อายุของคนไทยโดยเฉลี่ยที่มักจะเกษียณจากการทำงานกันจะอยู่ที่ 60 ปี โดยประมาณ ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจก็จะกำหนดอายุเกษียณราชการกันไว้ที่ 60 ปีนี้ด้วย บริษัทเอกชนก็เช่นเดียวกันกำหนดอายุเกษียณของพนักงานไว้ที่ 60 ปี หรือบริษัทบางแห่งอาจกำหนดไว้ที่ 55 ปีก็มีให้เห็นบ้างเช่นกัน สำหรับข้าราชการนั้นหากต้องการได้รับสวัสดิการหลังจากการเกษียณ เช่น เงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญก็จะต้องทำงานให้ถึงวัยเกษียณกัน ส่วนพนักงานบริษัทเอกชนก็เช่นเดียวกัน หากอยู่ทำงานจนถึงวัยเกษียณ แม้ไม่ได้มีเงินบำนาญเหมือนข้าราชการ แต่บางบริษัทก็ให้เงินก้อนชดเชยเป็นเงินหลังเกษียณด้วย จึงทำให้หลายคนพยายามทำงานให้ถึงวัยเกษียณเพื่อที่จะได้รับเงินสวัสดิการนั้น
อ่านเพิ่มเติม : จุดเด่น – จุดด้อย ทำงานบริษัทเอกชน VS รับราชการ
ส่วนคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ทำงานอิสระ การเลือกเกษียณจากการทำงานก็มีความเป็นอิสระกว่า
คือไม่ได้มีเงินสวัสดิการมาคอยบังคับอยู่ แต่เป็นการวางแผนของเราเองมากกว่าว่าเราอยากจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ หากอายุ 60 ปีแล้วยังแข็งแรง ยังอยากทำงานอยู่ ก็สามารถทำงานต่อไปได้ หรือหากอายุ 50 หรือ 55 ปี แต่มีเงินเพียงพอแล้ว อยากเลิกทำงานหรือส่งต่อธุรกิจให้รุ่นลูก ตัวเองอยากเกษียณเร็วเพื่อจะได้พักผ่อน ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่ชอบในขณะที่ยังแข็งแรงดีอยู่ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
กลับมาพูดถึงอาชีพข้าราชการกันสักเล็กน้อย คนที่ทำอาชีพข้าราชการที่เขาบอกกันว่ามีความมั่นคงในระยะยาวก็เนื่องจาก 2 เหตุผลด้วยกัน
หนึ่งคือความมั่นคงจากการทำงาน ถ้าเราไม่มีเหตุทำผิดร้ายแรงอะไร ก็สามารถทำงานรับราชการต่อไปได้เรื่อย ๆ โอกาสในการที่จะถูกเลิกจ้างก็แทบจะไม่มี ไม่เหมือนกับบริษัทเอกชนที่ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน หากเศรษฐกิจไม่ดีพนักงานก็มีสิทธิ์ถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ สองก็เป็นเหตุผลเรื่องสวัสดิการหลังเกษียณของข้าราชการที่ทำให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง เพราะเมื่อเกษียณไม่ได้ทำงานแล้ว มีสิทธิ์เลือกรับบำเหน็จเป็นเงินก้อนหรือบำนาญเป็นเงินรายเดือนอีกด้วย ข้าราชการส่วนใหญ่จึงมักอยู่ทำงานกันจนถึงวัยเกษียณ ไม่ค่อยจะเห็นมีใครเกษียณก่อนกำหนด แต่ก็มีให้เห็นเช่นกันบางกระทรวง ทบวง กรมที่จะมีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดออกมาให้ข้าราชการสมัครใจสมัครเข้าโครงการ หรือที่เราเรียกกันว่า Early Retirement
ส่วนคนที่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนนั้น การเกษียณก่อนกำหนดเป็นไปได้ 2 รูปแบบด้วยกัน
หนึ่งคือการเกษียณก่อนกำหนดโดยบริษัท มีเช่นกันที่บางบริษัทมีโครงการให้พนักงานสมัครใจเพื่อเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งในกรณีนี้บริษัทก็จะมีเป็นเงินก้อนชดเชยให้ สองคือการเกษียณก่อนกำหนดที่เป็นการตัดสินใจของพนักงานเอง หากตัดสินใจเองแบบนี้ก็เหมือนเป็นการลาออกจากบริษัทก่อนถึงอายุเกษียณ ในกรณีแบบนี้ก็มีหลายคนทำเช่นกัน เนื่องจากมีการวางแผนทางการเงิน วางแผนเกษียณของตัวเองไว้อยู่แล้ว ตลอดอายุการทำงานที่ผ่านมา ทำให้ไม่ต้องรอจนถึงอายุ 60 ปี ก็สามารถเลือกเกษียณก่อนเองได้
