ในการวางแผนการเงินนั้น นอกจากจะต้องอาศัยวินัยในการใช้จ่ายแล้ว ปริมาณรายได้เข้าก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน หากปริมาณรายรับเข้าคงที่ แต่ปริมาณการใช้จ่ายออกเนื่องจากความจำเป็นกะทันหัน ฉุกเฉิน นอกแผนการที่วางไว้ ก็อาจทำให้แผนการเงินสะดุด ทางเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไม่ใช่อยู่ที่การควบคุมรายจ่ายที่เคร่งครัด แต่เป็นการหาเงินเข้าในช่องทางอื่น ๆ เสริมจากงานประจำนั่นเอง
อาชีพเสริมนั้นมีหลายอย่าง หากคิดจะทำก็ให้ลงมือทำ มนุษย์เงินเดือนผู้มีรายได้ประจำมักไม่กล้าเอาตัวเองก้าวข้ามผ่าน Comfort Zone จนไม่สามารถเริ่มทำอะไรให้ตัวเองได้เลย หลายคนอาจให้คำแนะนำว่าถ้าคิดจะทำอะไร ก็จงทำทันที อย่าลังเล อย่ากลัว แต่เหนือสิ่งอื่นใดผู้ที่คิดจะหารายได้เสริมจะต้องปรับทัศนคติให้ตัวเองก่อนว่า “ด้านได้ อายอด” ด้วยเพราะความที่ตัวเองอยู่กับที่กับรายได้ประจำมานาน ไม่เคยมีทักษะการขายใด ๆ ก็อาจจะคิดกังวลต่าง ๆ รวมถึงรู้สึกกระดากอายที่จะเริ่ม เมื่อคิดจะทำ ทำให้ลุยได้ไม่เต็มที่ ทำไม่เต็มที่ ขายไม่เต็มที่ ป่าวประกาศโฆษณาสินค้าตัวเองไม่เต็มที่ และนั่นทำให้หลาย ๆ คนไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพเสริมนั่นเอง
อาชีพเสริมนั้นมีหลายอย่างมาก เพียงแค่มองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราเอง สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวทุกอย่างหากมองอย่างฉลาดจะรู้ว่ามีโอกาสอยู่เสมอ ง่ายที่สุดคือเรื่องกิน เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ยังไงคนก็ต้องกิน อีกทั้งเงินลงทุนก็อยู่ในหลักที่สามารถจะทำได้ไม่สูงนัก ที่ต้องมีหน่อยคือเรื่องฝีมือกับอุปกรณ์อีกนิดหน่อย หากไม่มั่นใจฝีมือก็ให้อาศัยสูตร ใครมีสูตรดีก็ดีไป ใครไม่มีสูตรอยู่ในมือก็ต้องฝึกต้องหากันมาก่อน
อ่านเพิ่มเติม : รายได้เสริมจากอาหารกล่อง ทำได้จริงหรือ ?
ธุรกิจของกินนั้นเข้าง่าย และออกง่ายเช่นกัน สิ่งที่ต้องวิเคราะห์เสมอในการทำการค้าขายเรื่องของกินคือปริมาณลูกค้าที่แท้จริง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเริ่มจากตัวเราเองกินข้าววันละ 3 มื้อ แต่ละมื้อถ้าเลือกได้ก็กินไม่ซ้ำกันสักมื้อเดียว ถ้าเช้ากินไข่ดาวขนมปังแล้ว กลางวันและเย็นอาจไม่อยากกินไข่ดาวอีก อาจเลือกกินข้าวราดแกงมื้อเที่ยง และเย็นเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ เช้าวันต่อมาเลือกกินไข่กระทะ เพราะเมื่อวานกินไข่ดาวขนมปังไปแล้ว ไม่อยากกินซ้ำ เที่ยงกินข้าวหมูแดง เย็นกินก๋วยจั๊บเป็นต้น หากลองจดรายการอาหารที่กินอย่างละเอียดในหนึ่งสัปดาห์ก็จะรู้ว่าโดยทั่วไปคนเรากินนั่นกินนี่เยอะไปหมดไม่ค่อยซ้ำกันนักหรอก
การวิเคราะห์เรื่องธุรกิจอาหารต้องมองให้ออก และพึงระลึกไว้เสมอว่าอาหารมีให้เลือกมากมาย ถึงแม้กำลังจะเอ่ยปากกับแม่ค้าให้ผัดข้าวผัดปูให้อยู่รอมร่อ แต่กลิ่นผัดกระเพราที่เข้ามาแตะจมูกก็อาจทำให้เปลี่ยนใจมากินกระเพราได้ทันที นั่นหมายความว่า เรื่องพฤติกรรมการกินของคนเรานั้นไม่แน่นอนคงที่ และคาดการณ์ได้ยาก
