ถือเป็นกระแสทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์กันทั่วบ้านทั่วเมือง ในช่วงปลายปีที่แล้วกับผลงานเพลงแว้นฟ่อหล่อเฟี้ยว ระหว่างตลกรุ่นลูกแจ๊ส ชวนชื่นกับตลกรุ่นเก๋า ยาว อยุธยา ที่ต่างก็นำเอาเพลงดังกล่าวมาสร้างกระแสและกวาดคะแนนนิยมจากผู้ชมกันไปไม่น้อย ทำให้คำว่า “ลิขสิทธิ์” เป็นเรื่องที่ต้องนำมาปัดฝุ่นตีความและทำความเข้าใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ให้กับสังคม
บางคนพอคิดค้นประดิษฐ์งานขึ้นมาชิ้นหนึ่งก็ไม่แน่ใจว่าผลงานของตนจำเป็นต้องจดสิทธิบัตรหรือว่าลิขสิทธิ์หรือไม่ ผลงานของตนอยู่ในข่ายงานศิลป์หรือว่างานประดิษฐ์ ทั้งนี้ คำว่า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า อาจดูเหมือนจะคล้าย ๆ กัน แต่มีความแตกต่างที่น่าสนใจดังนี้
ลิขสิทธิ์เพื่อผู้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม, ศิลปกรรม, ดนตรีและนาฎกรรม:
หากผลงานที่ผ่านการกลั่นความคิดออกมาเป็นบทเพลง, วรรณกรรม, ภาพวาด, ประติมากรรม, ภาพถ่าย, งานแสดง, แผนที่, งานสถาปัตย์, ภาพวาดเขียน, ภาพร่าง, งานภาพยนตร์, งานบันทึกเสียง, งานดีวีดี, วีซีดี หรือกระทั่งงานพิมพ์ งานศิลปะแขนงต่าง ๆ ล้วนเป็นผลงานที่เมื่อผลิตออกมาเป็นชิ้นงานก็จะได้รับการคุ้มครองผลงานนั้น ๆ ทันที แม้เจ้าตัวจะยังไม่ได้ไปจดลิขสิทธิ์ก็ตาม
ทั้งนี้ ส่วนของลิขสิทธิ์ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ อีกด้วย อย่างเช่น ในกรณีบทเพลงแว้นฟ้อหล่อเฟี้ยว ก็ต้องมาดูในส่วนของผู้แต่งคำร้อง, ผู้แต่งทำนอง, เจ้าของค่ายและสิทธิของเจ้าของเสียงร้อง เป็นต้น ทั้งนี้ กฎหมายลิขสิทธิ์เพลงในประเทศไทยและต่างประเทศนั้น มักจะเป็นการลงนามตามอนุสัญญาเบิร์น ซึ่งในกรณีที่บุคคลอื่นนำผลงานของเจ้าของลิขสิทธิ์ไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ทันที สำหรับกรณีเพลงแว้นฟ้อหล่อเฟี้ยวนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง คือ คุณสังข์ทอง สีใส และเท่าที่ทราบยังไม่ได้เซ็นต์สัญญาให้กับค่ายเพลงหรือโอนให้กับบุคคลใด เมื่อคุณสังข์ทองเสียชีวิตลง ในปี พ.ศ. 2520 ลิขสิทธิ์จากการสร้างสรรค์บทเพลงก็จะยังเป็นของคุณสังข์ทองต่อไปอีก 50 ปี หลังจากวันที่เสียชีวิตไปแล้ว และจะตกเป็นของทายาทภายหลังจากนั้น ซึ่งเท่ากับว่าการกระทำของทั้งยาว อยุธยา และแจ๊ส ชวนชื่น เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งคู่นั่นเอง
สิทธิบัตรเพื่อผู้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมใหม่ ๆ :
ในทางกลับกัน หากผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ยังไม่มีใครคิดค้นมาก่อน ผู้คิดค้นผลงานชิ้นนั้น ๆ จะต้องนำผลงานของตนไปจดสิทธิบัตรทางปัญญา ซึ่งจะมีประโยชน์มากในเชิงพาณิชย์ เพราะภาคอุตสากรรมจะได้นำไปใช้ในขบวนการผลิตสินค้าต่อไปได้
