สถานการณ์ หนี้ครัวเรือน ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2558 นับว่าอยู่ในช่วงวิกฤตรุนแรง เพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งทะยานสูงแตะระดับที่ 120,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว ซึ่งเท่ากับว่าแต่ละครอบครัวจะมีหนี้เฉลี่ยต่อปีมากถึง 1.4 ล้านบาททีเดียว ลองนึกตามดูว่าสังคมไทยปัจจุบันมีกี่ครอบครัวและมูลค่าหนี้ครัวเรือนจะเป็นกี่ล้านล้านบาท บางท่านอาจจะนึกสงสัยว่าแล้วทำไมต้องให้ความสำคัญกับ หนี้ครัวเรือน ด้วย
นั่นเป็นเพราะอัตรา หนี้ครัวเรือน เป็นเงาสะท้อนถึงการใช้จ่ายแบบมือเติบของคนในประเทศ จนก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเพราะไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ก้อนนั้น ๆ ได้ หากปล่อยไว้เรื้อรังก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เป็นแน่ โดยทั่ว ๆ ไป นานาประเทศต่างก็เฝ้าระวังหนี้ครัวเรือนของตนไม่ให้ไต่ระดับจนน่าหวาดเสียวนัก ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ แม้จะเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ก็มีความตั้งใจลดระดับหนี้ครัวเรือนอย่างสม่ำเสมอ ภายหลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา เพราะสหรัฐทราบดีว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจในอเมริกาเอง
อ่านเพิ่มเติม >> วินัยการประหยัดเพื่อการ ปลอดหนี้ครัวเรือน <<
สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยกลางปีพ.ศ. 2558 อยู่ที่ 10.71 ล้านล้านบาท ซึ่งจัดว่าอาการน่าเป็นห่วง เรียกได้ว่ากวาดตาไปทางไหนเกือบร้อยละ 90 ตกอยู่ในภาวะติดหนี้ท่วมหัว ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดพนักงานบริษัท ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มแรงงาน หรือแม้แต่เจ้าของกิจการ ต่างก็ต้องตกอยู่ในบ่วงหนี้เดียวกันทั้งสิ้น สำหรับผู้ที่มีรายได้มาก ๆ ระดับ 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ก็มีอัตราการเป็นหนี้กันไม่น้อยเช่นกัน เมื่อไล่ลงมาดูสำหรับประชากรที่มีรายได้ราว ๆ 3 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ก็ติดบ่วงหนี้เช่าซื้อรถยนต์และบ้าน ถัดลงมาที่ระดับรายได้ประมาณ 16,000 บาทต่อเดือนก็ติดบ่วงหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกันทั่วหน้า และไม่เว้นแม้แต่ระดับลูกจ้างที่รายได้น้อยเฉลี่ยไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือนก็ยังไม่รอดจากบ่วงหนี้สินเชื่อบุคคล ผลพวงจากการออกมาขานรับกระแสสังคมวัตถุนิยมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้เงินแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง 0% 10 เดือน ภาระรายจ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อแลกกับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุดเท่านั้น การเลือกซื้อของที่ต้องการแลกกับความสุขทางใจไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเป็นรายจ่ายที่สามารถควบคุมได้ ไม่เกินเลยจนเกินกำลังที่ตนจะจ่ายไหว เพราะทันทีที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ก็มีแต่จะเหนื่อยหนักกับความกดดันที่จะต้องนำเงินจ่ายชำระได้ตามกำหนด
ในรายที่กำลังเผชิญกับการเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่และไม่สามารถหาเงินเพื่อทำการชำระในรายงวดได้ วิธีแก้ไขที่ดีคือการเร่งหาทางเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับทางสถาบันการเงินเพื่อปรับลดยอดเงินที่ต้องชำระต่องวดลง หากรู้ขีดสภาพคล่องของตนเองดีแล้วว่าไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้แต่ยังฝืนต่อไปจนทำให้ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามกำหนดนัดชำระ ก่อให้เกิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าติดตามทวงหนี้ทบขึ้นไปอีก ซึ่งสุดท้ายก็จะไม่มีทางปลดหนี้ได้สำเร็จ นอกจากนี้ การแยกประเภทหนี้สินเป็นเรื่องที่ต้องกระทำก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อได้รู้ว่าเจ้าหนี้รายไหนคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด และเจ้าหนี้รายไหนคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด ไม่ต้องไปกังวลกับยอดเงินที่สูง ๆ สมมุติว่ากำลังมีหนี้ทั้งจากบัตรกดเงินสด บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนบ้าน ก็ให้ไล่ระดับดอกเบี้ยสูงไปต่ำ โดยทั่วไปหนี้สินเชื่อบุคคลจะคิดอัตราสูงที่สุด รองลงมาก็บัตรเครดิตและต่ำสุดคือหนี้บ้าน
อ่านเพิ่มเติม >> พร้อมแค่ไหน ? ถ้าจะ ขอสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย <<
ทั้งนี้ หากพบว่ามีส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายและรายรับในครัวเรือนค่อนข้างมาก การเร่งสร้างรายได้เสริมนอกเวลาทำงานปกติก็เป็นวิธีแก้ไขการเป็นหนี้ชนิดนี้ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเลือกลักษณะงานอดิเรกที่ไม่ต้องลงทุนใด ๆ มากนัก สมมุติว่าเป็นคนมีความถนัดด้านการทำอาหาร ก็สามารถนำอาหารไปขายตามตลาดนัดที่มีค่าเช่าพื้นที่ไม่แพง หรือ อาจจะเปิดร้านค้าบนเฟซบุ๊ค ที่มีข้อดีคือไม่ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่เพื่อทำการขาย แต่ถ้างานรูปแบบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องลงทุนเงินไปก่อน อย่างเช่น งานขายตรงบางประเภทที่จำเป็นต้องจ่ายค่าอบรมล่วงหน้าก่อน ก็ควรจะพิจารณาให้ดี ๆ เพราะงานขายตรงเป็นอีกหนึ่งทักษะงานที่อาศัยประสบการณ์และใช่ว่าทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอนเสมอไป
วิธีแก้ไขการเป็นหนี้ชนิดนี้อย่างถาวรก็คือ การปรับทัศนคติเรื่องการบริหารเงินเสียใหม่ ตั้งต้นจากการใช้จ่ายตามกำลังทรัพย์ที่มีซึ่งสามารถพิจารณาจากฐานรายได้และค่าใช้จ่ายประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพต่าง ๆ ทั้ง ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภคและ ค่าที่อยู่อาศัย โดยทั่ว ๆ ไป ค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมกันเฉลี่ยอยู่ที่ 70 – 80% ของรายได้ สมมุติว่าได้เงินเดือน 15,000 บาท ก็พึงระลึกไว้ว่ารายได้ที่เหลือคือ 3,000 บาทเท่านั้น จึงไม่ควรสร้างภาระหนี้ขึ้นมา แต่ควรหักเงินส่วนนั้นไปเป็นการออมมากกว่า ในขณะที่ผู้มี่รายได้สูงระดับ 3 หมื่นบาทต่อเดือน ก็ อย่าเพิ่งได้ใจ เพราะ แม้ว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะกินสัดส่วนราว ๆ 60% ก็ตาม แต่เงินจำนวนที่เหลือประมาณ 12,000 บาทนั้น จำเป็นต้องแบ่งเป็นเงินออมเช่นกัน
แต่ถ้าอยากจะมีสินทรัพย์ของตนเอง และมีความพร้อมเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ก็ควรพิจารณาหนี้ที่สามารถสร้างอนาคตได้ เช่น เลือกเป็นหนี้จากการกู้ซื้อบ้านแทนเช่าซื้อรถยนต์ เพราะในระยะเวลา 7 ปีถัดไป รถยนต์ที่ผ่อน แม้จะเปลี่ยนกรรมสิทธิ์แล้วแต่ก็จะมีแต่ความเสื่อมทั้งในด้านสภาพและมูลค่าของรถยนต์ ในทางตรงกันข้าม บ้านคือทรัพย์สินที่มูลค่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นและหากได้เป็นเจ้าของในอนาคตย่อมดีกว่าการเช่าบ้านอาศัยไปเรื่อย ๆ แน่นอน