คนวัยทำงานอย่างเรา คงเคยเจอสภาวะ “เงินช็อต” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย
เวลาที่เกิดอาการ “เงินช็อต” ขึ้นมานั้น ทางออกที่ดูเหมือนจะดีที่สุดก็คือ การยืมเงิน แน่นอนว่าเมื่อเกิดการยืมแล้ว สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น ก็คือ “หนี้” ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่โตอะไร แค่พยายามหาเงินมาให้ได้เท่ากับที่ยืมมา แล้วก็คืนให้กับเจ้าหนี้ไป แต่ถ้าคุณคิดว่าเป็นเรื่องง่ายขนาดนั้น แล้วเกิดภาวะการยืมเงินติดต่อกันจนเป็นวัฎจักรละก็ นั่นเป็นสัญญาณอันตรายว่าคุณกำลังจะมีอาการ “เสพติดหนี้”
ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ผู้ใช้นามว่า Zieg-Hart ได้นำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะเสพติดหนี้ หรือ Debt Addiction โดยแปลมาจากเว็บไซต์ http://www.moneycrashers.com/what-is-debt-addiction/ และ http://debtorsanonymous.org/help/signs.htm มาตั้งเป็นกระทู้ (http://pantip.com/topic/34112405) หลังจากการตั้งกระทู้แล้ว ก็ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องของหนี้สิน และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจกันเป็นอย่างมาก
อาการ Debt Addiction หรือ “อาการ เสพติดหนี้ ” เป็นอาการที่พบได้เกือบทุกเพศ ทุกวัย (อาจยกเว้นวัยเด็ก) ผู้ที่มีอาการนี้ โดยทั่วไปแล้วมักจะมีอุปนิสัยใช้เงินเก่ง ฟุ่มเฟือย ประมาณว่าเห็นอะไรแล้วก็อยากได้ไปเสียหมด แม้แต่สินค้าบางอย่างที่ซื้อไปแล้วก็ใช้ประโยชน์สำหรับตัวผู้นั้นไม่ได้ แต่ก็ยังจะซื้อด้วยเหตุผลที่ว่า มีการจัดรายการ ลดราคา มีข้อเสนอพิเศษ เป็นต้น ในขณะที่รายรับของตนเองก็ไม่เพียงพอที่จะสนองรายจ่ายในสิ่งที่ตนต้องการได้ สุดท้ายก็จบลงที่การกู้หนี้ยืมสิน และเกิดการยืมไปเรื่อย ๆ ทำให้ตนเองอยู่ในสถานะลูกหนี้อยู่ตลอดเวลา ในบางรายอาจมีรสนิยมที่ถือว่าการใช้บัตรเครดิตนั้นดูโก้กว่าการชำระด้วยเงินสดร่วมด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงอาการ เสพติดหนี้ ก็คือ การมีพฤติกรรมการยืมที่ติดเป็นนิสัย การยืมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเงินเพียงอย่างเดียว ยังรวมไปถึงวัตถุสิ่งของอื่น ๆ ด้วย เช่น เครื่องเขียน หนังสือ ขนม เป็นต้น และเมื่อยืมเงิน หรือสิ่งของดังกล่าวไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำมาคืนได้ พฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดการก่อหนี้ที่ไม่จบไม่สิ้น ในบางราย อาจมีการสร้างหนี้ใหม่ เพื่อลบหนี้เก่าร่วมด้วย โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่า “มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย”
ปัจจัยสำคัญ ที่บ่งบอกถึงอาการเสพติดหนี้ คือ การไม่รับรู้ถึงสภาพทางการเงินของตัวเอง ไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง นำมาซึ่งการบริหารจัดการเงินที่แย่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ไม่มีการออมเงินสำหรับในกรณีฉุกเฉิน หรือสำหรับอนาคต เช่น ตอนเกษียณ ตอนเจ็บป่วย ทำให้เมื่อเกิดมีรายจ่ายพิเศษขึ้นมา มักจะเกิดปัญหาทางการเงินอยู่บ่อย ๆ และในที่สุดก็วนไปหาวัฎจักรเดิม คือ การยืมเงิน ยิ่งในบางรายที่ไม่ทำความเข้าใจกับกระบวนการการยืมเงิน กู้เงิน ทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และข้อกำหนดสัญญาของการเป็นหนี้ ก็ยิ่งเป็นตัวชักนำที่ทำให้เป็นหนี้ไม่รู้จบ
อาการเสพติดหนี้ดังกล่าว นำมาซึ่งผลเสียมากมาย ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง ในเบื้องต้น คือ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ เพราะถ้าไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ ทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่อาจถูกยึดไป ยิ่งในกรณีของหนี้นอกระบบ อาจมีผลต่อความมั่นคงในชีวิตด้วย อย่างในบางกรณีที่หาเงินมาใช้หนี้นอกระบบไม่ได้ และถูกทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินก็มีมาแล้ว และการเสพติดหนี้ ยังกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง โดยผู้ที่มีอาการเสพติดหนี้มักไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย
