หนี้บัตรเครดิต เป็นบริการเงินกู้ล่วงหน้าที่สถาบันการเงินพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่าย โดยพิจารณาให้วงเงินตามความสามารถในการผ่อนชำระจากปัจจัยด้านฐานเงินเดือน อาชีพการงาน และประวัติการชำระเงินในวงเงินเครดิตต่างๆที่เคยทำการกู้
เนื่องจากเครดิตส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีความเสี่ยงสูง แตกต่างจากสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สินเชื่อเคหะ หรือเช่าซื้อรถยนต์ จึงคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกว่า แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุมอัตราดอกเบี้ย บริการบัตรเครดิตไม่เกิน 18% และสินเชื่อบุคคลไม่เกิน 28%
เครดิตส่วนบุคคลมี 2 ประเภทหลัก คือ
- ใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดในห้างสรรพสินค้าและร้านที่รับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต
- สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยประมาณ 30-55 วันนับตั้งแต่วันใช้จ่ายจนถึงวันครบกำหนดชำระจริง
บัตรเครดิตช่วยให้ผ่อนชำระสินค้าหรือบริการที่จ่ายโดยบัตรเครดิตได้ สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากยอดเต็มตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันก่อนวันที่ชำระเงิน หลังจากนั้นถ้าชำระไม่เต็มจำนวน หรือทยอยผ่อนชำระหนี้ จะคิดจากยอดเงินคงค้าง โดยคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด คือ ดอกเบี้ยไม่เกิน 18% กรณีเบิกถอนเงินสดจะคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่เบิก
หนี้บัตรเครดิตกลายเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคน บางรายมีเจ้าหนี้บัตรเครดิตมากจนนิ้วมือนับไม่พอ หนี้ท่วมจนไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาชำระต่อเจ้าหนี้ … การจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้รู้ว่าเสียเงินค่าใช้จ่ายไปเพื่ออะไรบ้าง เพื่อทบทวนตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือย มีเงินเหลือเพื่อไปใช้ชำระหนี้ตัดเงินต้นมากขึ้น หยุดการก่อหนี้เพิ่ม หาหนทางเพิ่มรายได้จากงานประจำและพยายามจ่ายเงินชำระหนี้ทุกเดือนอย่างเคร่งครัด
อ่านเพิ่มเติม >> 7 ขั้นตอน ทำบัญชีรายรับรายจ่าย อย่างง่าย <<
ผู้มีหนี้ควรจัดลำดับหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ผ่อนระยะสั้นและหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนระยะยาว โดยชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน จากนั้นทยอยเรียงลำดับลงมายังหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนั้นยังสามารถรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เงินฝาก เงินลงทุนในกองทุน บ้านและรถยนต์ที่ปลอดภาระหนี้ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ที่สามารถแปรสภาพเป็นเงินสดเพื่อนำมาชำระหนี้ ลดหนี้บัตรเครดิต ให้เหลือน้อยที่สุด
สำหรับวิธีลดดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพื่อหวังปลดหนี้ระยะยาวเรื้อรังให้หมดลงได้ในเร็ววัน
วิธีลดดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิต แบ่งออกได้ 3 วิธี
- เพิ่มอัตราการผ่อนชำระ การเพิ่มอัตราการผ่อนชำระจากขั้นต่ำ 5% จะช่วยลดค่าดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนชำระลง พิจารณาจากตัวอย่าง ยอดค้างชำระ 10,000 บาท มีอัตราดอกเบี้ย 18%
- ผ่อนชำระ 5% จ่ายค่างวด 500 บาท ค่าดอกเบี้ย 1,978 บาท ปลอดหนี้ใน 28 เดือน
- ผ่อนชำระ 10% จ่ายค่างวด 1,000 บาท ค่าดอกเบี้ย 916 บาท ลดจากงวดก่อน 53.69% ปลอดหนี้ใน 12 เดือน
- ผ่อนชำระ 15% จ่ายค่างวด 1,500 บาท ค่าดอกเบี้ย 616 บาท ลดจากงวดก่อน 32.75% ปลอดหนี้ใน 8 เดือน
- ผ่อนชำระ 20% จ่ายค่างวด 2,000 บาท ค่าดอกเบี้ย 475 บาท ลดจากงวดก่อน 22.89% ปลอดหนี้ใน 6 เดือน
- รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต โอนหนี้บัตรเครดิตไปวงเงิน หรือบัตรอื่นที่มีดอกเบี้ยถูกกว่า เช่น โอนจากอัตราดอกเบี้ย 18% ไป 17% จะประหยัดค่าดอกเบี้ยราว 6% กรณีการกู้ 10,000 บาท
เปรียบเทียบได้ดังนี้
- ดอกเบี้ย 18% ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ค่าดอกเบี้ยรวม 1,978 บาท
- ดอกเบี้ย 17% ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ค่าดอกเบี้ยรวม 1,842 บาท ลดลง 136 บาท หรือ 6.8%
- ดอกเบี้ย 16% ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ค่าดอกเบี้ยรวม 1,709 บาท ลดลง 133 บาท หรือ 7.2%
- รีไฟแนนซ์และเพิ่มอัตราผ่อนชำระ การโอนหนี้บัตรเครดิตพร้อมกับการเร่งผ่อนชำระให้หมดในระยะเวลาที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษจะช่วยประหยัดมากที่สุด
รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตคืออะไร
การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตเป็นเงินกู้ที่โอนเงินทั้งก้อน
เข้าบัญชีออมทรัพย์ เพื่อเคลียร์หนี้บัตรเครดิต ทำให้มีเงินก้อนในการชำระหนี้บัตรเครดิต และมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินกะทันหัน ส่วนข้อเสียคือรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตเป็นการก่อหนี้ก้อนใหม่ หากขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี อาจเกิดการใช้จ่ายเงินเกินตัว ก่อหนี้สินเพิ่มภาระให้ตัวเองมากขึ้น
ทั้งนี้จำเป็นต้องวางแผนทางการเงินชัดเจนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พิจารณารายรับ หรือเงินเดือน เปรียบเทียบกับรายจ่ายในการผ่อนชำระหนี้สิน เพื่อให้ทราบสถานะทางการเงินของตนเองอย่างชัดเจน และรู้ว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่สำหรับชำระคืนหนี้สินในแต่ละเดือน การขอสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ก็จะเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสม
สถาบันการเงินจะทำการตรวจสอบประวัติเครดิต หากผู้ขอสินเชื่อมีอาชีพการงานดี รายได้มั่นคง ตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป ไม่เคยมีหนี้สิน การรีไฟแนนซ์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
อ่านเพิ่มเติม >> อยาก รีไฟแนนซ์หนี้ ต้องทำอย่างไร ? <<
กลยุทธ์การใช้บัตรเครดิต
วิธีการใช้บัตรเครดิตแบบฉลาดคือการใช้บัตรเครดิตเท่าที่จำเป็น เพื่อความสะดวกในการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องพกเงินสด และต้องมั่นใจถึงเวลาจะมีเงินชำระหนี้เต็มจำนวนในวันครบกำหนด มีเงินเพียงพอใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ควรใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตเท่าจำนวนเงินที่มี เพราะจะได้ประโยชน์ด้านการสะสมแต้มเพื่อแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆเอาไว้ใช้ในอนาคตด้วย
การจัดระบบการจ่ายเงินให้ดีเพื่อใช้ประโยชน์จากสินค้าดอกเบี้ยผ่อน 0% และการยืดเวลาชำระเงิน หากพฤติกรรมการชำระเงินไม่เป็นไปตามที่กล่าวนั้น ผลลัพธ์จะกลายเป็นว่าการซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิตจะได้สินค้าในราคาค่อนข้างสูงกว่าราคาปกติ
ก่อนใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าใด ควรคำนวณก่อนว่ามีเงินสดอย่างน้อย 40%-50% ของราคาสินค้านั้น เพื่อนำมาคำนวณหักกับรายรับต่อเดือนซึ่งหักค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ ไปแล้ว เหลือพอชำระหนี้สินค้าจากสินค้ารายการนี้มากน้อยแค่ไหน ก็จะทราบว่าผ่อนไหวหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องวางแผนในกรณีที่รายได้ประจำเกิดติดขัด มีรายจ่ายไม่คาดฝันเข้ามาทำให้ไม่สามารถชำระรอบบิลนั้น ๆ จนต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยที่แพงมาก
การใช้บัตรเครคิตให้เกิดประโยชน์ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องมีวินัยในการวางแผนทางการเงิน เพื่อหลุดวังวนของการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิต ไม่ต้องกลับไปเป็นหนี้สินท่วมตัวแบบในอดีต