ธนบัตรปลอมนั้น ถือเป็นของที่ไม่มีค่า เป็นเหมือนกับแค่กระดาษใบหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าจะมีรูปร่างและลักษณะที่คล้ายกับธนบัตรฉบับจริงแทบทุกอย่างก็ตาม แต่ก็ยังมีเหล่ามิจฉาชีพหรือคนมักง่ายจำนวนมากที่นำธนบัตรปลอมมาใช้ซื้อสินค้า พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้สังเกตก็ต้องตกเป็นเหยื่อรับธนบัตรปลอมมาทำให้เสียรายได้ และเมื่อนำธนบัตรปลอมนั้นไปใช้ต่อก็มีโอกาสถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้ธนบัตรปลอมเป็นคนแรกมีความผิดตามกฎหมายได้
ธนบัตรที่มีการปลอมแปลงนำมาใช้แทนธนบัตรจริงนั้น มีขั้นตอนในการปลอมแปลงได้หลายแบบด้วยกัน ตั้งแต่แบบง่าย ๆ คือการถ่ายเอกสารสีแล้วตัดให้ได้ตามขนาด ไปจนถึงขบวนการที่มีโรงพิมพ์ธนบัตรปลอมกันเป็นเรื่องเป็นราว แม้ว่าธนบัตรปลอมจะมีความคล้ายกับธนบัตรจริงมาก แต่อย่างไรหากสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าไม่ใช่ เช่น เนื้อกระดาษไม่เหมือนกัน เมื่อถูกน้ำสีจะลอก ไม่มีลายน้ำหรือมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย เป็นต้น พ่อค้าแม่ค้าที่ขายดีรับเงินเข้า ทอนออกทั้งวัน รับเงินมาก็ใส่กระเป๋าไว้ไม่ทันได้สังเกต กว่าจะเจอรู้ว่าเป็นแบงก์ปลอม บางรายก็ตามหาคนที่นำมาใช้ได้ ส่วนบางรายก็ไม่สามารถตามจับได้
ข่าวแบงก์ 500 ปลอมที่ตลาด จังหวัดกำแพงเพชร
มีข่าวเรื่องการใช้แบงก์ 500 ปลอมที่ตลาดในจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยตำรวจได้รับแจ้งจากเจ้าของตลาดศูนย์การค้าจังหวัดกำแพงเพชร ว่ามีการนำธนบัตรฉบับละ 500 ปลอมมาใช้ในตลาด เมื่อตำรวจไปตรวจสอบและสาวไปถึงต้นตอพบว่าเป็นแม่ค้าไส้กรอกนำมาซื้อขนมครก 10 บาท และเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ลักษณะของแบงก์ปลอมเป็นการถ่ายเอกสารสี ลายเส้นไม่สะท้อนแสง เนื้อกระดาษเปื่อย มีขนาดเล็กและสั้นกว่า แม่ค้าไส้กรอกให้การว่าได้รับแบงก์ปลอมนี้จากลูกค้าที่มาซื้อไส้กรอกอีกที แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบธนบัตรฉบับจริงที่มีเลขตรงกันอยู่ในกระเป๋าสตางค์ของแม่ค้าไส้กรอก จึงนำตัวส่งสถานีตำรวจเพื่อแจ้งข้อหาดำเนินคดีต่อไป
ข่าวสาว จังหวัดลำพูน พิมพ์ธนบัตรปลอมออกใช้
อีกข่าวเป็นสาวทำแบงก์ปลอมที่จังหวัดลำพูน ผู้เสียหายหลายรายทั้งที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าในตลาดย่านนิคมอุตสาหกรรมลำพูนได้เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องของแบงก์ปลอมที่ระบาดอย่างหนัก โดยผู้ต้องสงสัยเป็นหญิงรายหนึ่ง หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบก็ได้เข้าทำการจับกุมตัวได้ที่บ้านพัก เมื่อตรวจค้นในบ้านพบอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตธนบัตรปลอมและธนบัตรปลอมจำนวนหนึ่งเป็นแบงก์พัน 6 ใบ แบงค์ 500 2 ใบ แบงก์ร้อย 1 ใบ และเครื่องถ่ายเอกสาร 1 เครื่อง หญิงสาวรายนี้ให้การรับสารภาพว่าตนเองได้ทำแบงก์ปลอมขึ้นจริง แต่ไม่ได้มีใครสั่งให้ทำ แต่ทำเพื่อเอาเงินไปใช้จ่ายซื้อของเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจับกุมเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ข่าวทลายโรงงานผลิตธนบัตรปลอมย่านสายไหม
อีกรายนั้นเรียกว่าเป็นโกดังผลิตธนบัตรปลอมแบบข้ามชาติกันเลยดีกว่า เพราะมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ กระดาษและอุปกรณ์ในการผลิตธนบัตรหลายสกุลเงิน ทั้งดอลลาร์สหรัฐ เงินกีบของลาวและเงินบาทของไทย โดยในกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกาประสานงานมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยว่า มีการระบาดของแบงก์ดอลลาร์สหรัฐปลอมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเครื่องที่ผลิตนั้นอยู่ที่ประเทศไทย และมีขนส่งลำเลียงไปทาง สปป. ลาว เมื่อทำการสอบสวนก็พบว่าเจ้าของโรงงานมีอาชีพรับจ้างพิมพ์เอกสารทั่วไป แต่หากมีคนจ้างผลิตธนบัตรปลอมก็จะทำเป็นครั้ง ๆ เมื่อเสร็จก็รีบขับรถออกไปส่งให้ลูกค้าจนมาถูกจับกุมในที่สุด
