สวัสดิการพนักงาน 2024 มัดใจคนรุ่นใหม่อยู่หมัด
ปัจจุบันทัศนคติต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง ครึ่งปีหลังของสวัสดิการพนักงานในปี 2024 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Z, Gen Y, Millenial ต่างไม่ได้เลือกงานที่เงินเดือน หรือโบนัสเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสวัสดิการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของคนรุ่นใหม่มากขึ้น องค์กรใดที่สามารถปรับตัว และนำเสนอสวัสดิการที่โดนใจ ก็จะสามารถ มัดใจพนักงานรุ่นใหม่ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างแน่นอน ทาง HR หรือองค์กรไหนที่มองหาไอเดียสวัสดิการพนักงานในปี 2024 เพื่อดึงดูดพนักงานใหม่หรือช่วยให้พนักงานทำงานไปนาน ๆ เราจะมาแนะนำ สวัสดิการพนักงาน 2024 มัดใจคนรุ่นใหม่อยู่หมัด ที่น่าสนใจในปีนี้กัน
สวัสดิการคืออะไร? มีกี่ประเภท
ก่อนที่เราจะพูดถึงสวัสดิการพนักงานในปี 2024 เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าสวัสดิการคืออะไร สวัสดิการ (Welfare Benefit) คือ ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่นายจ้างมอบให้แก่พนักงานนอกเหนือจากเงินเดือน เพื่อเป็นการตอบแทน และสร้างความพึงพอใจในการทำงาน สวัสดิการเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ และสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
1. สวัสดิการตามกฎหมาย (Legal Welfare)
-
- ประกันสังคม: ครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาล, การคลอดบุตร, การว่างงาน, และการเกษียณอายุ
- วันหยุดประจำปี: พนักงานมีสิทธิได้รับวันหยุดพักผ่อนตามที่กฎหมายกำหนด
- วันลาป่วย: เมื่อพนักงานเจ็บป่วย สามารถลาป่วยได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
- ค่าล่วงเวลา: หากทำงานเกินเวลาที่กำหนด จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม
2. สวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย (Special Welfare)
-
- ประกันสุขภาพ: ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากประกันสังคม
- ค่าอาหาร: บริษัทจัดหาอาหารกลางวันหรืออาหารว่างให้พนักงาน
- ค่าเดินทาง: ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน
- ค่าโทรศัพท์: จ่ายค่าโทรศัพท์ให้พนักงานที่ต้องใช้ในการทำงาน
- โบนัส: เป็นการจ่ายเงินเพิ่มเติมให้แก่พนักงานตามผลประกอบการของบริษัท
- การฝึกอบรม: สนับสนุนให้พนักงานพัฒนาตนเองด้วยการเข้าร่วมอบรม
- กิจกรรมสันทนาการ: จัดกิจกรรมเพื่อให้พนักงานได้พักผ่อน และผ่อนคลาย เช่น ท่องเที่ยวประจำปี, งานเลี้ยงสังสรรค์
อัปเดต สวัสดิการพนักงาน 2024 มัดใจคนรุ่นใหม่อยู่หมัด!
