เงินเยียวยา แผ่นดินไหว กทม. ซ่อมบ้าน-คอนโดละ 49,500 บาท มีเงื่อนไขยังไงบ้าง?
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่มีจุดศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ได้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยในหลายจังหวัด ซึ่งดูเหมือนว่าทั่วทั้งกรุงเทพฯ ได้รับผลกันถ้วนหน้า ล่าสุดทาง กทม. จึงออกเงื่อนไขรับเงินเยียวยา-ช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
เงื่อนไขรับเงินเยียวยา แผ่นดินไหว พื้นที่กรุงเทพฯ
- บ้านเรือนที่พักอาศัยประจำ ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
- ต้องเป็นบ้านที่อาศัยอยู่ประจำ และต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ทางสำนักงานเขตออกให้เป็นหลักฐาน ได้แก่ ทะเบียนบ้าน, บ้านเช่า ผู้เช่าเป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ รวมถึงที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ซึ่งประสบภัยเช่น บ้านพักอาศัยอยู่เป็นประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน
เงินเยียวยา แผ่นดินไหว ช่วยค่าอะไรบ้าง?
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ตามรายการดังต่อไปนี้
- ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท
- ค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้าน จ่ายเฉพาะอาคารที่ กทม. ประกาศระงับการใช้ และไม่ได้เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่ กทม. จัดสรรเป็นเงินค่าเช่าบ้าน เดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท
- ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิต รายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัย เสียชีวิต (เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละ ไม่เกิน 29,700 บาท)
- ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ตามใบรับรองแพทย์ กรณีบาดเจ็บสาหัส ช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นเงิน 4,000 บาท กรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการ ช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นเงิน 13,300 บาท
- เงินปลอบขวัญ ตามใบรับรองแพทย์ กรณีได้รับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัย รายละ 2,300 บาท
- เงินทุนประกอบอาชีพ ช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
ลงทะเบียนรับเงินเยียวยายังไง?
- ดาวน์โหลดแบบคำร้อง ที่เว็บไซต์สำนักงานเขต หรือเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร
- ยื่นเอกสาร คำร้อง และหลักฐาน ที่ฝ่ายปกครองสำนักงานเขต พร้อมให้ข้อเท็จจริง
เอกสารที่ต้องเตรียม
- แบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัย
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ยังไม่หมดอายุ) กรณีผู้ไม่มีสัญชาติไทย ใช้สำเนาพาสปอร์ต (PASSPORT)
- สำเนาทะเบียนบ้าน (เป็นปัจจุบัน)
- สำเนาโฉนดที่ดิน (ต้องระบุชื่อเจ้าบ้าน/เจ้าของบ้าน) หรือแบบคำรับรอง (แทนโฉนดที่ดิน)
- สำเนาใบ อช. 2 (โฉนดคอนโด)
- สำเนาบันทึกประจำวัน (ตร.) จากสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ
- หนังสือรับรองผู้ประสบภัย และบัญชีความเสียหายแนบท้ายฯ (แบบ บ.ส. 3)
- บันทึก (ป.ค. 14) ใช้ในกรณีที่เอกสารที่ยื่นยังไม่ชัดเจนหรือเพียงพอว่าเป็นผู้ประสบภัยและได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว
- เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแชมที่พักอาศัยฯ
- รูปภาพความเสียหาย
อ้างอิง: https://pr-bangkok.com/?p=479920