เมื่อรู้ว่าผู้บริโภคนั้นมีตัวเลือกมาก และมีพฤติกรรมประเภทเปลี่ยนได้ง่าย (Easy Switch) คือสามารถเปลี่ยนใจได้ทันทีหากมีปัจจัยหนุน สิ่งที่จะทำให้เราเป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารแล้วสามารถคงอยู่ได้ไม่สลายหายไปหลังเริ่มทำได้สามเดือนห้าเดือนก็คือ ความมีตัวตน ซึ่งในแง่นี้อาจหมายถึงความอร่อย ความสะอาด หรือปัจจัยอื่น ๆ ก็ได้
หากเลือกอาหารสักอย่างประกอบการอธิบายในการเริ่มธุรกิจ อาจเริ่มง่าย ๆ ใกล้ตัวอย่างคุกกี้ ด้วยเหตุผลคือ ทำง่าย ไม่เสียข้ามวัน คงความสดใหม่ได้นาน มีสูตรที่ค่อนข้างแพร่หลายให้ได้ทดลองทำ ซื้อง่ายขายง่าย และลงทุนไม่มาก เมื่อพิจารณาให้ลึกก็จะพบอีกว่า การทำให้คุกกี้อร่อยนั้นนอกจากหาสูตรที่ใช่แล้ว ถูกใจแล้ว ยังต้องอาศัยการทดลอง ทำซ้ำ ลองผิดลองถูก เพราะสูตรมักไม่ได้บอกเคล็ดลับ เคล็ดลับเหล่านั้นส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ ส่วนผสมเฉพาะยี่ห้อ อุณหภูมิของเนยตอนใส่ผสมลงไปตอนกระบวนการตีแป้ง ขนาดและความหนาของแป้งคุกกี้ที่ต้องสัมพันธ์กับอุณหภูมิของเตาอบและเวลา ถ้าพิจารณาให้ลึกไปอีกก็จะพบว่า เตาอบไฟบนแบบมีพัดลมกับเตาอบไฟบนล่างไม่เปิดพัดลมนั้นทำให้ความกรุบกรอบและผิวสัมผัสของคุกกี้แต่ละชิ้นแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคเฉพาะตัวของแต่ละคน แต่ในฐานะคนขาย ต้องหาให้เจอ หมั่นทำหมั่นซ้อมก็จะรู้เอง
เมื่อคุกกี้พร้อม แต่ยังไม่พร้อมขาย เพราะต้องมีการบรรจุหีบห่อก่อน จึงจะสำเร็จพร้อมเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย โดยการบรรจุหีบห่อนั้นให้พิจารณาสองส่วนหลัก คือ พฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมาย และการสร้างความมีตัวตนในผลิตภัณฑ์ผ่านหีบห่อ
คุกกี้อาจเป็นของกินเล่นหลังมื้อเที่ยง หรืออาจเป็นของว่างแก้หิว บางครั้งเป็นอาหารเช้าพร้อมกาแฟ และหลายครั้งก็เป็นของขวัญช่วงเทศกาลด้วย ดังนั้นปริมาณกับหีบห่อที่เหมาะสมนั้น นอกจากจะต้องสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคแล้ว ยังต้องคำนึงถึงราคาด้วย เช่นเราอาจใส่คุกกี้เพียง 5-6 ชิ้น เป็นแพคเล็ก ๆ ธรรมดาที่ดูสะอาด สดใหม่ ราคาไม่แพง สำหรับลูกค้ากลุ่มกินเป็นของว่างและเป็นอาหารเช้า และเราอาจทำแพคใหญ่บรรจุกล่องสวยงามสำหรับขายช่วงปีใหม่เป็นต้น
การสร้างความมีตัวตนในผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่เรียกว่าการสร้างแบรนด์หรือแบรนดิ้งนั่นเอง เพราะเป็นทางเดียวที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่ต้องป่าวประกาศ เป็นศิลปะที่จะทำให้คุกกี้ของเราเป็นที่นึกถึง ว่าถูก สะอาด อร่อย หอมมัน สดใหม่ ผ่านสีสัน ตัวอักษร และหีบห่อบรรจุนั้น ๆ และจะนำไปสู่การซื้อซ้ำในที่สุด
การสร้างอาชีพเสริมให้กับตัวเองโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนนั้น ขอเพียงให้ตั้งใจจริง ฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือทำ เมื่อเริ่มแล้วก็ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเสมอ เพื่อปรับปรุงแก้ไข การทำคุกกี้นั้นเป็นหนึ่งในการใช้เวลาในวันหยุดสร้างรายได้ได้อย่างสร้างสรรค์ และอาจจะลงตัวสำหรับหลาย ๆ คน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีธุรกิจอื่นอีกมากมาย ซึ่งก็ขึ้นกับความชอบและสนใจเป็นการส่วนตัวของแต่ละคนนั่นเอง