หากการเกษียณก่อนกำหนดนั้นเป็นโครงการของรัฐบาลหรือของบริษัทเอกชนที่เปิดให้พนักงานสมัครเข้ามา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับลดกำลังคนลงและต้องการวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายของพนักงานในระยะยาว รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนก็มักจะต้องกำหนดรูปแบบของการจ่ายเงินค่าชดเชยในกรณีเกษียณอายุก่อนกำหนดนี้ไว้ด้วย โดยมากมักจะใช้เงินเดือนหรือรายได้ในปัจจุบันคูณด้วยระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา หากใครทำงานมานานก็จะได้รับเงินชดเชยมาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกระทรวง ทบวง กรมหรือบริษัทเอกชนนั้น ๆ ด้วย
การจะสมัครเข้าร่วมในโครงการเกษียณก่อนกำหนดหรือการจะเลือกเกษียณอายุก่อนกำหนดด้วยตัวเองนั้น เราต้องวางแผนหรือคิดพิจารณาให้ดีเสียก่อน หากเราตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มทำงานแล้วว่าเราไม่อยากทำงานไปจนอายุ 60 ปี อยากเกษียณก่อนกำหนดเพื่อที่จะได้มีเวลาทำอะไรที่เราอยากทำ อยากไปเที่ยวพักผ่อนหรือทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่กับบ้าน การวางแผนสำหรับการเกษียณก่อนกำหนดที่จริงแล้วก็เหมือนกับการวางแผนเกษียณอายุแบบปกติ เพียงแต่ระยะเวลาในการทำงานที่เรามีรายได้นั้นสั้นลง เพราะเราเลือกเกษียณอายุก่อน ดังนั้นเวลาก่อนหน้านั้นที่เราต้องวางแผน เก็บออมเงินและลงทุนก็ต้องทำมากกว่าคนอื่น ต้องมากกว่าคนอื่นมากเลยนะคะ เพื่อให้เราเกษียณได้เร็วขึ้น
ส่วนการสมัครเข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนดนั้น ก่อนสมัครเราก็ควรต้องพิจารณาให้ดีเช่นกัน เช่น ตอนนั้นเรามีอายุเท่าไหร่แล้ว เงินก้อนที่ได้เราสามารถใช้ไปได้อีกกี่ปีหากไม่มีรายได้จากการทำงานเข้ามาอีกหรือเรายังมีความสามารถในการไปสมัครงานใหม่ที่อื่นได้หรือไม่ เพราะเมื่อเกษียณออกมาแล้ว สวัสดิการต่าง ๆ ที่เราเคยได้รับในขณะที่เราทำงานอยู่ก็ต้องถูกยุติไปด้วย แต่ก็มีหลายคนที่สามารถทำงานได้เก่งซึ่งแม้อายุจะมากแล้วแต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่น ๆ การเลือกสมัครเข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนดเพื่อได้เงินก้อนมาแล้วยังสามารถหางานที่อื่นทำเพื่อให้มีรายได้ต่อไปจนถึงเกษียณได้นั้น หากทำได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีทีเดียวค่ะ
มีเรื่องที่จะต้องคิดอีกเล็กน้อยสำหรับเรื่องของการเกษียณก่อนกำหนด ก็คือเรื่องของการใช้เวลา การไม่ได้เข้าสังคม ไม่ได้ทำงาน เป็นช่วงเวลาที่เราต้องปรับตัวเหมือนกันค่ะ เพราะมีคนที่เกษียณหรือเลือกเกษียณก่อนกำหนดบางคนที่เมื่อตัดสินใจไปแล้ว กลับมานั่งเสียใจว่าที่จริงแล้วไปทำงานทุกวันยังดีเสียกว่า เพราะได้ออกจากบ้าน ใช้สมองทำงาน พบเจอผู้คน ได้พูดคุย ชีวิตหลังเกษียณของหลายคนก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้ก็มีค่ะ เพื่อนในวัยเดียวกันของเราบางคนก็ยังทำงานอยู่ เมื่อจะชวนไปไหนบางทีก็ไปด้วยกันไม่ได้ คือเกษียณแล้วเหงาเลยค่ะ แม้จะมีเงินทองพอใช้ก็ตาม
เรื่องเกษียณก่อนกำหนดเป็นเรื่องที่ดีนะคะ หากเราได้วางแผนไว้ก่อน ทั้งเรื่องเงิน เวลา และการใช้ชีวิต ทำให้เรามีโอกาสในการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เราอยากเป็น เช่น ใช้ชีวิตแบบ slow life บ้าง เดินทางท่องเที่ยวบ้างในขณะที่เรายังมีสุขภาพที่ดีอยู่ แต่ทั้งนี้อย่างที่บอกไว้ค่ะ ว่าเราต้องวางแผนให้ดีมาก ๆ และต้องคิดพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อน เพราะหากเลือกเกษียณก่อนกำหนด การจะกลับเข้าไปทำงานใหม่ในขณะที่เรามีอายุมากแล้วนั้นก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