เงินเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เงินที่ได้มาหากไม่รู้จักบริหารก็นำไปสู่วิกฤติทางการเงินได้ การบริหารหรือวางแผนการเงินนั้น มีหลักง่าย ๆ ที่หลายคนก็ใช้หลักการดังกล่าวในการบริหารเงินของตนเอง วันนี้เรามาดูหลักการง่าย ๆ ในการบริหารการเงินให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและความมั่นคงในจิตใจกัน
1.คงเหลือไว้แต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้น
ค่าใช้จ่ายเป็นตัวการที่ทำให้เงินลดลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหากไม่คิดตัดออก ก็อาจสร้างปัญหาในภายหลังได้ เพราะค่าใช้จ่ายที่สะสมมากขึ้นทุกวันนั่นหมายถึงเงินที่เราจ่ายออกทุกวัน ข้อควรทำคือให้เราทำการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมดให้เหลือใช้จ่ายแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เพียงเท่านี้ชีวิตของคุณจะเบาขึ้นเยอะเลยทีเดียว
2.หาทางเพิ่มรายได้ตามกำลังที่มีอยู่
เมื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว หนทางหนึ่งที่จะทำให้เรารู้สึกมั่นคงได้ นั่นก็คือการหาทางเพิ่มรายได้หรือรายรับในทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้ตามความเหมาะสม เพราะถ้าคิดหารายได้จนเกินตัวเกินกำลังมากเกินไปจนร่างกายทรุดไม่มีเวลาพักผ่อนก็ไม่คุ้มเช่นกัน การหารายได้เพิ่มเป็นหนทางที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้แต่ต้องดูความเหมาะสมกับเวลาและกำลังของร่างกายด้วย
3.บริหารรายได้ด้วยการออมเงิน
เมื่อมีรายได้มีเงินเข้ามา เราจะต้องบริหารเงินรายได้ในส่วนนี้เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความมั่นใจว่าจะมีเงินสำรองไว้ใช้อย่างแน่นอน หลายคนเรียกว่า เงินออม ซึ่งเงินออมมีความสำคัญที่ทุกคนจะละเลยไม่ใส่ใจไม่ได้ เพราะหากคุณไม่มีเงินออมเลย ยามเกิดความเดือดร้อนก็สามารถนำเงินออมมาบรรเทาได้ หรือถ้าไม่มีเหตุไม่คาดฝันใด ๆ คุณสามารถนำเงินออมไปลงทุนให้การเงินงอกเงยขึ้นมาได้ โดยคุณอาจกันเงินไว้ 10% ของรายได้ทุกครั้ง เป็นเงินออมแล้วนำเงินไปฝากธนาคารเก็บไว้ เมื่อคุณมีวินัย คุณจะเห็นว่าเงินออมค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4.เตรียมตัวให้พร้อมในเรื่องของการเสียภาษี
ทุกคนที่มีรายได้ก็ต้องมีหน้าที่ในการเสียภาษีด้วย ดังนั้น คุณก็ต้องมีการวางแผนในการลดหย่อนภาษีให้ครบถ้วน โดยต้องเก็บรายละเอียดของตัวเองให้เป็น เช่น ต้องรู้ว่าตัวเองมีรายได้จากอะไรบ้างและเป็นจำนวนเงินเท่าไร มีค่าใช้จ่ายและมีสิทธิ์หักค่าลดหย่อนอะไรได้บ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองและต่อประเทศชาติที่คุณมีส่วนในการพัฒนาประเทศด้วยการเสียภาษีอากรอย่างถูกต้องครบถ้วน
5.ตรวจสอบการส่งเงินสมทบผู้ประกันตนและนายจ้างให้ครบถ้วน
หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน แน่นอนว่าจะมีเรื่องของการนำส่งเงินประกันสังคม และเงินสมทบประกันสังคมจากนายจ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงควรตรวจสอบจากนายจ้างด้วยว่ามีการส่งเงินสมทบทุกเดือนอย่างครบถ้วนหรือไม่ เพราะเงินประกันสังคมก็ถือเป็นการออมเพื่อลดหย่อนภาษี นอกจากนี้คุณยังได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีจากภาครัฐอีกด้วย
6.เพิ่มเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มอัตรา
โดยทั่วไปแล้วในแต่ละองค์กรจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราขั้นต่ำให้สมทบ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีแต่ถ้าหากเราขอเพิ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มขั้นไปเลย ผลที่ได้รับเมื่อคุณเกษียณ คุณจะได้เงินก้อนโต จนคุณเองก็ยังอดแปลกใจไม่ได้เลยเชียวล่ะ
7.มองหาการซื้อ LTF
หากคุณคิดเรื่องการลดหย่อนภาษี การซื้อ LTF นับเป็นหนทางที่ดีหนทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องวางแผนกันหน่อย เพราะ LTF จะหมดอายุภายในปี 2559 นี้ คำแนะนำคือหากใครมีรายได้ที่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี LTF จะเป็นอีกทางเลือกเพื่อลดหย่อนภาษีที่ดีทีเดียว
8.RMF เงินออมเพื่อการเกษียณ
หลายคนเมินกับ RMF เพราะคิดว่าเป็นเงินออมเพื่อการเกษียณ แต่แท้จริงแล้ว RMF เป็นการฝึกวินัยการออมเป็นอย่างดี นอกจากนี้คุณยังสามารถสับเปลี่ยนเพื่อทำกำไรระหว่างกองทุนได้อีกด้วย นับว่าเป็นการเพิ่มผลตอบแทนแบบทวีคูณ แต่ก็ต้องระวังคำเตือนที่ว่าการลงทุนมีความเสี่ยงด้วย เพราะจากทวีคูณอาจกลายเป็นศูนย์ก็เป็นได้
9.ทำประกันชีวิต
ประกันชีวิตได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิต เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุด หากเกิดอะไรขึ้นกับคุณ จะได้ไม่เป็นภาระของคนข้างหลัง และคุณยังมีความอุ่นใจว่าครอบครัวจะไม่เดือดร้อนหากคุณถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้การทำประกันชีวิตในบางประเภทสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ลองศึกษาข้อมูลการทำประกันชีวิตของแต่ละบริษัทดูแล้วทำการเลือกประกันชีวิตที่เหมาะสมกับคุณที่สุด เพียงเท่านี้คุณก็จะได้รับสิทธิ์จากการเอาประกันแล้วล่ะ
10.ตรวจสอบแผนการเงินอยู่เสมอ
แผนการเงินอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป คุณควรหมั่นตรวจสอบ อัพเดท แผนการเงินของคุณอยู่เสมอ และทำการเปลี่ยนแปลงการลงทุนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์อยู่เสมอ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คุณตั้งไว้
จะเห็นได้ว่ามีวิธีการมากมายในการบริหารการเงินเพื่อให้ชีวิตมั่นคงขึ้น หากคุณนำหลักการดังกล่าวข้างต้นไปใช้ก็เชื่อว่าจะทำให้การเงินของคุณมั่นคงและความรู้สึกในจิตใจจะมั่นคงตามไปด้วย เพราะคุณได้วางแผนและบริหารการเงินในทุกระบบอย่างตั้งใจและลงตัวด้วยความมีวินัย นอกจากนี้คุณควรหมั่นหาความรู้เรื่องการวางแผนหรือการบริหารการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้กังวล ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตนและครอบครัวที่จะพบกับความสุขความสำเร็จจากการบริหารการเงินอย่างแท้จริง