สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดูอึมครึมตลอดปี 2016 ที่ผ่านมา ก็ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะคาดหวังไปถึงปีข้างหน้า มองว่าแล้วปี 2017 ที่เรากำลังจะก้าวไปนี้ล่ะ เศรษฐกิจและสถานการณ์การเงินจะเป็นอย่างไรกันบ้าง มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นบ้างหรือไม่
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วงชดเชยตัวเลขการท่องเที่ยวที่หดตัวในปลายปี 2016
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกเอกสารวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2017 ไว้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยได้คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีใหม่นี้ไว้ที่ 3.3% เท่ากับปี 2016 ที่ผ่านมาเป็นเพราะเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2016 นั้นได้ส่งสัญญาณชะลอตัวแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแทนภาคการส่งออกก็หดตัวลง อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรได้วิเคราะห์ว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคของภาคเอกชนในช่วงปลายปี 2016 นั้นน่าจะช่วยชดเชยกับการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวไป
เศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี 2017 อาจยังฟื้นตัวช้า
สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปี 2560 นั้นน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากเหตุผลหลักคือเรื่องของภาคการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลก ส่วนการใช้จ่ายภาคประชาชนก็น่าจะมีการชะลอตัวเช่นกันจากมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลในเรื่องการช้อปช่วยชาติไปตอนช่วงสิ้นปี ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้หลักก็ยังคงหดตัวเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในไทยมีแนวโน้มน้อยลงกว่าตรุษจีนของปีที่ผ่านมา ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี 2017 มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.2%
เศรษฐกิจครึ่งปีหลังของปี 2017 น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนั้น มีการคาดการณ์กันว่าตัวเลขของการส่งออกน่าจะเริ่มค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นผลมาจากเรื่องของราคาสินค้า ภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเช่นกัน การลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหลายโครงการที่มีการประมูลกันไป ถ้ามีการเริ่มดำเนินการได้ก็จะส่งผลดีในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังให้ขยายตัวได้ถึง 3.4%
ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจปี 2017
อย่างไรก็ตามการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2017 นั้น ก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยเสี่ยงหลายประการด้วยกัน ดังนี้
- ผลกระทบจาก Brexit การออกจากการเป็นสมาชิกภาพยูโรโซนของสหราชอาณาจักร และปัญหาการเมืองภายในของประเทศยุโรป
- ราคาน้ำมันที่ยังมีความผันผวน และมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้น
- ตลาดเงินโลกมีความผันผวนและไม่แน่นอนมากขึ้น จากทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ
- เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐเนื่องจากนโยบายของทรัมป์ อาจส่งผลกระทบให้คนไทยชะลอการบริโภคและการใช้จ่ายลง
- ผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรป จีน และญี่ปุ่น ที่ยังคงชะลอตัว
ทิศทางที่เปลี่ยนแปลงของภาคการเงินไทย ปี 2017
แนวโน้มของภาคการเงินไทยในปี 2017 จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในประเทศมีผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก รวมถึงความต้องการในการระดมทุนของภาครัฐ และภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อภาคเอกชนจะเป็นลูกค้ารายใหญ่มากกว่าลูกค้ารายย่อย วิธีที่ภาคเอกชนและธุรกิจจะรับมือกับภาวะของอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวขึ้นนี้ก็คือ ให้กู้เงินในระยะยาวและเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบ Fixed
- หนี้เอ็นพีแอลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่ธนาคารและสถาบันการเงินจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ ลูกค้า SME ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขของหนี้เอ็นพีแอลจะมีระดับสูงสุดที่ไตรมาส 3 ของปี 2017 ที่ 3.01%
- สินเชื่อแม้ว่ามีการขยายตัว แต่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่าประชาชนมีความกังวลกับเรื่องหนี้จึงเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยสาเหตุของความกังวลเกิดจากสินค้าแพงขึ้น ความไม่แน่นอนของรายได้ รวมถึงความกังวลต่อความสามารถที่จะใช้หนี้ในอนาคต ส่วนตัวเลขหนี้ครัวเรือนในปี 2017 นั้นมีการคาดการณ์กันว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่าน ที่ 82.0% มีการคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อในปี 2017 ไว้ที่ 4% หลัก ๆ เป็นสินเชื่อธุรกิจ SME ที่ได้รับผลดีจากการอัดฉีดงบประมาณสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นของรัฐบาลและราคาพลังงานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยน่าจะยังมีการขยายตัวจำกัดจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่ระมัดระวังมากขึ้น
เศรษฐกิจไทยปี 2017 กับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม เรายังมีปัจจัยบวกที่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยในปี 2017 นี้อยู่เหมือนกัน จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2017 โดย Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์
- ภาระค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลงจากการผ่อนรถยนต์หมดและการจ่ายภาษีเงินได้ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีเงินได้ของรัฐบาล
- รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง
- ธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการมีการขยายการลงทุนมากขึ้น
- มีการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
- ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นผลดีกับสินค้าส่งออกทำให้ได้ราคาดีขึ้น
- สินค้าในหมวดเครื่องอุปโภคและบริโภคยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังสามารถขยายตัวและเติบโตได้ดี
เศรษฐกิจในปี 2017 นี้ก็มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบจากทั้งภายในประเทศและนอกประเทศที่ต่างก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจของเราได้ในทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดีทั้งนั้น เราในฐานะของผู้ประกอบการ นักธุรกิจหรือประชาชนต่างก็คาดหวังให้เศรษฐกิจกลับมาดี มีการเติบโต จะได้มีการสร้างรายได้ เราจึงควรต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวคราวทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ ยิ่งในภาวะที่มีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง เมื่อเกิดอะไรขึ้นจะได้ปรับตัวและรับมือได้ทันสถานการณ์
อ้างอิง