หมดช่วงเวลาการยื่นภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือบุคคลธรรมดาไปแล้ว ต่อไปก็เป็นช่วงเวลาการยื่นภาษีสำหรับบริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลทั้งหลาย ที่จะยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลกันแล้ว ซึ่งจะเป็นช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมของทุกปี แต่จริงๆ แล้วภาษีสำหรับบริษัทและห้างร้านนั้นนอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งรายการ ซึ่งเราจะมาดูรายละเอียด ภาษีที่คนทำธุรกิจต้องรู้ ในบทความนี้กัน
เริ่มที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลกันก่อน
ซึ่งเป็นภาษีสำหรับบิรษัทที่ทำธุรกิจแล้วมีกำไรในแต่ละปี ก็มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกันปีละ 2 ครั้ง โดยจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ที่บริษัทจะต้องยื่นแบบ ภงด.54 ภายในเดือนกันยายนของทุกปี และภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ที่บริษัทจะต้องยื่นแบบ ภงด.51 ภายในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ทั้งนี้การยื่นภาษีเงินได้ของนิติบุคคลนี้เราจะต้องยื่นพร้อมกับงบการเงินของบริษัท ดังนั้นเราอาจจะให้คนที่ทำบัญชีให้เราช่วยยื่นให้ก็ได้ เพียงแต่ก่อนที่จะยื่นเราจะต้องตรวจสอบรายการต่างๆ ให้ถูกต้องก่อนที่ยื่นภาษีนั่นเอง
ส่วนภาษีอีกประเภทหนึ่งที่บริษัทจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการหรือกิจการทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือบริการมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งเป็นภาษีที่บริษัทจะต้องยื่นทุกเดือน
ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรารู้จักกันดีว่า VAT นั้น เป็นการเก็บภาษีจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าต่างๆ ที่จดทะเบียน ยกตัวอย่างเช่น เราไปซื้อของจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 100 บาท เวลาเราจ่ายเงินค่าของเราได้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 บาท และถ้าเรามีการขายสินค้าออกไป 200 บาท เราก็ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากคนซื้อ 7% เหมือนกัน หรือเท่ากับ 14 บาท และทุกสิ้นเดือนเราก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยจำนวนเงิน 14-7 = 7บาทนั่นเอง
แต่ก่อนที่เราจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเราต้องดูรายได้เราก่อนว่าถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือเปล่า หากไม่ถึงแต่ต้องการออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าก็สามารถจดทะเบียนได้ และต้องดูด้วยว่าธุรกิจของเราได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือเปล่า เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจการเกษตร ฯลฯ และทีสำคัญคือ ถึงแม้ว่าธุรกิจของเราไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นเพียงบุคคลธรรมดาแต่ถ้ามีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเหมือนกัน ซึ่งมีหลายคนเหมือนกันที่คิดว่าภาษีมูลค่าเพิ่มใช้กับนิติบุคคลเท่านั้น ธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องทำด้วย เพราะถ้าหาเราตรวจเจอเราก็สามารถถูกเรียกเก็บย้อนหลังได้เหมือนกัน
ข้อดีที่เราในฐานะคนทำธุรกิจแล้วมีการยื่นภาษีให้ตรงตามเวลาของสรรพากรนั้น จะช่วยให้เราขอสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายขึ้น เนื่องจากธนาคารจะใช้หลักฐานการเสียภาษีมาประกอบการพิจารณาการให้อนุมัติสินเชื่อ เพราะคนทำธุรกิจจะไม่มีสลิปเงินเดือนมาแสดงรายได้เหมือนคนทำงานประจำทั่วไป เพราะหลักฐานทางภาษีก็ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่แสดงรายได้ที่แท้จริงของธุรกิจของเราตัวหนึ่งเลย ซึ่งถ้าเรายื่นภาษีไว้อย่างถูกต้องก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับวงเงินสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่สุดด้วย
และนอกจากที่เราจะมีหลักฐานสำหรับไว้ขอสินเชื่อจากธนาคารแล้ว ธุรกิจต่างๆ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับบุคคลธรรมดาเหมือนกัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมสรรพากรเมื่อเดือนกันยายน 2558 ทางกรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่คนทำธุรกิจ เช่น การยกเว้นภาษีสำหรับนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี จะได้รับยกเว้นภาษีในส่วนของกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก และสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรใหม่ที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการได้ร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้มา ดังนั้นถ้าหากว่าเราเป็นคนทำธุรกิจและเลือกรูปแบบภาษีให้เหมาะสมกับลักษณะการประกอบธุรกิจของเราแล้ว ก็จะช่วยให้เราได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างคุ้มค่า แถมด้วยทำให้เราสามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย