“ติดบูโร” หรือ “ติด Black List” ทำให้ธนาคารไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ เคยมั้ยที่เวลาเราจะขอสินเชื่อกับธนาคารแล้วจะได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่แบบนี้ หรือเวลาที่ธนาคารโทรมาทวงหนี้มักจะอ้างกับเราว่า ถ้าจ่ายไม่ตรง ลูกค้าจะติดบูโรนะ แล้วบูโรที่เจ้าหน้าที่ธนาคารมักจะพูดถึงเสมอ คือ อะไร ล่ะ เรามาหาคำตอบกันเลยดีกว่า
เครดิตบูโร (Credit Bureau)
อธิบายให้เข้าใจง่าย คือ หน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลสินเชื่อทั้งหมดที่ขอผ่านสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่ออเนกประสงค์ บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด รวมทั้งประวัติการจ่ายชำระคืนหนี้สินต่างๆ ให้กับธนาคารด้วย ซึ่งเราจะรู้จักกันในชื่อ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่ประกอบธุรกิจภายใต้ พรบ.การประกอบธุรกิข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ซึ่งวัตถุประสงค์หลักจริง จริง ของการตั้งเครดิตบูโร เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารมีหนี้เสียเหมือนปี 2540 ที่ก่อความเสียหายให้กับประเทศของเราอย่างใหญ่หลวงเลยทีเดียว
การส่งข้อมูลของสถาบันการเงินให้กับ เครดิตบูโร นั้น ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่ที่ถือปฏิบัติกันก็คือ จะส่งให้เครดิตบูโรเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และจะส่งให้ลูกค้าทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับข้อมูลที่ส่ง คือ ข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของเรา วงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ ประเภทของสินเชื่อ ประวัติการชำระเงิน เมื่อธนาคารเป็น ผู้ส่งข้อมูลให้ ดังนั้นเวลาที่ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อให้กับเรา ก็สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อที่เรามีทั้งหมดของทุกธนาคารได้ผ่านฐานข้อมูลของเครดิตบูโร
แล้วที่ได้ยินว่าติดเครดิตบูโร คืออะไร ติด Black List คืออะไรล่ะ ….
ถ้าเอาตามระบบของเครดิตบูโรแล้ว จะไม่มีคำว่า Black List หรือ ติดเครดิตบูโร เพียงแต่เป็นคำที่ใช้ของเจ้าหน้าที่ธนาคารในการแจ้งลูกค้า กรณีที่ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้าได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง จริงในระบบเครดิตบูโร คือ ข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ที่ธนาคารส่งให้เครดิตบูโรนั้น จะถูกประมวลผลและจัดประเภทสถานะของบัญชีตามที่เครดิตบูโรกำหนด เช่น บัญชีปกติ ชำระเงินล่าช้า ค้างชำระ ปิดบัญชี เป็นต้น และสถานะที่ทำให้เราเป็น Blacklist หรือ ติดบูโร ส่วนใหญ่ คือ ชำระเงินล่าช้า ซึ่งที่ธนาคารโดยมากจะปฏิเสธ ก็ชำระล่าช้า 4 ครั้งติดต่อกัน หรือค้างชำระ ก็คือ มียอดค้างชำระเกิน 90 วัน หรือว่าธนาคารคำนวณจำนวนสินเชื่อที่มีทั้งหมดของเราแล้วความเห็นว่ามีหนี้เกินกว่ารายได้ที่เรามีก็ทำให้ธนาคารไม่อนุมัติได้เหมือนกัน แต่ธนาคารก็ต้องทำหนังสือปฏิเสธแจ้งให้เราทราบถึงสาเหตุที่ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ ธนาคารจะส่งเป็น SMS มาแจ้งเราว่าติดเครดิตบูโร เลยไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้นั้นไม่ได้เลย ยกเว้นแต่ว่าเป็นการส่งให้เราทราบผลการอนุมัติอย่างไม่เป็นทางการของคนขายที่โทรมาตื้อเราตอนแรก ก็พอจะอนุโลมได้
เพราะฉะนั้นถ้ามีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อกับธนาคาร เราก็ไม่ควรสร้างหนี้สินเยอะมากเกินไป และควรมีวินัยในการชำระหนี้คืนธนาคารด้วย เพราะว่าสมัยนี้ข้อมูลทุกอย่างมันถึงกันหมด และอีกอย่างเราจะได้ไม่มีประวัติติดเครดิตบูโรกัน
ข้อมูลสินเชื่อต่างๆ และประวัติการชำระหนี้ของเรา เครดิตบูโรเค้าจะเก็บไว้นานเท่าไรกัน ….
