อยากจะรวย อยากจะมีเงินออม อยากให้ภาวการณ์เงินเติบโตกว่านี้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักจะบ่นเรื่องนี้ แต่กี่ปีๆก็ไม่รวยสักที ไอเดียที่ทำให้เงินงอกเงยก็มีบ้าง แต่ไม่เคยเอามาใช้ได้จริงสักที ก็เพราะสิ้นเดือนมามันไม่เหลือให้เอาไปต่อยอดเลยน่ะสิ! แบบนี้จะทำยังไง? มา วางแผนการเงินง่ายๆ ง่ายๆ รวยได้ด้วยวินัยในตัวเองกันเถอะ
การวางแผนการเงินคืออะไร?
คือการเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต จัดระบบการจัดการรายได้ค่าใช้จ่ายอย่างมีแบบแผนและมีวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ และปลูกฝังลูกหลานตั้งแต่เด็กให้มีวินัยในการออม และสำหรับในวัยทำงาน ก็คือการจัดสรรการเงินของตนเอง เพื่อให้มีกินมีใช้ มีความมั่นคงแม้ในตอนเกษียณอายุ ดังนั้นการวางแผนทางการเงิน จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญมากสำหรับสุขภาพทางการเงินที่ดี
ความมั่งคั่งคืออะไร?
คุณเคยได้ยินคำว่าความมั่งคั่งไหม นั่นคือสิ่งที่ชี้วัดว่าคนๆนั้นมีสภาวะการเงินที่ดี มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย มีชีวิตอย่างสุขสบายใช่หรือไม่ ดังนั้นแล้ว การใช้ความมั่งคั่งวัดระดับฐานะของคุณจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันจะบ่งบอกถึงสภาวะที่คุณกำลังเป็น
- สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือ สำรวจตนเอง หรือการตรวจสุขภาพทางการเงินนั่นเอง
ตอนนี้คุณมีรายได้รวมเท่าไหร่ คุณมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร รายจ่ายตายตัวของคุณมีอะไรบ้าง รายจ่ายผันแปรของคุณมีอะไรบ้าง โดยอาศัยหลักดังนี้
งบดุลส่วนบุคคลหาได้จาก สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ
เงินสดคงเหลือหาได้จาก รายได้ – ค่าใช้จ่าย = เงินคงเหลือ/ขาดสุทธิ
ดังนั้น ความมั่งคั่งคือเงินที่คุณเหลืออยู่เมื่อหักสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว แล้วเมื่อหักออกไป คุณยังมีความมั่งคั่งสุทธิเท่าใด เหลือมาก เหลือน้อย หรือติดลบ?
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามั่งคั่งหรือยัง?
ก่อนที่จะดูว่ามั่งคั่งหรือไม่ ต้องมาดูกันว่าอยู่รอดหรือเปล่าก่อน (Survival Ratio) ก็คือ อัตราส่วนของความอยู่รอด = รายได้จากการทำงาน บวกกับรายได้จากทรัพย์สิน (ดอกเบี้ย เงินปันผล รายได้จากการลงทุน ฯลฯ) แล้วหารด้วยรายจ่าย
สมมุติว่า คุณมีเงินเดือน 20,000 บาท มีรายได้จากเงินปันผลเดือนละ 2,000 บาท มีค่าเช่าที่ปล่อยบ้านให้เช่า 3,000 บาท และมีรายจ่ายคือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนบัตรเครดิต ฯลฯ สุทธิ 18,000 บาท ก็เอา (20,000+2,000+3,000)/18,000=1.388 อย่างนี้เป็นต้น
อัตราส่วนความอยู่รอดมากกว่า 1 เท่ากับอยู่รอดได้ หรือก็คือคุณสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่มีปัญหาภาระหนี้สินใดๆ แสดงถึงอิสรภาพทางการเงินขั้นต้น
ต่อไปก็คือ รอดแล้วรวยยังไง?