ธนบัตรปลอมกับความผิดตามกฎหมาย
การทำหรือใช้ธนบัตรปลอมนั้นมีความผิดตามกฎหมายในข้อหา “ทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา (ธนบัตรรัฐบาล) ซึ่งรัฐบาลออกให้ใช้หรือให้ใช้โดยผิดกฎหมายและมีไว้เพื่อนำออกใช้ และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรปลอมโดยผิดกฎหมาย)” โทษตามกฎหมายสูงสุดสำหรับผู้ปลอมธนบัตรคือจำคุกตลอดชีวิต และปรับสูงสุด 40,000 บาท ส่วนผู้ที่นำธนบัตรปลอมออกใช้หรือพยายามใช้มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และปรับสูงสุด 30,000 บาท
ป้องกันธนบัตรปลอมอย่างไร
ธนบัตรที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีทั้งแบงก์ 20 แบงก์ 50 แบงก์ 100 แบงก์ 500 และแบงก์ใหญ่สุดคือแบงก์พัน การปลอมธนบัตรที่เป็นข่าวที่ผ่านมามีการปลอมแทบทุกประเภทของธนบัตร ในหนึ่งวันจะว่าไปเราต้องหยิบธนบัตรเพื่อใช้จ่ายและรับธนบัตรมาหลายครั้ง ไม่มีใครอยากเจอกับธนบัตรปลอมแน่นอน เรามาดูกันค่ะว่าเราจะป้องกันอย่างไร จากมิจฉาชีพที่นำธนบัตรปลอมมาใช้ค่ะ
- อาชีพที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก็คือ พ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าปลีก หรือร้านขายของที่มีโอกาสรับธนบัตรจากลูกค้า มิจฉาชีพส่วนมากจะใช้ธนบัตรปลอมใบใหญ่มาใช้ บางครั้งก็ซื้อของมูลค่าไม่มากเพื่อให้ร้านค้าทอนเงินจริงกลับไปให้
- ช่วงเวลาที่ต้องระวังก็คือช่วงวันหยุดหรือเทศกาลต่าง ๆ ที่มีการซื้อสินค้าและจับจ่ายใช้สอยกันมาก ๆ ร้านค้าเมื่อขายดีก็มักไม่ทันระวังต้องก้มหน้าก้มตาขายของ รับแบงก์ใหญ่หยิบเงินทอนหรือรับแบงก์ปลอมมาแบบไม่ทันสังเกต เช่น ช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่
- แบงก์ปลอมระบาดได้ทุกที่ แต่ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นต่างจังหวัด อย่างที่เคยเป็นข่าวใหญ่เรื่องธนบัตรปลอมระบาดที่ตลาดโรงเกลือ ร้านค้าตามตลาดหรือร้านค้าที่อยู่ในต่างจังหวัดควรระมัดระวังและตรวจสอบธนบัตรทุกครั้งที่รับจากลูกค้าว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่
- มิจฉาชีพบางรายใช้วิธีการนำแบงก์ปลอมมาขอแลกเป็นแบงก์ย่อย เช่น นำแบงก์พันปลอมมาแลกเป็นแบงก์ 500 2 ใบ หรือนำแบงก์ 500 ปลอม มาแลกเป็นแบงก์ 100 เป็นต้น ดังนั้น การรับแลกธนบัตรก็ควรสังเกตให้ดีเช่นกัน
- มิจฉาชีพบางรายใช้วิธีฝากแบงก์ปลอมเข้าธนาคารโดยใช้เครื่องฝากเงินอัตโนมัติหรือ ADM ซึ่งจะมีความละเอียดในการตรวจเช็คแบงก์ปลอมได้ไม่ดีเท่ากับเครื่องเอทีเอ็ม แล้วก็ถอนเงินออกจากเครื่องเอทีเอ็มไป ในกรณีนี้ผู้ที่เสียหายจะเป็นธนาคาร ธนาคารส่วนใหญ่ก็มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องให้ดีขึ้น สามารถตรวจจับธนบัตรปลอมได้เหมือนกับเครื่องเอทีเอ็มที่หากใส่ธนบัตรปลอมเข้าไปเครื่องจะไม่รับ
จากช่องทางที่มิจฉาชีพจะนำธนบัตรปลอมมาใช้ ทุกครั้งที่รับธนบัตรมาจึงต้องระวัง ก่อนที่จะเก็บเข้ากระเป๋าควรลองมองสังเกตสักหน่อย เพราะถ้าไม่ใช่ธนบัตรจริงจะต้องมีอะไรให้สังเกตที่ดูแปลก ๆ ส่วนใหญ่ที่รับมาก็เป็นเพราะไม่ทันระวัง รีบจนไม่ได้สังเกตทั้งนั้น ใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาที ยกขึ้นส่องเล็กน้อย หากผิดปกติก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย สามารถปฏิเสธที่จะรับธนบัตรนั้นได้ทัน หรือหากเป็นร้านค้าที่มีลูกค้าเข้ามาซื้อของด้วยเงินสดเป็นจำนวนมากทุกวัน การมีเครื่องตรวจแบงก์ปลอมเพื่อดูลายน้ำไว้ใช้งาน ก็จะช่วยให้ตรวจสอบแบงก์ปลอมได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เมื่อได้รับธนบัตรปลอมมาไม่ควรนำไปใช้ต่อ แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ตรวจสอบที่มาของธนบัตรปลอมนั้น ไม่แน่ว่าอาจเป็นการระบาด มีโรงงานใหญ่ในการผลิต การตามจับกุมได้ก็จะสามารถจัดการกับบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างขบวนการธนบัตรปลอมเหล่านี้ไปได้
ขอบคุณข้อมูล