สรท.ประเมินส่งออกไทยปี 59 โต 0%
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. ได้เผยถึงแนวโน้มของการส่งออกของปี 2559 ว่าทั้งปีน่าจะเติบโตอยู่ที่ 0% คือมียอดส่งออกเท่ากันกับปีที่ผ่านมา จากที่ก่อนหน้าคาดว่าการเติบโตของการส่งออกในปีนี้น่าจะเป็นตัวเลขติดลบ แต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านถือว่ามีความกระเตื้องขึ้น ปกติแล้วช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก็จะออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศเข้ามากและต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าส่งออกของไทยน่าจะเติบโตอยู่ที่ 0% ในปี 2559 ไม่เป็นตัวเลขติดลบเหมือนที่คาดไว้ในตอนแรก ในขณะที่มองภาพรวมการส่งออกของปีหน้า 2560 ไว้ที่ขยายตัวร้อยละ 1
นายวัลลภยังได้ให้ความเห็นในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำที่ได้มีการสรุปว่าจะขึ้นเป็นพื้นที่ในอัตราวันละ 5 บาท 8 บาท และ 10 บาทนั้น ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม เพราะเป็นตัวเลขที่ผู้ประกอบการรับมือได้ อีกทั้งเป็นค่าแรงที่ได้มีการคิดคำนวณมาจากหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมของแต่ละพื้นที่ด้วย
ส่งออกไทยเดือนกันยายน ขยายตัว 3.4%
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รอง ผอ. สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เผยถึงยอดการส่งออกในเดือนกันยายนของไทยว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากมีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การขยายตัวของสองเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดส่งออกในระยะเวลา 9 เดือนนับตั้งแต่ต้นปีติดลบน้อยลง เหลือติดลบเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น มีการคาดการณ์ว่าการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หนี้สาธารณะ เดือนสิงหาคม 59 คิดเป็น 42.64% ของ GDP
นายธีรัชย์ อัตนวาณิช รอง ผอ. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้เผยถึงตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยที่คงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ 5.949 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.64% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า คือเดือนกรกฎาคม 2559 แล้ว คิดเป็นหนี้สาธารณะลดลง 10,323 ล้านบาท
ผู้ประกอบการบัตรเครดิตระวังการออกบัตรเสริม หลังผลสำรวจชี้นักศึกษาก่อหนี้มากที่สุด
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รอง ปธ. เจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เผย นโยบายของเคทีซีเน้นความระมัดระวังในการออกบัตรเสริม โดยจะเน้นการออกบัตรเสริมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่สามารถชำระหนี้ได้แน่นอน เช่น ผู้ปกครองที่ออกบัตรเสริมให้ลูกหลานใช้หรือผู้ที่เดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ นางพิทยาได้แนะนำว่าผู้ถือบัตรหลักสามารถกำหนดวงเงินของบัตรเสริมไว้ได้ โดยอาจเลือกวงเงินที่ไม่สูงเกินไปนัก เมื่อเวลาที่ต้องการขยายวงเงินก็สามารถโทรติดต่อบริษัทได้
นางสาวญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส ได้เผยว่ากรุงศรีคอนซูเมอร์นั้นไม่ได้มีนโยบายที่เน้นการออกบัตรเสริมอยู่แล้ว บัตรเสริมที่ออกโดยบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นการออกให้กับกลุ่มแม่บ้านหรือลูกที่อยู่ในวัยเป็นนักศึกษา วงเงินส่วนใหญ่จะไม่มากเท่ากับบัตรหลัก
นางสาวศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้เผยถึงนโยบายในการออกบัตรเสริมของธนาคารไว้ว่า ธนาคารจะดูจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าบัตรหลักเป็นหลัก เพราะบัตรหลักและบัตรเสริมใช้วงเงินเดียวกัน พ่อแม่ที่ออกบัตรเสริมให้ลูกก็จะเป็นผู้ควบคุมวงเงินตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องของการออกบัตรเครดิตให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่เพิ่งเรียนจบนั้น ธนาคารให้ความระมัดระวังในเรื่องของการพิจารณาเอกสาร เช่น เรื่องบัญชีธนาคาร หรือรายได้ อย่างระมัดระวัง และเฝ้าติดตามลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
หนี้กู้ซื้อบ้าน รถยนต์ แบงก์รัฐ ผิดนัดชำระ พุ่ง 28%
ข่าวจากแหล่งข่าวในกระทรวงการคลังเผยถึงตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้ของแบงก์รัฐพุ่งขึ้นสูงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขที่มีการรายงานล่าสุดคือเดือนมิถุนายน 2559 นั้น ผิดนัดชำระ 1.76 แสนล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นกว่า 28% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2559 ที่ 1.38 แสนล้านบาท ลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่กู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย รถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล ในขณะที่หนี้เอ็นพีแอลนั้น เดือนมิถุนายน 2559 ตัวเลขอยู่ที่ 9.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 ประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะนี้แบงก์รัฐทั้ง 6 แห่ง ต่างก็พยายามเจรจากับลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อให้กลับมาชำระหนี้จะได้ไม่กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ปธ. กรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้เผยถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ถือว่ายังชะลอตัวอยู่ อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังมีความโศกเศร้าต่อเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทำให้การจับจ่ายใช้สอยก็ชะลอตัวลงไปอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบถึงคนบางกลุ่มทำให้ขาดรายได้ หรือมีรายได้น้อยลง ธนาคารแนะนำให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาในเรื่องของการชำระหนี้ติดต่อธนาคารเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างได้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้หนี้กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล
คปภ. เพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนและนายหน้าประกันภัยเพิ่ม 15 ราย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้เผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ได้มีการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนนายหน้าประกันภัย จำนวน 15 ราย เนื่องจากทำผิดกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่การทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นการรับชำระเงินค่าเบี้ยประกันจากลูกค้า แต่ไม่ทำเรื่องประกันภัยและไม่ส่งเงินให้กับบริษัท ทุจริตในการเข้าสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตแทนผู้อื่น มีส่วนร่วมในการทุจริตการสอบ รวมถึงเป็นตัวแทนประกันชีวิตแต่ขายประกันวินาศภัยและประกันภัยรถยนต์ โดยหลังจากได้รับค่าเบี้ยประกันมา ก็ไม่ได้ดำเนินการส่งต่อค่าเบี้ยให้กับบริษัท ไม่ได้ออกกรมธรรม์ให้กับลูกค้า
ผู้ที่กระทำความผิดและโดนเพิกถอนใบอนุญาตจะประกอบอาชีพขายประกันไม่ได้เป็นเวลา 5 ปี และไม่สามารถสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตใหม่ภายใน 5 ปีนี้ด้วย ถ้ายังฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ้างอิงข้อมูล