1. โบนัสหรือการปรับเงินเดือน
โบนัส และการปรับเงินเดือนยังคงเป็นสวัสดิการที่พนักงานต้องการมากที่สุดในปีนี้ การให้โบนัสเป็นรางวัลที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้พนักงาน และเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จในการทำงานตลอดทั้งปี อีกทั้งการปรับเงินเดือนตามผลงานยังช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าความพยายามของพวกเขาได้รับการตอบแทนอย่างเหมาะสม โดยบริษัทควรมี KPI ที่ชัดเจนในการปรับเงินเดือนใหม่เหมาะสมกับหน้าที่
2. Work from Home หรือ Hybrid Work
การทำงานแบบ Hyrbrid คือการทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศ และการทำงาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เน้นความยืดหยุ่น สะดวกสบาย และช่วยให้พนักงานบริหารเวลาส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาในการเดินทาง และความเครียดจากการเดินทางได้
นอกจากนี้ยังมีหลายตำแหน่งที่เสนอการ ทำงานแบบ Work from Home 100% โดยการทำงานที่ยืดหยุ่นหรือ Flexible Working กำลังมาแรง โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น องค์กรที่สามารถให้ความยืดหยุ่นในการทำงานจะสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากทำงานร่วมกับองค์กรได้
3. วันลา และวันหยุด (Vacation and Leave)
การมีวันลา และวันหยุดพักผ่อนเพียงพอช่วยให้พนักงานได้พักผ่อน และกลับมาทำงานด้วยความสดใส ดังนั้น สวัสดิการด้านการลาหยุด จึงเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่สำคัญ ที่หลายองค์กรเริ่มเพิ่มจำนวนวันลาพักร้อนมากกว่า 6 วันต่อปี รวมถึงการให้วันลาพิเศษ เช่น วันเกิด (Birthday Leave) วันลาคลอดแบบจ่ายเงินเดือน และวันแต่งงาน จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทใส่ใจในชีวิตส่วนตัว
4. สวัสดิการด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Well-being Benefits)
นอกเหนือจากประกันสุขภาพพื้นฐานแล้ว องค์กรควรใส่ใจกับการส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจของพนักงาน เนื่องจากสุขภาพของพนักงานเป็นสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่มีความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ซึ่งสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีทั้งโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี การให้คำปรึกษาทางจิตใจ ค่าใช้จ่ายด้านฟิตเนส ค่าใช้จ่ายสำหรับลาคลอด ประกันสุขภาพแบบกลุ่ม ประกันอุบัติเหตุหรือฉุกเฉิน สวัสดิการนี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย และมีคุณค่าในองค์กร
5. สวัสดิการทางการเงิน (Financial Wellness)
นอกจากโบนัส และเงินเดือนแล้ว ยังมีสวัสดิการด้านการเงินอื่น ๆ เช่น การวางแผนการเกษียณร่วมกับพนักงาน การให้คำปรึกษาทางการเงิน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับสินเชื่อพนักงาน จะช่วยจูงใจพนักงานให้อยากทำงานกับองค์กรไปนาน ๆ
6. สภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Work Environment)
สภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นไม่ใช่แค่การทำงานแบบไฮบริดเท่านั้น แต่รวมถึงการแต่งกายหรือเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยให้พนักงานรู้สึกสบายใจ มีอิสระในการทำงาน และส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งสถานที่ตั้งของบริษัทยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พนักงานเลือกบริษัทที่ต้องการร่วมงานด้วย สำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องการให้พนักงาน Re-location ควรมีสวัสดิการที่สำคัญด้านการวีซ่า สนับสนุนด้านที่พัก และการเดินทาง เป็นต้น
7. ค่าล่วงเวลาในการเดินทาง (OT) หรือค่าเดินทาง
นอกจากค่าตอบแทนหลักที่ได้รับตามสัญญาจ้างแล้ว ยังมีค่าตอบแทนพิเศษอื่น ๆ ที่องค์กรจัดให้เพื่อเป็นสวัสดิการ หรือเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน อาทิ ค่าล่วงเวลา หรือ OT เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่พนักงานสำหรับการทำงานนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ โดยปกติแล้วจะมีอัตราค่าล่วงเวลาสูงกว่าอัตราค่าจ้างปกติ เช่น 1.5 เท่าของค่าจ้างปกติ สำหรับวันทำงาน หรือ 3 เท่า สำหรับวันหยุด เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง
ค่าเดินทาง เป็นค่าใช้จ่ายที่องค์กรจ่ายให้แก่พนักงานเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน ซึ่งอาจเป็นการเดินทางไปต่างจังหวัด หรือการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าเดินทางอาจรวมถึงค่าพาหนะ ค่าที่พัก และค่าอาหาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับของแต่ละองค์กร
8. วัฒนธรรรมองค์กร หรือสวัสดิการที่รองรับไลฟ์สไตล์
วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในยุคที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว องค์กรควรให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่ช่วยสนับสนุนไลฟ์สไตล์ของพนักงานด้วย เช่น การจัดให้มีห้องออกกำลังกายหรือกิจกรรมสันทนาการ, Outing Trip, กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน, สิทธิพิเศษในการกลับบ้านเร็ว ค่าอาหารกลางวัน เป็นต้น
การพัฒนาสวัสดิการพนักงานในปี 2024 เป็นสิ่งที่องค์กรไม่ควรมองข้าม การให้สวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานจะช่วยสร้างความผูกพัน และความพึงพอใจในองค์กร ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน และการรักษาพนักงานที่มีคุณภาพในระยะยาว