ลูกจ้างทั้งหลายเตรียมเฮ เมื่อคณะกรรมการค่าจ้างเคาะอัตราเงินเดือนขั้นต่ำใหม่ทุกจังหวัด โดยเพิ่ม 5-22 บาท ให้มีผลในวันที่ 1 เม.ย. 61 นี้เป็นต้นไป
การประชุมที่ยาวนานกว่า 7 ชั่วโมง เพื่อลงมติเห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในปี 2561 ตามความเหมาะสมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และตามการจ้างงานในแต่ละพื้นที่จังหวัด ในที่สุดคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ก็ได้บทสรุปปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดออกเป็น 7 ระดับ อยู่ที่ 5-22 บาท ซึ่งคิดเฉลี่ยอยู่ที่ 315.97 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 61 เป็นต้นไป
หลังจากที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดในปี 59 โดยแบ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 4 กลุ่มจังหวัด คือ เพิ่ม 5 บาท 8 บาท 10 บาท และจังหวัดที่ไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในปี 61 นี้ คณะกรรมการฯ เห็นสมควรว่า ควรให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวได้ใช้เกณฑ์การประเมินจากศักยภาพทางเศรษฐกิจ ค่าเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และความสามารถในการแข่งขันของแต่ละจังหวัดเป็นตัวกำหนดหลัก พร้อมยืนยันว่า การพิจารณานี้มีความรอบคอบและเห็นพ้องต้องกันของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง โดยจะนำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมนำเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานพิจารณาเห็นชอบ และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้เสนอแนวคิดในอนาคต 3 ประการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- เสนอให้มีค่าจ้างลอยตัวในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่นำร่อง
- กำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คน มีการประกาศโครงสร้างเงินเดือนและการปรับขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างทราบ เพื่อให้ลูกจ้างเห็นอนาคต และเป็นหลักประกันในเรื่องอัตราค่าจ้างที่จะมีการขึ้นทุกปี
- เสนอให้ลดหย่อนภาษีผู้ประกอบการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเพิ่ม 1.5 เท่าจากค่าจ้างแรงงานทั้งหมดในบริษัท
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ทั้ง 7 ระดับ
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับลูกจ้างทุกคน แม้จะไม่สามารถปรับขึ้นให้เท่ากันได้ทุกจังหวัด แต่ก็ทำให้วิถีชีวิตที่ค่าครองชีพสูงขึ้นได้มีความผ่อนคลายลงบ้าง…นับเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ให้คนทำงานได้ยิ้มชื่นใจกันอีกครั้ง
ที่มา