ในปัจจุบันนี้บัตรเครดิตกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ขาดไม่ได้สำหรับหลาย ๆ คนในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสิ่งของต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ก็เช่นกันที่มักจะปรากฏข่าวกลุ่มมิจฉาชีพที่พยายามคัดลอกหรือปลอมแปลงบัตรเครดิตโดยวิธีการต่าง ๆ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบและติดตามชดใช้เงินแทน ซึ่งรูปแบบการปลอมแปลงบัตรเครดิตอาจยกตัวอย่างจากการจับกุมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใน 4 ลักษณะ คือ
การคัดลอกข้อมูลบัตรเครดิต :
รูปแบบการโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิตที่มักพบในช่วง 5 -10 ปีที่ผ่านมาคงไม่พ้นไปจากการดูดข้อมูลบัตรผ่านเครื่อง Skimmer ซึ่งลักษณะการโจรกรรมมักเกิดขึ้นกับร้านค้าทั่วไป พนักงานเก็บเงินหรือพนักงานบริการตามร้านค้าต่าง ๆ โดยมิจฉาชีพจะมอบเครื่อง Skimmer ให้กับพนักงานและจ้างให้พนักงานร้านในการคัดลอกข้อมูลโดยเสียบบัตรเครดิตเข้ากับเครื่อง Skimmer ของมิจฉาชีพ และใช้เวลาเพียง 2-3 วินาที เครื่องดังกล่าวจะเก็บข้อมูลทุกอย่างของเจ้าของบัตร โดยเครื่องหนึ่ง ๆ สามารถเก็บข้อมูลบัตรได้สูงถึง 100 บัตร ซึ่งมิจฉาชีพจะนำข้อมูลบัตรเหล่านั้นไปสร้างบัตรเครดิตปลอมและนำไปรูดซื้อสินค้าต่าง ๆ ในชื่อของเจ้าของบัตร จากการตรวจสอบของตำรวจพบว่าแหล่งที่มิจฉาชีพนิยมวางเครื่อง Skimmer ได้แก่ ย่านธุรกิจสำคัญ เช่น ซอยอารีย์ ถนนสุขุมวิท และทองหล่อ โดยกลุ่มเป้าหมายมักเป็นบัตรของชาวต่างชาติ ซึ่งตัวอย่างคดีที่มีการจับกุมช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 180 ล้านบาท จากกลุ่มมิจฉาชีพชาวจีนที่ใช้บัตรเครดิตปลอมซื้อทองรูปพรรณก่อนจำหน่ายและเปลี่ยนเป็นเงินสด จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นฝากเข้าบัญชีธนาคารและโอนต่อไปยังต่างประเทศ
เมื่อบัตรเครดิตสามารถกดเงินสดได้ ย่อมถูกโจรกรรมข้อมูลได้ :
อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้บัตรเครดิตในฐานะบัตรกดเงินสดด้วย ซึ่งมักจะพบปัญหาคล้ายคลึงกับการโจรกรรมข้อมูลบัตร ATM ซึ่งมิจฉาชีพมักจะติดกล้องขนาดเล็กไว้ภายในตู้กดเงินพร้อมกับแถบเครื่องดูดข้อมูลบัตรเครดิตซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ติดไว้ในช่องเสียบบัตร เพื่อดูข้อมูลและรหัสส่วนตัวของเจ้าของบัตร จากนั้นเมื่อดูดข้อมูลบัตรพร้อมกับทราบรหัสกดเงินสดแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลไปใส่ในบัตรเครดิตตัวใหม่และกดเงินสดออกมาทำรายการและซื้อสินค้า ซึ่งกว่าเจ้าของบัญชีจะทราบก็สร้างความเสียหายไปจำนวนมากแล้ว และในระยะหลังกลุ่มมิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบการจารกรรมใหม่ โดยครอบเครื่องสแกนข้อมูลบัตรเครดิตและแผงกดรหัสเข้ากับตู้กดเงินของธนาคารนั้น ๆ โดยเลียนแบบเหมือนกับช่องเสียบบัตรของธนาคารทุกประการ ทำให้แม้ไม่มีกล้องบันทึกแต่เมื่อเจ้าของบัตรกดรหัสบนแป้นของมิจฉาชีพก็จะเป็นการแจ้งรหัสให้แก่มิจฉาชีพทราบในทันที ทำให้สามารถทราบข้อมูลบัตรและรหัสได้พร้อม ๆ กันโดยไม่ติดกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด
หลอกถามข้อมูลส่วนบุคคล :
หลายครั้งที่มิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินโทรศัพท์มาเพื่อแจ้งข่าวร้ายว่าบัตรเครดิตถูกโจรกรรมข้อมูลและขอให้เจ้าของบัตร/เหยื่อแจ้งข้อมูลเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน อาทิเช่น รหัสบัตรเครดิต 16 หลัก วันหมดอายุบัตร ชื่อหน้าบัตร วงเงินที่อนุมัติ และอาจรวมถึงหมายเลขยืนยันหลังบัตร ซึ่งมิจฉาชีพมักจะอาศัยช่วงเวลาที่เจ้าของบัตรตกใจและต้องการป้องกันข้อมูลของตนเองจึงรีบแจ้งข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ให้ทราบ และกลับกลายเป็นว่าเป็นการให้ข้อมูลบัตรเครดิตที่แท้จริงกับมิจฉาชีพไป วิธีการดังกล่าวมักเลือกใช้กับเหยื่อที่สูงอายุหรือเหยื่อที่เป็นผู้หญิง