จริง จริงแล้วเครดิตบูโรจะให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือที่เรารู้จักกันดีคือ ลูกหนี้ NPL นาน 5 ปี และเครดิตบูโรจะเก็บไว้เองอีก 3 ปี รวมเป็น 8 ปี ที่เราจะมีข้อมูลอยู่กับเครดิตบูโร ซึ่งทำให้ลูกหนี้ NPL มีโอกาสลืมตาอ้าปากอีกครั้งในการขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ธนาคารส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรไปเรื่อย เรื่อย จนกว่าจะมีการชำระหนี้ให้หมด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร เลยทำให้คนที่มีประวัติติดเครดิตบูโรไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกเลย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจกันผิดนะว่าเค้ายกหนี้ให้เรา เค้าเพียงแต่ล้างประวัติในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรเท่านั้น ส่วนหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคารก็ยังต้องหาทางเจรจาชำระหนี้กันต่อไปนะ
แล้วถ้า ติดเครดิตบูโ รแล้ว เรายังจะสามารถขอสินเชื่อกับธนาคารหรือล้างประวัติเรากับเครดิตบูโรได้หรือเปล่า
คำตอบ คือ ว่าได้ ถ้าเราสามารถจ่ายชำระคืนเงินให้ธนาคารหมดทุกบัญชีแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร และกฎเกณฑ์ของเครดิตบูโรในการล้างประวัติการชำระหนี้ของเรา ซึ่งสามารถติดต่อไปที่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อขอคำแนะนำในการปรับปรุงประวัติการชำระหนี้ของเราได้
สิ่งสำคัญสำหรับลูกหนี้อย่างเรา ถ้าพอมีโอกาสก็ลองไปขอเช็คข้อมูลประวัติสินเชื่อและการชำระหนี้ของเรากับเครดิตบูโรบ้างก็ดีนะ… ค่าขอตรวจสอบไม่กี่บาท หรือบางครั้งเครดิตบูโรก็มาตั้งโต๊ะให้ตรวจสอบกันฟรี ฟรี โดยไม่เสียตังค์ก็มี เพราะบางธนาคารต่างๆ ก็อาจผิดพลาดในการส่งข้อมูลของเราได้ ซึ่งมันจะมีผลต่อชีวิตของเราไปตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ และเมื่อเจอว่าผิดไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องกลัว เราติดต่อไปที่เครดิตบูโรได้ แล้วที่ลืมไม่ได้เวลาไปติดต่อ คือ เอกสารการชำระหนี้สินของเราทั้งหมดที่มี เพื่อให้เครดิตบูโรสามารถตรวจสอบได้ และปรับปรุงประวัติของเราให้ถูกต้องได้ อย่าลืมนะ เรื่องของเรา เราต้องดูแลและใส่ใจ ไม่มีใครมาดูแลให้เรา จำให้ดีเลยล่ะ
เห็นหรือเปล่าว่า เครดิตบูโร ไม่ได้เป็นผู้ร้ายในการขอสินเชื่อ แต่เครดิตบูโรน่าจะเป็นตัวช่วยทั้งกับธนาคารและลูกหนี้ คือ ช่วยให้ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้จนเกินความสามารถของตนเอง และลูกหนี้เองก็จะได้รู้ตัวเองว่าตอนนี้เรามีหนี้สินกับธนาคารจนเกินตัวไปหรือเปล่า