เช่น หากผู้สร้างสรรค์ไอเดียได้ประดิษฐ์มีดปอกหัวหอมขึ้นมา โดยไม่ทำให้น้ำตาไหล ผู้ประดิษฐ์ก็จะต้องนำไปจดสิทธิบัตร ซึ่งก็จะมาตรวจสอบดูอีกทีว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดขึ้นมาก่อน จริงหรือไม่ โดยจะศึกษากันตั้งแต่กรรมวิธีการผลิต, การออกแบบผลิตภัณฑ์และการประดิษฐ์ผลงานนั้น ๆ ซึ่งหากมีผู้สนใจและชื่นชอบในไอเดียมีดปอกหัวหอมก็ไม่สามารถผลิตตามได้ ไม่อย่างนั้น จะเข้าข่ายละเมิดสิทธิบัตรทางการค้า หรือกรณีที่กลายเป็นเรื่องร้อนคดีตัวอย่างด้านไอที เมื่อบริษัท แอปเปิ้ลเดินเกมสอนบทเรียนซัมซุงกรณีละเมิดสิทธิบัตรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แม้ล่าสุด ศาลผู้ดีอังกฤษจะตัดสินว่าไอแพดและแท็บเล็ตของซัมซุงมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่อุปกรณ์ไอทีจากเกาหลีใต้ยังเทียบไม่ถึงคุณภาพของแอปเปิ้ล จึงถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด
เครื่องหมายการค้าเพื่อบ่งบอกตัวตนของผู้ประกอบกิจการ:
นอกจากนี้ ในเชิงการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือ โลโก้แบรนด์สินค้า เพื่อบ่งบอกตัวตนของสินค้าในตลาดให้ผู้บริโภครับรู้ถึงตัวผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตได้อย่างชัดเจน ซึ่งเครื่องหมายการค้านี้ ไม่จำเป็นต้องนำไปจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรเพิ่มเติม เพราะกฎหมายที่คุ้มครองจะเป็นพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าซึ่งแยกออกมาต่างหาก
เช่น กรณีเครื่องหมายการค้าของแบรนด์สตาร์บัคส์ที่เคยกลายเป็นกระแสดัง เมื่อร้านกาแฟสตาร์บัง ย่านถนนพระอาทิตย์ นำมาเลียนแบบใช้เครื่องหมายรูปประดิษฐ์และคำที่สื่อว่า STARBUNG COFFEE ผสมกับสินค้าเสื้อยืดคอกลมและกระดาษหุ้มแก้วกาแฟที่มีเครื่องหมาย “สตาร์บัง” ในลักษณะเป็นพื้นสีเขียว โดยในครั้งนั้น บริษัท สตาร์บัคส์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้มีคำสั่งดำเนินคดีและจับกุมนายดำรงค์ มัสแหละ หรือ “บัง” เจ้าของร้านกาแฟรถเข็นสตาร์บัง กับนายดำรัส น้องชาย เมื่อศาลได้สืบพยานเรียบร้อยก็มีคำสั่งห้ามจำเลยกระทำการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าและการบริการของโจทก์ หรือ สตาร์บัคส์ ต่อไปและยังให้ริบสินค้าที่ลอกเลียนและจัดการทำลายสินค้าโดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่สำคัญ จำเลยยังต้องร่วมกันจ่ายเงินสามแสนบาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ลิขสิทธิ์นั้นจะให้ความคุ้มครองผลงานศิลปะทันทีเมื่อผลงานผ่านการสร้างสรรค์ออกมา ในขณะที่สิทธิบัตรจะให้ความคุ้มครองต่อเมื่อมีการจดรับรองเท่านั้น หรือที่หลาย ๆ คนรู้กันดีว่าสิทธิบัตรเป็นเรื่องของการจดก่อน มีสิทธิ์ก่อน จะเห็นได้ว่า ทั้งลิขสิทธิ์, สิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ในตลาดก็ควรจะทำความเข้าใจให้ดี ๆ ก่อน เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์เอง และยังเป็นการตกทอดความคิดทางปัญญาที่มีคุณค่าและความหมายให้กับทายาทได้อีกต่อหนึ่งด้วย จริงไหม