เทคโนโลยีไปไกล แค่แตะบัตรก็ขโมยข้อมูลได้ :
อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้บัตรเครดิตโดยดึงข้อมูลจากบัตรผ่านเครื่อง ซึ่งเป็นกรณีที่ใช้บัตรเครดิตแบบ Pay Wave หรือ Master Card Paypass ที่โดยปกติแล้วเจ้าของบัตรแค่แตะบัตรเครดิตกับเครื่องเพื่อชำระค่าสินค้า กลุ่มมิจฉาชีพก็สามารถขโมยข้อมูลได้โดยนำบัตรมาแตะเครื่องแตะบัตร ข้อมูลถูกนำออกไปคือ หมายเลขบัตรเครดิต วันหมดอายุ และรวมถึงชื่อเจ้าของบัตร จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งต่อเข้าไปในสมาร์ทโฟนของมิจฉาชีพ เช่น ในระบบแอนดรอยด์ จากนั้นมิจฉาชีพก็จะสามารถนำมือถือแตะไปใช้จ่ายซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้ตามสะดวก
จากสถานการณ์ความเสี่ยงจากบัตรเครดิตต่าง ๆ ข้างต้น อย่างน้อยเราก็ควรหาวิธีการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ส่วนใหญ่แล้วข้อมูลบัตรเครดิตที่รั่วไหลมักมาจากการใส่ข้อมูลบัตรในระบบอินเตอร์เน็ต การใช้จ่ายในร้านค้าที่ไม่เป็นที่รู้จักหรือลับตาคน หรือใช้บริการตู้กดเงินสดที่อยู่ในที่ลับตา ดังนั้นมีกฎเหล็ก 6 ประการเพื่อป้องตนเองเบื้องต้นให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้แล้ว ดังต่อไปนี้
- เปลี่ยนนิสัยการหยิบบัตรเครดิต โดยยื่นบัตรเครดิตให้กับพนักงานหน้าเคาน์เตอร์เฉพาะเวลารูดชำระค่าสินค้าเท่านั้น อย่าให้พนักงานถือบัตรไปในที่ลับตา
- ไม่ใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตกับเว็บไซต์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเว็บไซต์ที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยของบัตรเครดิตในระบบ OTP (One Time Password)
- กำหนดวงเงินการใช้จ่ายของบัตรเครดิตที่ต่ำกว่าวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารเสมอ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินจากกลุ่มมิจฉาชีพในกรณีที่มีการโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิตไปแล้ว
- สมัครระบบ SMS แจ้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทุกครั้งเพื่อดูการเคลื่อนไหวของบัญชีบัตรเครดิตอยู่ตลอดเวลา หากมีการใช้จ่ายในยอดเงินที่ผิดปกติจะสามารถแจ้งอายัดหรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ทันท่วงที
- กรณีที่ใช้บัตรเครดิตร่วมกับบัตรกดเงินสด ควรสังเกตบริเวณตู้กดเงินทุกครั้งก่อนจะกดเงินว่ามีกล้องติดอยู่หรือไม่ และบริเวณที่กดเงินนั้นเป็นแป้นกดเงินของธนาคารเจ้าของบัตรจริงหรือไม่ และรวมถึงการใช้มือบังบริเวณที่กดรหัสไว้ไม่ให้ผู้อื่นเห็น และอีกเทคนิคหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแนะนำ คือ เมื่อทำรายการเสร็จแล้ว ให้ดึงบัตรออกจากตู้อย่างช้า ๆ โดยวิธีการนี้จะทำให้เครื่องคัดลอกข้อมูลทำงานได้ด้อยลงและอาจไม่สามารถดึงข้อมูลบัตรเครดิตได้เลย
นอกจากนี้ ต้องไม่ตอบคำถามส่วนตัวใด ๆ ทางโทรศัพท์ วิธีการนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ แก๊งค์ก๊อปปี้ข้อมูลบัตรเครดิต ได้ข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญไปในการออกบัตรปลอมใบใหม่ หากต้องการทราบว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริงของธนาคารเจ้าของบัตรหรือไม่ ควรโทรกลับไปหาเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ของธนาคารที่ออกบัตรเท่านั้น