากปัจจัยอุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภาคอุตสาหกรรมมีสินค้าส่วนเกินมากเกินไป และการลงทุนที่สะดุดนั่นเอง
และเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2559 ไม่นาน จีนก็ทำเรื่องเซอร์ไพรส์ให้ตลาดเงิน ด้วยการลดค่าเงินหยวนลงถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ห่างกันเพียง 2 วัน ล่าสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์จะอยู่ที่ 6.5646 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี เรียกได้ว่า เป็นการเขย่าเศรษฐกิจโลกให้สะเทือนจนส่อแววจะกระท่อนกระแท่นตามไปด้วย
เมื่ออยู่ในขาลง จีนก็เริ่มมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจของตนเดินต่อไปได้ ซึ่งหนึ่งในมาตรการดังกล่าวก็คือ ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และผลกระทบนี้ก็ย่อมส่งต่อมาที่ประเทศไทยที่มีจีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญ โดยสินค้าที่เราส่งออกไปจีนส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ เช่น เม็ดพลาสติก ยางพารา เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตอนนี้ชาวสวนยางพาราของไทยเราจะได้รับผลกระทบ และออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำดั่งที่เห็นกันอยู่
นักวิเคราะห์ นักวิชาการไทยจึงต่างออกมาแนะให้นักธุรกิจไม่ยึดติดผูกขาดแต่การค้ากับจีนเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองคู่ค้าจากประเทศอื่นบ้าง อย่างเช่น ประเทศอินเดีย เพราะมีขนาดตลาดใหญ่สูสีกับจีน และมีแนวโน้มจีดีพีที่ขยายตัวถึง 10% ต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยของสถาบันการพัฒนานานาชาติ (CID) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังได้ตอกย้ำข้อสนับสนุนนี้ โดยระบุว่า
“อินเดียมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในช่วง 10 ปีข้างหน้า แตกต่างจากประเทศคู่แข่งในเอเชียอย่างจีนที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง” เพื่อให้อนาคตเศรษฐกิจไทยอยู่รอดปลอดภัย การปรับตัวที่เฉียบไว และวางแผนอย่างชาญฉลาดก็จะทำให้ไม่พลาดโอกาสดีๆ เป็นแน่
ในวิกฤตยังมีโอกาส จากที่ มหาอำนาจจีนทรุดตัว ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้คนรวยระดับไฮเอ็นด์ของจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มที่จะรัดเข็มขัด และเปลี่ยนความคิดจากการที่ชอบท่องเที่ยวในประเทศแถบยุโรป เบนเข็มมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแทน เพราะมีค่าครองชีพที่น้อยกว่า และใช้เวลาในการเดินทางที่สั้นกว่า จึงทำให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากภาวะนี้ไปโดยปริยาย รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้เราเห็นภาพนักธุรกิจชาวจีนที่มาเจรจาการค้าทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อนในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งในปีนี้ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ตั้งเป้าไว้ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนไหลทะลักเข้าสู่ประเทศไทยถึง 10 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่า เราต้องประสบปัญหาการบริหารจัดการ ทั้งมัคคุเทศก์ สิ่งอำนวยความสะดวก และทรัพยากรต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
เมื่อเป้าหมายสูง ก็ต้องถามตัวเราเองด้วยว่า เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับ ‘โอกาส’ นี้ไว้ดีแล้วหรือยัง
ที่มา