Crowdfunding เป็นสิ่งที่เกิดมาได้สักระยะแล้วในต่างประเทศ เพราะเป็นการระดมทุนผ่านโลกออนไลน์ให้กับคนที่มีไอเดียแต่ไม่มีทุน เพื่อนำไปต่อยอดให้เป็นธุรกิจของตัวเอง ซึ่งหลักการทั่วไปก็ไม่ยากอะไรเพียงแต่เราต้องนำเสนอโครงการของเราให้กับกลุ่มคนให้เข้าใจไอเดียของเรา ถ้ามีคนสนใจก็จะปันเงินมาให้กับโครงการของเรานั่นเอง และเมื่อเราสามารถผลิตสินค้าที่เสนอไปแล้วก็จะนำมาแจกเพื่อเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ที่ระดมเงินทุนให้กับเรา
โดยในต่างประเทศจะมี Crowdfunding ที่เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่ม Startup คือ Indiegogo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ Crowdfunding ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ มี Startup หลากหลายเชื้อชาติที่เข้าไปเสนอโครงการเพื่อระดมทุนมาทำโครงการของตัวเองให้สำเร็จ ยกตัวอย่างของคนไทยที่ไปขอระดมทุนและประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็คือ กลุ่ม Startup ผู้พัฒนา “ไดรฟ์บอท” อุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อช่วยผู้ขับขี่ตรวจสภาพรถที่สามารถระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมายของตัวเองคือ 1 แสนเหรียญดอลล่าร์ ภายในเวลา 6 วันเท่านั้นเอง หรือจะเป็นโครงการ “เลนส์ทวิทรรศน์” พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ประดิษฐ์เลนส์แบบพกพาที่เชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้เป็นกล้องจุลทรรศน์เคลื่อนที่ได้
สำหรับ Crowdfunding ในประเทศไทย ก็เริ่มเกิดขึ้นมาบ้างแล้วเหมือนกัน เช่น Dreamaker Crowdfunding ที่ก่อตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว และ Sinwattana ซึ่งเป็นของประเทศสิงคโปร์ก็ได้เข้ามาประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้ โดยการระดมเงินทุนของ crowdfunding จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น การบริจาคเงิน (donation crowdfunding) โดยที่ไม่ต้องการผลตอบแทนอะไร การจ่ายเงินเพื่อสั่งจองสินค้าที่เจ้าของโครงการจะผลิตออกมาขาย (reward crowdfunding) หรือจะเป็นการให้เจ้าของโครงการนำรายละเอียดของเเผนการดำเนินงานของบริษัทมาเปิดเผยบนเว็บไซต์ เพื่อเปิดระดมทุนจากบุคคลทั่วไปโดยการขายหุ้นของบริษัท (equity crowdfunding) และการกู้ยืมเงิน (loan crowdfunding) โดยผู้ลงทุนได้รับส่วนแบ่งเป็นร้อยละของการขายเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือได้รายได้แบบดอกเบี้ยก็ได้
แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้ง Crowdfunding ที่เป็นรูปแบบ Equity Crowdfunding เนื่องจากการระดมทุนแบบนี้จะให้หุ้นเป็นผลตอบแทนแก่ประชาชนรูปแบบหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำกับดูแลโดย ก.ล.ต. นั่นเอง และเพื่อให้เกิดความสบายใจกับทั้งเจ้าของเงินและเจ้าของโครงการ ก.ล.ต. จึงต้องออกกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อช่วยให้เกิดความมั่นใจในการระดมทุนแบบ Equity Crowdfunding มากขึ้น อีกยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่รักษาเงินที่ได้จากการระดมทุนมาก่อนที่จะแจกจ่ายให้กับ Startup ทั้งหลายได้ทำโครงการของตัวเองให้สำเร็จ
โดย ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีคนกลางที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างเจ้าของเงินและ Startup ทั้งหลาย ที่เรียกว่า Funding Portal ซึ่งจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองบริษัท Startup ทั้งหลายที่จะมาเสนอขายหุ้นของบริษัทตัวเอง โดย Funding Portal นี้จะสอบทานความมีตัวตนและคุณสมบัติของ Startup ตามที่ประกาศกำหนด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของเงินในระดับหนึ่งว่าผู้ที่จะมาขอเงินไปนั้นมีโครงการที่จะทำจริงๆ ไม่ได้เข้ามาเพื่อหลอกลวงเอาเงินไปทำอย่างอื่น และนอกจากนี้ Funding Portal ยังต้องให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุน Equity Crowdfunding แก่ผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน
เนื่องจากการลงทุนแบบ Equity Crowdfunding นี้ถือได้ว่าเป็นการจองหุ้นบริษัทแบบ IPO อย่างหนึ่ง แต่จะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะว่าหุ้นของบริษัทที่เข้ามาขอระดมทุนแบบนี้เป็นช่วงเริ่มต้นในการก่อตั้งบริษัท และก็มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุน ก.ล.ต. ก็เลยต้องกำหนดวงเงินลงทุนไว้ที่ 50,000 บาทต่อการลงทุนใน Equity Crowdfunding 1 บริษัท และนักลงทุน 1 คนจะลงทุนได้ไม่เกิน 500,000 บาทเท่านั้น
สิ่งสำคัญในการระดมทุนแบบ equity crowdfunding คือ แต่ละฝ่ายจะต้องทำตามบทบาทและหน้าที่ของตัวเองให้ดี ยกตัวอย่างเช่น funding portal ก็ต้องพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อนำเสนอแก่ผู้ลงทุน ส่วนผู้ลงทุนก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนเพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง รวมถึงบริษัทที่สนใจระดมทุนก็จะต้องมีความตั้งใจในการนำเงินที่ระดมทุนได้ไปประกอบธุรกิจตามที่ได้เสนอแก่ผู้ลงทุน และยังต้องระลึกเสมอว่าเงินที่ได้จากการระดมทุนเป็นเงินของผู้อื่น จึงต้องใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง
การลงทุนในบริษัทที่เป็น Startup นั้นถ้าประสบความสำเร็จขึ้นมานี้ก็จะได้ผลตอบแทนหลายเท่าเลยทีเดียว ไม่เชื่อเราก็ลองดูอย่าง Application GRAB TAXI ที่เดียวนี้นอกจากแท๊กซี่แล้วก็ยังมีมอเตอร์ไซต์ และก็รถจักรยานอีก ที่หลายๆ คนชอบและถูกใจกับบริการแบบนี้ ดังนั้นหากวันนี้ถ้าเราสนใจที่จะลงทุนใน Equity Crowdfunding หรืออยากจะเป็น Startup หน้าใหม่ ก็ลองไปศึกษาหาข้อมูลกันได้ตามอินเตอร์เน็ตกันได้เลย