นอกจากนี้ อาการเสพติดหนี้ ยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมด้วย เพราะเมื่อผู้ที่เป็นหนี้ ไม่สามารถใช้วิธีการสุจริตในการหาเงินมาใช้หนี้ได้ ก็มักจะเริ่มการกระทำความชั่วเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือที่เลวร้ายที่สุด ลูกหนี้บางรายถึงกับฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้ บางรายก็วางแผนฆาตกรรมเจ้าหนี้เพื่อล้างหนี้ ดังที่เคยเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ
ดังจะเห็นได้ว่า การเสพติดหนี้นำมาซึ่งผลเสียต่าง ๆ มากมาย เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลใดเกิดภาวะเสพติดหนี้ขึ้นมา ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วว่า อาการเสพติดหนี้นั้นมีต้นเหตุมาจาก “การยืมเงิน” ดังนั้น จึงต้องเริ่มจากการทำบัญชีหนี้สินก่อน ว่ามีอยู่เท่าใด และคิดดอกเบี้ย และค่าปรับต่าง ๆ รวมเข้าไปด้วย
หลังจากทำบัญชีแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มชำระหนี้ แต่อย่าใช้วิธีการแบบเดิม ๆ คือ การยืมเงินจากที่อื่นมาใช้หนี้ก่อน เพราะนั่นไม่ได้ช่วยให้หนี้ลดลงเลย แต่ยิ่งทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้น วิธีการที่ถูกต้องก็คือ การใช้หนี้ด้วยรายได้ของตนเอง ถึงแม้จะเป็นเงินที่น้อยนิด แต่ก็ช่วยให้หนี้ลดลงได้บ้าง และพยายามติดต่อเจ้าหนี้บ่อย ๆ ในกรณีที่มีรายได้ไม่มากนัก เพื่อที่เจ้าหนี้จะได้หาทางช่วยผ่อนปรน ดีกว่าคอยหลบลี้ หนีหนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะนอกจากจะทำให้หนี้ยิ่งพอกพูนแล้ว ยังทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ด้วย
เมื่อเริ่มดำเนินการใช้หนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับต่อมา ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ก่อนอื่นเลยต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า เวลาซื้อของ ต้องดูที่เงินที่เรามีก่อน แล้วจึงค่อยดูที่สินค้า ว่า “จำเป็น” หรือ “อยากได้” ถ้าเป็นสินค้าที่ “อยากได้” แต่เงินที่มีอยู่นั้นจำเป็นต้องใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ ก่อน ก็คงต้องตัดใจ
และในบางครั้ง เราอาจจะต้องเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิต เช่น เรื่องของรถยนต์ ถ้าหากว่าเราอาศัยอยู่ในย่านที่ไม่ค่อยมีรถผ่านไปมา เป็นชนบท รถยนต์ คือ สิ่งจำเป็น แต่ถ้าอยู่ในย่านที่มีรถประจำทางผ่าน เราอาจจะขายรถ ไปใช้รถประจำทางแทน เพื่อรถภาระค่าใช้จ่ายในหลาย ๆ เรื่อง และลดการทานข้าวนอกบ้าน เที่ยวกลางคืน รวมทั้งยกเลิกบริการหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต เช่น สมาชิกฟิตเนส คลับเฮ้าส์ต่าง ๆ หรือแม้แต่บริการเสียงรอสายในโทรศัพท์มือถือ
อีกประการหนึ่ง คือ ค่านิยมในการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ พึงระลึกไว้เสมอว่า บัตรเครดิตนั้นไม่ใช่เงินของเราเอง เมื่อนำมาใช้ ก็ต้องหาไปคืนเขา แต่ถ้าเป็นเงินสดที่เราถืออยู่ในมือ นี่แหละคือเงินที่เราหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง เพราะฉะนั้น ควรใช้เงินสดในการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ เสมอ เว้นเสียแต่ว่าเป็นสินค้าและบริการที่บังคับให้ต้องซื้อเงินผ่อน จึงค่อยนำบัตรเครดิตมาใช้
การลบภาระหนี้สินภายในบ้าน อาจดูไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไปสำหรับคนแต่ละคน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความพยายาม และความตั้งใจที่จะลบภาระหนี้สินออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าก่อหนี้ขึ้นมามากจนเกินความจำเป็นและพึงระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาง่าย ๆ” และ “การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถลำลึกไปกับภาระหนี้สินจำนวนมหาศาล และจบด้วยอาการเสพติดหนี้ดังกล่าว
อ้างอิง