ธุรกิจ E – Commerce เริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร และผู้คนเริ่มมีช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการบน Internet ได้มากขึ้น ผู้ประกอบการหลายคนเริ่มขยับขยายธุรกิจของตัวเองจากหน้าร้านเข้าสู่ระบบออนไลน์ ในขณะที่เจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนมากมีหน้าร้านเฉพาะออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะ E – Commerce เอื้อประโยชน์หลายอย่างต่อธุรกิจของพวกเขา
อ่านเพิ่มเติม >> เจาะโอกาสและความเสี่ยง ธุรกิจ E-Commerce ปี 2559 <<
การทำธุรกิจ E- Commerce มีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการเข้าสู่ตลาด เพราะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนหน้าร้าน ค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงาน นอกจากนี้ยังสามารถเปิดขายได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาปิดร้าน และสามารถขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอีกมาก จากในประเทศเป็นทั่วโลก สิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจ E- Commerce ในไทยขยายตัวขึ้นได้มากกว่าเดิมคือโครงข่ายการสื่อสารด้านโทรคมนาคมมีการพัฒนามากขึ้น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่าง ๆ ได้เร่งขยายโครงข่ายและเพิ่มบริการที่ทำให้การสื่อสารข้อมูลผ่านทาง Internet ทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วกว่าเดิม ในขณะที่สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลบน Internet ได้ก็ราคาที่ถูกลง ทั้งยังมาพร้อมประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นในการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยโปรโมชั่นในการจำหน่ายที่น่าสนใจจากผู้ผลิตทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ง่าย จนทำให้ตลาด E- Commerce มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ถึงแนวโน้มตลาดสมาร์ทโฟนมีการขยายตัวมากขึ้นประมาณร้อยละ 3.6 ถึง 4.9 โดยส่วนใหญ่จะผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนเป็นหลักซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ บวกกับเทคโนโลยี 4G ที่มีความเร็วและมีเสถียรภาพในการทำงานสูง ทำให้การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ทำได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่หลายคนยังเริ่มใช้จากมือถือเป็นที่แรกก่อนคอมพิวเตอร์
ดังนั้นทิศทางของ E-Commerce ในปี 2559 จึงถือว่าเป็นยุคทองของการทำธุรกิจการค้าบนมือถือหรือ M- Commerce ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านออนไลน์ต้องมีการปรับเว็บไซต์ของตนเองสามารถรองรับการทำงานบนมือถือ เพื่อให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดรูปภาพของสินค้าและข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในรูปมัลติมีเดียต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น
มีการค้นคว้าวิจัยพบว่าการ E – Commerce ที่มีซื้อขายผ่านสมาร์ทโฟนหรือ M-Commerce นั้น ลูกค้ามักทำการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ในรูปแบบ Mobile Version มากกว่า Application เพราะมีความยุ่งยากน้อยกว่า เพราะการซื้อขายผ่าน App จะต้องทำการดาวน์โหลดตัว Application เข้ามาไว้ในเครื่องเสียก่อนซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ลูกค้าหลายรายมองว่ายุ่งยาก และหลายคนใช้ Application จริง ๆ แค่ไม่กี่ตัว ดังนั้นผู้ประกอบการ E – Commerce อาจจะต้องปรับรูปแบบหน้าร้านบนมือถือของตัวเองให้มีความเหมาะสม
แนวโน้มต่อมาของตลาด E-Commerce ในปี 2559 ก็คือเน้นความเป็น Niche Market หรือตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
จากเดิมที่ร้านค้าออนไลน์มักจะอยู่ในรูปแบบของร้านขนาดใหญ่ที่รวมสินค้าทุก ๆอย่างเอาไว้ด้วยกัน (Mass Market) ซึ่งมีการแข่งขันที่สูงมาก ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความได้เปรียบเพราะการผลิตสินค้าทีละมาก ๆ ทำให้มีราคาถูกกว่าและสามารถขายได้ในราคาต่ำกว่าผู้ประกอบการรายย่อย แต่ในปัจจุบันที่ผู้คนมีแนวโน้มซื้อของที่ตนเองต้องการมากกว่าของที่มีความจำเป็น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะอย่างของตนเองได้อย่างเช่น เสื้อผ้าสำหรับคนอ้วน รองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ อาหารออร์แกนิคปลอดสารพิษ เป็นต้น สินค้าในกลุ่ม Niche เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตของคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความต้องการหรือรสนิยมคล้าย ๆ กัน ซึ่งมองจากภาพของ Mass Market คนกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีความต้องการและกำลังซื้อไม่แพ้คนกลุ่มใหญ่ ผู้ประกอบการ E – Commerce ที่สามารถจับตลาดกลุ่มนี้ได้จึงมีโอกาสทำเงินได้อีกมาก
นอกจากนี้การแข่งขันในตลาด Niche Market ยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดใหญ่จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น และในปัจจุบันมีเครื่องมือในการทำตลาดที่สามารถกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำอย่างเช่น เครื่องมือโฆษณาของ Google และ Facebook ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้การโฆษณารูปแบบเดิมที่นำเสนอ แต่ตัวสินค้าเริ่มไม่เป็นที่สนใจ เพราะคนนิยมการหาข้อมูลและรีวิวจากบล็อกหรือวีดีโอมากกว่า ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาช่องทางในการนำเสนอสินค้าและบริการแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
การทำตลาดในปี พ.ศ. 2559 ของ E – Commerce มีแนวโน้มแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากกว่าเดิม เพราะการขยายตัวเข้ามาของผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคอย่างแบรนด์ Alibaba จากจีน รวมถึงการลงทุนจาก E -Commerce เจ้าใหญ่ ผู้ประกอบการรายเล็กภายในประเทศจึงอาจจะต้องปรับธุรกิจของตนให้มีความแข็งแรง และอาจจะหันไปเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม Niche Market ให้มากขึ้น นอกจากนี้การแข่งขันของบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารและจัดส่งสินค้าที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งของไปรษณีย์ไทย จึงเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเลือกบริการขนส่งที่เหมาะกับสินค้าของตนเองและมีประสิทธิภาพในการส่งของมากขึ้นกว่าเดิม
มีการคาดการณ์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า แนวโน้มการเจริญเติบโตของตลาด E – Commerce ไทยในปี พ.ศ.2559 จะมีการขยายตัว ประมาณ 15-20 % จากปี .ศ. 2558 หรือประมาณ 230,000 – 240,000 ล้านบาท จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตนเองเพื่อแข่งขันในตลาดที่กำลังขยายตัวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพิ่มเติม : บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ แคชแบ็ก ยิ่งใช้ ยิ่งได้เงิน