ยึดทรัพย์ และ อายัดทรัพย์ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อการฟ้องร้องต่อศาลจบลงโดยที่โจทก์หรือเจ้าหนี้เป็นฝ่ายชนะ และศาลมีคำสั่งให้จำเลยหรือลูกหนี้ ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางเจ้าหนี้ หลังจากกระบวนการฟ้องร้องในศาลจบลงต่อไปจะเป็นหน้าที่ของ “กรมบังคับคดี” ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ เพื่อขายทรัพย์สินทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาคืนเจ้าหนี้ ความเหมือนและแตกต่างของ ยึดทรัพย์ และ อายัดทรัพย์ มีความคล้ายและแตกต่าง ดังต่อไปนี้
1.ยึดทรัพย์ คือ อะไร
เมื่อเจ้าหนี้ชนะคดีในศาล และลูกหนี้ไม่มีเงินมาคืนเจ้าหนี้ภายใน 30 วัน ศาลจะแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นตัวกลาง เพื่อออกหมายยึดทรัพย์ของลูกหนี้ เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ฯลฯ เพื่อขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ หากยังเหลือยอดหนี้เจ้าพนักงานก็จะยึดทรัพย์อย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อขายทอดตลาดและนำเงินมาใช้หนี้ต่อไปจนกว่ายอดหนี้จะหมด ภายในอายุความ 10 ปี หลักการของการยึดทรัพย์ มีดังนี้
1.1ห้ามยึดทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ถ้ามูลค่ารวมกันไม่เกิน 50,000 บาทแรก
1.2ห้ามยึดทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ ถ้ามูลค่ารวมกันไม่เกิน 100,000 บาทแรก
1.3ห้ามยึดทรัพย์สินซ้ำกัน ในกรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนย่อมได้สิทธิก่อน
2.อายัดทรัพย์ คือ อะไร
อายัดทรัพย์มีหลักการและกระบวนการเดียวกับการยึดทรัพย์ แต่อายัดทรัพย์จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด เจ้าหนี้จะต้องไปสืบว่าลูกหนี้ทำงานอะไร ที่ไหน เงินเดือนและโบนัสเป็นอย่างไร เพื่อทำการอายัดเงินเดือน อายัดโบนัส อายัดค่าล่วงเวลารวมถึงค่าตอบแทนอื่นๆ เป็นต้น หลักการของการอายัดทรัพย์ มีดังนี้
2.1.อายัดเพียง 30% ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยคิดจากรายได้ก่อนหักภาษีและหักประกันสังคม แต่ถ้าลูกหนี้เงินเดือนน้อยกว่า 10,000บาท ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน หรือเมื่อถูกอายัดแล้วมีเงินเหลือน้อยกว่า 10,000 บาทก็ห้ามอายัดเงินเดือน
2.2.การอายัดเงินเดือนหรือค่าจ้างเพียง 30% ก็ตัวเลขที่สามารถลดหย่อนได้หากมีความจำเป็น เช่น ต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือมีโรคประจำตัว เป็นต้น
2.3.อายัดโบนัสได้ 50%
2.4.อายัดค่าคอมมิชชั่นได้ 30%
2.5.หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของรัฐห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน
2.6.กรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้เพิ่มหากมีเจ้ากหนี้รายอื่นอายัดเงินเดือนลูกหนี้ไปแล้ว
3.ข้อควรรู้หากโดนหมายศาลเรื่องการยึดหรืออายัดทรัพย์
3.1.นอกจากจะทำหน้าที่ในการยึดทรัพย์และขายทรัพย์สินทอดตลาดเพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนโจทก์หรือเจ้าหนี้แล้ว กรมบังคับคดียังเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อไม่ให้นำไปสู่การยึดทรัพย์หรือการฟ้องล้มละลาย
3.2.แม้ศาลจะมีคำสั่งยึดทรัพย์แล้ว แต่ถ้ายังไม่มีการขายทอดตลาด คุณยังสามารถขอประนอมหนี้หรือต่อรองหนี้กับเจ้าหนี้ได้เสมอ
3.3.หลังจากขายทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อคืนเงินเจ้าหนี้แล้ว หากยังมียอดหนี้คงเหลือมากกว่า 1 ล้านบาท คุณอาจโดนฟ้องล้มละลาย การเป็นบุคคลล้มละลายคุณจะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้จนกว่าผู้พิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาต รวมถึงไม่สามารถทำนิติกรรมได้
ผู้ที่ผ่อนรถ ผ่อนบ้านอยู่อย่านิ่งนอนใจคิดว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่กี่หมื่นไม่กี่แสนแล้วจะไม่มีทางโดนยึดบ้านหลักล้านเพราะเชื่อว่าบ้านที่ผ่อนยังไม่หมดและยังไม่ใช่ชื่อเราไม่น่าจะถูกยึดได้ แต่ในความเป็นจริงมีผู้คนมากมายโดยขายบ้านทอดตลาดแล้ว หากคุณละเลยหรือไม่ใส่ใจไม่ไปศาลตามนัดหรือไม่ยอมไกล่เกลี่ย กรมบังคับคดีอาจจะขายบ้านของคุณออกไปในราคาถูก และคุณอาจจะต้องเสียบ้านไปง่ายๆ ดังนั้นอย่าลืมทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ยึดทรัพย์ และ อายัดทรัพย์ รวมถึงกระบวนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานด้วย
อ่านหมวดอื่น : เครดิตบูโร , ล้างประวัติเครดิตบูโร , ค้ำประกัน