ความรวยหรือความมั่งคั่งนั้น วัดระดับได้จาก รายได้จากทรัพย์สิน/รายจ่าย=อัตราส่วนความมั่งคั่ง
ดังตัวอย่างข้างต้น รายได้จากทรัพย์สินคือ เงินปันผล 2,000 บาท และค่าเช่าบ้าน 3,000 บาท ในขณะที่รายจ่ายรวมคือ 18,000 บาท (2,000+3,000)/18,000=0.277 แปลว่ายังไม่เพียงพอ คุณยังไม่มั่งคั่ง ซึ่งอัตราส่วนความมั่งคั่งที่มากกว่า 1 นั่นคือคุณมีอิสรภาพทางการเงิน หรือก็คือ แม้คุณจะไม่ทำงาน ไม่ทำอะไรเลย เงินจะสร้างเงินให้คุณเอง ซึ่งเป็นเงินจำนวนเพียงพอต่อค่าใช่จ่าย นี่แหละคืออิสรภาพทางการเงินที่หลายๆคนถวิลหา
ดังนั้นการเรียนรู้ ศึกษาหาข้อมูล สร้างระเบียบวินัยทางการเงิน ลดค่าใช้จ่าย การออมเงิน การลงทุนเพิ่มอัตรารายได้จากทรัพย์สิน ฯลฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณต้องทำให้ได้หากอยากมั่งคั่ง อยากมีอิสรภาพทางการเงิน
ผ่านพ้นขั้นตอนของการสำรวจตนเองเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปคือการกำหนดเป้าหมาย
การกำหนดเป้าหมายคือการกำหนดว่าเราจะใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง โดยเรียงลำดับความสำคัญจากความจำเป็นที่สุดก่อน แล้วเรื่อยไปจนถึงสิ่งที่อยากได้เฉยๆ กำหนดจำนวนเงินที่ต้องใช้ และกำหนดระยะเวลาที่จะต้องจ่าย ยกตัวอย่างดังนี้
- ปลดหนี้บัตรเครดิต แล้วเสร็จในเวลา 2 ปี จำนวนเงิน 30,000 บาท = เดือนละ 1,250 บาท
- เรียนต่อปริญญาโท แล้วเสร็จในเวลา 4 ปี จำนวนเงิน 500,000 บาท= เดือนละ 10,416 บาท
- เงินดาวน์บ้าน แล้วเสร็จในเวลา 5 ปี จำนวนเงิน 300,000 บาท = เดือนละ 5,000 บาท
- เงินดาวน์รถ แล้วเสร็จในเวลา 3 ปี จำนวนเงิน 100,000 บาท = เดือนละ 2,777 บาท
- เงินออมเพื่อวัยเกษียณอายุ 35 ปี จำนวนเงิน 5,000,000 บาท = เดือนละ 11,904 บาท
อย่างนี้เป็นต้น
จากนั้นก็สร้างแผนการเงินกัน การสร้างแผนการเงินมีขั้นตอนง่ายๆคือ วางแผนออมเงิน วางแผนรายได้และค่าใช้จ่าย >วางแผนเงินประกัน และแผนเกษียณ>วางแผนการลงทุน วางแผนภาษี
จากนั้นเมื่อวางแผนเสร็จแล้วก็คือการปฏิบัติตามอย่างมีวินัย นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมถึงต้องปลูกฝังสร้างวินัยให้กับลูกหลานตั้งแต่เด็กๆ นั่นก็เพราะวินัยสำคัญมาก ตั้งเป้ามาย ตั้งใจทำ ไม่นอกลู่นอกทาง แล้วจึงจะสำเร็จ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง หรือหาข้ออ้างที่จะไม่เริ่มทำสักที อย่าลืมว่ายิ่งคุณเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ เป้าหมายทางการเงินของคุณก็จะเกิดผลเร็วเท่านั้น แต่ถ้าคุณออกตัวช้า ทุกอย่างอาจจะพังไม่เป็นท่าหากเวลาล่วงเลยไปจนเหลือน้อยเต็มทีแล้ว อย่าให้เหตุผลหรือองค์ประกอบใดใดมาทำให้คุณลดละความพยายาม