E-Book เล่มนี้เป็นหนังสือที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นคู่มือในการแนะแนวทางง่าย ๆ ที่เราจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการการเงินของเราให้ดี โดยที่ไม่ต้องเป็นหนี้หรือสำหรับคนที่เป็นหนี้ก็จะได้รู้วิธีในการที่จะหลุดพ้นจากวงจรแห่งหนี้ สร้างความแข็งแรงทางการเงินเพื่อสร้างความสุขให้กับชีวิตของเราต่อไป
ที่หน้าแรก ๆ จะเป็นหน้าที่เราให้วางแผนเป้าหมายการเงินซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนการเงินของทุกคนเป็นหน้าที่ชื่อว่า “เป้าหมายทางการเงินของฉัน” ฉันจะเก็บให้ได้เท่าไหร่ในระยะเวลากี่ปี ปีนี้ฉันจะเก็บเงินเพื่อเป้าหมายของฉันทั้งหมดเท่าไหร่ คิดเฉลี่ยเป็นรายเดือนต้องเก็บเดือนละเท่าไหร่และคิดเฉลี่ยเป็นรายวันแล้วต้องเก็บวันละเท่าไหร่
เนื้อหาภายในเล่มมีแบบทดสอบสุขภาพทางการเงินที่เมื่อเราได้ลองทำเห็นคะแนนแล้วจะทำให้เรารู้ว่าสุขภาพการเงินของเรานั้นดี ปานกลางหรืออ่อนแอและมีหัวข้อการวางแผนทางการเงินอื่น ๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์อย่างมากหากใครจะได้อ่านและนำไปปฏิบัติตาม เช่น กฎเหล็ก 5 ประการ ฉลาดซื้อฉลาดใช้, ใช้บัตรเครดิต ไม่ให้ติดกับดัก, ผ่อนหนี้เท่าไหร่ ไม่หนักเกินไป, ลงทุนถูกที่ ความมั่งมีงอกงาม, 7 เคล็ดลับ เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีและหัวข้ออื่น ๆ อีกมากมาย
ในเล่มนอกจากจะมีเนื้อหาที่มีประโยชน์แล้ว หนังสือยังมีสีสันและแทรกรูปภาพน่ารักช่วยให้อ่านง่าย สบายตาขึ้น บทความเราได้นำเนื้อหาที่น่าสนใจในบางหัวข้อมาลงไว้ให้อ่านกัน สำหรับใครที่อยากดาวน์โหลดฉบับเต็มก็สามารถเข้าไปได้ >> ที่นี่ <<
ใช้บัตรเครดิต ไม่ให้ติดกับดัก
บัตรเครดิตมีข้อดีคือทำให้เราซื้อของก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลังได้ ตอนรูดก็ต้องบอกว่ามันส์ แต่ตอนจ่ายคืนก็ต้องบอกว่ามึน ถ้าใช้แล้วไม่รู้จักวางแผนบัตรเครดิตก็จะตามมาด้วยหนี้เป็นของแถม ถ้าใครไม่อยากตกในสภาพเป็นหนี้ก็ต้องระมัดระวังในการใช้บัตรเครดิต โดยให้ยึดเทคนิคตามนี้
- อย่ารูดบัตร ถ้าไม่มีเงินจ่าย ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายคืนยอดที่เรารูดไป ก็อย่าได้รูดบัตรเด็ดขาด คิดให้ดีทุกครั้งก่อนรูด
- จ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลา ต้องทำตามนี้เท่านั้น จึงจะไม่มีหนี้ค้างชำระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงลิ่ว ซึ่งเป็นต้นตอของการตกอยู่ในวังวนแห่งหนี้
- อย่ามีบัตรเครดิตเกิน 2 ใบ ยิ่งมีบัตรเยอะก็ยิ่งมีโอกาสรูดมาก วงเงินมากขึ้นก็ใช้มากขึ้นเป็นการป้องกันการใช้จ่ายเกินรายได้ของเรา
- เลือกใช้บัตรเครดิตที่ตรงตามไลฟ์สไตล์ เพื่อเป็นการใช้บัตรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด
- ตรวจเช็คใบแจ้งหนี้ทุกครั้ง การดูเพียงแค่ยอดรวมและวันครบกำหนดชำระจะทำให้เราไม่รู้รายละเอียดว่าเราจ่ายอะไรไปบ้าง เหมาะสมหรือไม่อย่างไร เทคนิคคือให้ไล่ดูทุกรายการอย่างละเอียด
- กำหนดกรอบการใช้บัตรเครดิต ไม่ใช้ใช้ให้เต็มวงเงิน เพราะบัตรเครดิตส่วนใหญ่จะให้วงเงินมากถึง 1-2 เท่าของรายได้ ถ้าใช้จนเต็มก็แย่แน่ กำหนดไว้ว่ายอดบัตรเครดิตจะไม่เกิน 20% ของรายได้ต่อเดือนเท่านั้น และต้องจ่ายคืนก่อนถึงจะรูดใหม่ได้ เป็นต้น
