เชื่อว่าในตอนนี้ มนุษย์เงินเดือนและนักลงทุนหลายคน คงจะกำลังประสบกับปัญหาเงินร่อยหรอ รู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จทางการเงิน จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ที่เป็นอย่างนี้ เพราะอะไรกันแน่
เมื่อผู้คนไม่ประสบความสำเร็จในด้านการเงิน แน่นอนที่สุดว่าทุกคนคงต้องหันไปหานักลงทุนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนบนเว็บบอร์ดหรือนักลงทุนที่สามารถพบเห็นตัวได้จริง ๆ เพื่อที่จะไปขอคำแนะนำว่า จะต้องทำอย่างไร และใช้เทคนิคอะไรบ้าง แต่จะมีสักกี่คน ที่พอประสบกับความล้มเหลวทางด้านการเงิน แล้วหันหน้าเข้าหาศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นศาสนาประจำชาติไทย
พอพูดถึงศาสนา พูดถึงวัดขึ้นมา บางคนที่อ่านบทความนี้อยู่ อาจจะส่ายหน้าตั้งแต่เริ่มต้น แล้วก็เกิดคำถามเชิงเยาะขึ้นมาว่า จะให้เอาศาสนามาแก้ปัญหาทางการเงินอย่างไรกัน จะให้เข้าไปนั่งสมาธิจนได้ญาณ แล้วก็เพ่งดูว่าหุ้นตัวนี้ในอนาคตจะขึ้นหรือลงอย่างนั้นเหรอ ขอบอกก่อนว่าอย่าเพิ่งคิดไปถึงขั้นนั้น
อันที่จริง ศาสนาพุทธยังมีคำสอนที่สามารถปรับให้เข้ากับยุค เข้ากับสมัยอยู่อีกมาก เจ้าของเว็บบอร์ดและเพจชื่อดังแห่งหนึ่งถึงกับบอกว่า “พระพุทธศาสนาแม้จะเกิดมาตั้ง 2500 กว่าปีมาแล้ว แต่ก็ต้องชื่นชมว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้ทันสมัย ทรงคิดค้นคำสอนที่อยู่เหนือกาลเวลาขึ้นมา แม้จะผ่านไปกี่ยุค ๆ แต่คำสอนของพระองค์ก็ไม่ได้โบราณคร่ำครึลงไปเลย ตรงกันข้าม มันกลับยิ่งทันยุค ทันสมัยมากขึ้น” สำหรับเรื่องของการเงินเอง พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงให้หลักธรรมไว้บทหนึ่ง ชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ อันมีความหมายว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการอีกชื่อหนึ่งว่า คาถาเศรษฐี
ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคาถาเศรษฐีนี้กัน ว่าแต่ละข้อมีความหมายว่าอย่างไรและจะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ใครที่คิดว่าคาถาเศรษฐีเป็นสิ่งที่ต้องคอยท่อง คอยบูชา จึงจะสำเร็จได้ ขอบอกว่าให้คิดใหม่ แล้วก็ไล่อ่านไปทีละข้อดู
เริ่มจากหลักธรรมข้อแรกของทิฏฐธัมมิกัตถะฯ หรือคาถาเศรษฐีกันก่อน หลักธรรมนี้มีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการเลี้ยงชีวิตก็ดี การศึกษาก็ดี
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ขึ้นไปอีก ก็แปลว่า ให้มีความขยันหมั่นเพียรทั้งในด้านการเรียน การทำงานหาเลี้ยงชีพ ไม่เกียจคร้านต่อกิจกรรมดังกล่าวนั้น หากผู้ใดมีความขยันต่อการทำงาน ย่อมก่อให้เกิดทรัพย์เป็นจำนวนมากและยังเป็นการส่งเสริมให้องค์กรนั้นมีความเจริญก้าวหน้าอีกด้วย เพราะฉะนั้น มนุษย์เงินเดือนคนใดที่รู้ตัวว่า ตนกำลังขี้เกียจ ไม่ค่อยอยากจะทำงาน ขอให้ละความขี้เกียจนั้น แล้วลงมือทำงานซะรับรองว่า ชีวิตของท่านจะเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน
หลักธรรมข้อที่ 2 ของทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็คือ อารักขสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ ไม่ให้สูญเสียไปด้วยประการต่าง ๆ
พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อหาเงินมาได้จากข้อที่ 1 แล้ว ก็ต้องรู้จักเก็บรักษาเงินเอาไว้ให้ได้ อย่าให้ถูกขโมย ทำตกหายหรือเสียหายด้วยภัยต่าง ๆ สำหรับข้อนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะปฏิบัติอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว คงจะไม่มีใครที่พอได้เงินมาแล้ว ก็วางทิ้งเรี่ยราด จนถูกปล้น ถูกขโมยบ่อย ๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้น รับรองได้เลยว่าท่านจะต้องล่มจมในเวลาอันรวดเร็ว
หลักธรรมข้อที่ 3 ในทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็คือ กัลยาณมิตตตา แปลว่า คบคนดี ไม่คบคนชั่ว และปฏิบัติตนเป็นไมตรีกับคนอื่น
ข้อนี้ก็ความหมายตรงตัวอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าการปฏิบัติจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่รักเพื่อน บางทีรู้อยู่ ว่าเพื่อนคนนั้นมันเลว มันปอกลอกเรา พาเราไปในทางเสื่อมเสีย แต่ก็ยังยอมที่จะไปเพียงเพราะรัก หากผู้ใดกำลังเป็นเช่นนี้อยู่ ขอให้ท่านตัดใจและออกห่างจากเพื่อนที่ไม่ดีเหล่านั้นเสียเพื่อที่คนเลว ๆ พวกนั้น จะได้ไม่มาปอกลอกหรือพาเราไปหาความเสื่อมอีก หากทำได้เช่นนี้ รับรองว่า ชีวิตของท่านจะมีแต่ความเจริญ
ทิฏฐธัมมิกัตถะข้อสุดท้าย คือ สมชีวิตา แปลว่า อยู่อย่างพอเพียง เลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ทำตัวเองให้ฝืดเคืองโดยไม่จำเป็น
ข้อนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คน ที่เห็นอะไรก็อยากได้ เห็นอะไรก็อยากทำ ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ โดยที่ไม่ได้ดูเงินในกระเป๋าของตัวเอง กับอีกประเภทหนึ่งคือมีเงินมาก แต่ใช้ชีวิตอย่างอด ๆ อยาก ๆ เพราะกลัวว่าเงินที่หามาได้จะหมดไป หากใครที่กำลังเป็นอย่างนี้อยู่ ขอให้เลิกเสีย แล้วหันมาดูเงินในกระเป๋าตัวเองก่อน จากนั้นลองคิดทบทวนดู ว่าพฤติกรรมการใช้เงินของเรานี้มันถูกแน่หรือ แล้วก็ปรับเปลี่ยนเสียใหม่ อย่าปล่อยให้มีพฤติกรรมอย่างนี้ต่อไปนาน ๆ เพราะชีวิตของท่านอาจจะลำบากในบั้นปลาย ไม่มีเงินเก็บได้ หรือถ้าเป็นอย่างหลัง ก็จะกลายเป็นการเพาะบ่มนิสัยขี้งก ขี้เหนียว ซึ่งจัดว่าเป็นนิสัยที่ไม่ดีเลย พยายามใช้เงินให้พอเหมาะกับฐานะของตัวเองจะดีกว่า รับรองว่า ชีวิตของท่านจะดีขึ้นอย่างสัมผัสได้เลยทีเดียว
ทั้ง 4 ข้อที่ว่ามานี้ ก็คือ หลักธรรมเรื่อง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เห็นไหมว่า แม้หลักธรรมนี้จะอยู่มากว่า 2500 ปีแล้ว แต่ก็ไม่เป็นสิ่งที่คร่ำครึล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตได้อย่างง่าย ๆ เพราะฉะนั้น มนุษย์เงินเดือนคนใดที่กำลังประสบกับปัญหาเรื่องเงินอยู่ ลองกลับมาพิจารณาหลักธรรมนี้แล้วปฏิบัติตามดู รับรองว่าปัญหาทางการเงินของท่านจะหายไปในพริบตาทีเดียว