คืนรถ ผ่อนต่อไม่ไหว จบหนี้จริงหรือ ต้องจ่ายอะไรเพิ่มเติมไหม
การมีรถยนต์ส่วนตัวเป็นความต้องการของคนจำนวนไม่น้อย แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด การกู้สินเชื่อรถจากสถาบันการเงินจึงเป็นทางเลือกที่นิยมสำหรับการเป็นเจ้าของรถคันใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเงื่อนไขทางการเงินเปลี่ยนแปลงไป สภาพทางการเงินติดขัด มีหนี้เกินตัว การผ่อนชำระค่างวดอาจกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง หลายคนจึงมีข้อสงสัยว่าจะสามารถบอกเลิกสัญญากับธนาคาร และให้นำรถกลับคืนไปได้หรือไม่ แล้วคืนรถ ผ่อนต่อไม่ไหว จบหนี้จริงหรือ ในบทความนี้เรามีคำตอบ
สินเชื่อรถยนต์ คืออะไร?
ก่อนอื่น จำเป็นต้องเข้าใจถึงลักษณะของสัญญาสินเชื่อรถยนต์ โดยทั่วไป ธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินค่ารถให้แก่ผู้ขายก่อน และผู้กู้เป็นฝ่ายชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคารเป็นรายงวดตามระยะเวลาที่ตกลงกัน หากผู้กู้ขาดการผ่อนชำระติดต่อกันเกินกว่า 3 งวด โดยปราศจากการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถือว่าเป็นการผิดสัญญา ทางธนาคารมีสิทธิ์ดำเนินการยึดรถเพื่อนำไปขายทอดตลาดต่อไป
เมื่อธนาคารนำรถไปขายทอดตลาดแล้ว จะมีการนำรายได้ที่ได้รับมาหักกลบกับจำนวนหนี้ค้างชำระที่เหลืออยู่ หากรายได้จากการขายรถสูงกว่ายอดหนี้คงค้าง ธนาคารจะคืนส่วนต่างให้แก่ผู้กู้ แต่หากต่ำกว่า ผู้กู้ยังคงต้องชำระส่วนที่เหลือจนครบถ้วน
คืนรถ ผ่อนต่อไม่ไหว จบหนี้จริงหรือ
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน หากผู้กู้มียอดหนี้คงค้างอยู่ 1 ล้านบาท แต่ธนาคารสามารถขายรถได้เพียง 8 แสนบาท ผู้กู้จะต้องจ่ายเงินจำนวน 2 แสนบาท เพื่อชำระหนี้ที่เหลือให้ครบถ้วน ในทางกลับกัน หากธนาคารขายรถได้ 1.2 ล้านบาท เงินส่วนเกิน 2 แสนบาทจะถูกคืนกลับไปยังผู้กู้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการให้ธนาคารนำรถกลับไปขายทอดตลาดนั้นไม่ได้เป็นการปลดหนี้ได้โดยสิ้นเชิง ผู้กู้ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ หากราคาขายรถต่ำกว่ายอดหนี้ค้างชำระ นอกจากนี้ยังถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประวัติเครดิตและอาจทำให้เสียโอกาสในการกู้ยืมเงินในอนาคตได้
ผ่อนรถต่อไม่ไหว ทำยังไงดี
แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เริ่มประสบปัญหาในการผ่อนชำระ คือการปรึกษาหารือกับธนาคารเพื่อขอการผ่อนผันหรือปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้หนี้ค้างชำระเกิน 3 งวด เนื่องจากธนาคารต่างมีมาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ ลดจำนวนค่างวดในแต่ละเดือน หรือการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้กู้ยังคงสามารถใช้รถได้ตามปกติและไม่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถจัดการกับภาระหนี้สินได้ ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือ การนำรถไปรีไฟแนนซ์กับบริษัทอื่น เช่น TTB Drive, Car4Cash หรือ เงินติดล้อ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดจำนวนค่างวดรายเดือนลง สร้างสภาพคล่องทางการเงิน แต่ผู้กู้ควรพิจารณาเงื่อนไขและดอกเบี้ยเปรียบเทียบให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
สรุปคือหากเลือกคืนรถจะช่วยจบหนี้จริงหรือ คำตอบคือ ไม่เสมอไป เพราะหากขายทอดตลอดแล้วยังมีเงินค้างชำระ เราก็ยังต้อง่ายส่วนต่างนั้นให้ธนาคาร แนะนำให้คนที่เริ่มรู้ตัวว่าผ่อนรถไม่ไหว ให้ติดต่อเจรจากับธนาคารตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เราสามารถผ่อนรถต่อไปได้ มีสภาพคล่องมากขึ้น ที่สำคัญไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประวัติเครดิตและความสามารถในการกู้ยืมในอนาคต