ผ่อนหนี้เท่าไหร่ ไม่หนักเกินไป
ยุคสมัยปัจจุบันบางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็นหนี้ การที่ใครจะหนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเสียหายรุนแรง เพียงแต่เราต้องรู้จักควบคุมให้จำนวนหนี้นั้นพอดีกับรายได้ที่เราจะสามารถจ่ายคืนได้โดยที่ไม่ต้องเดือดร้อน มาลองดูตัวเลขของจำนวนหนี้ที่เหมาะสมของหนี้แต่ละประเภทกันว่าควรจะเป็นเท่าไหร่
- หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสดและบัตรผ่อนสินค้า รวมอยู่ในหมวดนี้ด้วย หนี้ส่วนนี้ไม่ควรให้เกิน 10-20% ของรายได้ต่อเดือน
- หนี้ผ่อนบ้าน ไม่ควรผ่อนเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน ยกเว้นว่าไม่ภาระหนี้อื่น ๆ ผ่อนบ้านอย่างเดียว เงินผ่อนต่อเดือนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของรายได้ต่อเดือนได้
- หนี้ผ่อนรถ ค่างวดผ่อนรถยนต์ไม่ควรเกิน 20% ของรายได้ต่อเดือน
- หนี้รวม สำหรับคนที่มีหนี้หลายอย่าง ทั้งหนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต เมื่อรวมหนี้ทั้งหมดแล้ว ไม่ควรเกิน 50% ของรายได้ต่อเดือน เพราอย่าลืมว่าต้องเผื่อเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ ด้วย
7 เคล็ดลับเพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี
เนื้อหาช่วงสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ได้บอกถึงเคล็ดลับเพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี ที่เรานำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้ในทุก ๆ วัน เพื่อชีวิตการเงินที่มีความสุข
- ออมเงินอย่างจริงจัง โดยเลือกออมเงินให้พอดีกับรายได้และค่าใช้จ่าย ออมก่อนใช้ทีหลังเท่านั้น
- คิดทุกครั้งก่อนซื้อ ว่ามันจำเป็น หรือเราแค่อยากได้ ดูว่าซื้อแล้วคุ้มค่าหรือไม่
- เผื่อเงินสดไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเป็นเงินสำรองประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน
- จดบันทึกรายรับรายจ่าย การจดบันทึกเท่านั้นที่เป็นการที่เราได้ทบทวนว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น
- มุ่งมั่นในการจ่ายหนี้ หนี้ถ้าอยู่กับเราไปนาน ๆ เราก็จะเหนื่อยและหมดกำลังใจ เมื่อเป็นหนี้แล้วให้รีบใช้หนี้โดยเร็วที่สุด ตั้งใจและมุ่งมั่น เมื่อหนี้หมดความสุขทางการเงินก็อยู่ไม่ไกล
- หารายได้เพิ่ม การมีรายได้จากหลายทางก็เป็นอีกช่องทางที่จะทำให้สุขภาพทางการเงินของเราดีขึ้น เพราะเป้าหมายในการออมเงินก็จะมาถึงได้เร็ว ลองเลือกหาสิ่งที่ตัวเองชอบหรือถนัดและสามารถใช้เพื่อสร้างรายได้ให้กับเราได้ด้วย
- ลงทุนให้เงินทำงาน อย่าเพียงแค่เก็บหรืออมเงินเพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักหาความรู้เพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างผลตอบแทนที่หลากหลายให้เราได้ด้วย เมื่อเวลาผ่านไปเงินก้อนนั้นก็จะให้ผลตอบแทนที่งอกเงยให้กับเราได้ด้วย
ต้องบอกว่า E-Book เล่มนี้มีประโยชน์มากค่ะ เนื้อหาครอบคลุมเรื่องวางแผนจัดการการเงินทุกอย่าง มีตัวอย่างของการจดบันทึกรายรับรายจ่าย มีการสอนวิธีดูงบดุลการเงินส่วนตัวและมีการแนะแนวทางวิธีการเก็บออม และการจัดการกับหนี้อย่างลงตัว เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญเราจึงต้องอ่านและทบทวนกันบ่อย ๆ ค่ะ