มีลูกหนึ่งคน จนไปเจ็ดปี เป็นคำกล่าวโบราณที่พ่อแม่หลายคนในยุคนี้ได้ยินแล้วต้องส่ายหน้าว่าไม่จริง เพราะสมัยนี้มีลูกหนึ่งคนต้องจนไปตลอดชีวิตต่างหาก!
แม้ว่าการมีลูกคือการเติมเต็มชีวิตที่ไม่ใช่การลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทน แต่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ก็ต้องวางแผนการเงินเพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ เพราะนับวันการแข่งขันก็ยิ่งสูงขึ้น การที่ลูกๆจะเติบโตและมีชีวิตที่ดีในวันข้างหน้าต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายๆอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดี
หลายครอบครัวไม่ได้วางแผนทางการเงินเอาไว้เมื่อตั้งใจจะมีลูก คิดว่าเงินเดือนสูง รายรับเยอะ สามารถเลี้ยงดูลูกให้สุขสบายได้ แต่ความไม่แน่นอนคือความจริงเสมอ หากวันไหนที่คุณตกงาน กิจการรายได้ถดถอย หรือแม้แต่คุณเกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ลูกๆจะมีหลักประกันอะไรในการดำรงชีวิตหากคุณไม่เตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน หรือบางครอบครัว ก็ทุ่มเทเงินทองให้กับลูกจนหมด ไม่ได้คิดเผื่อตัวเองว่าต้องมีเงินเก็บและหลักประกันที่มั่นคงเผื่อเอาไว้ในวัยเกษียณ หรือหาเงินเลี้ยงลูกจนขาดสภาพคล่องในครอบครัว จนเป็นเหตุให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้
หรือจะอ่านแบบซีรี่ย์ : ชีวิต(คู่)ดี๊ดี The series : จะแต่งงาน วางแผนค่าใช้จ่าย หรือยัง ?
ดังนั้น ก่อนจะคิดมีลูก มาเตรียมวางแผนการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครอบครัวให้สามารถมีชีวิตที่ดี มีความมั่นคง ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน และสร้างอนาคตให้กับลูกๆให้ดีอย่างที่พวกเขาต้องการ
เริ่มต้นวางแผนการเงินสำหรับชีวิตคู่
เมื่อคนสองคนตั้งใจจะสร้างครอบครัว นอกจากความรักความเข้าใจกันแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เงิน ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตครอบครัวเป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้นเริ่มต้นวางแผนการเงินด้วยวิธีต่อไปนี้
1. ตั้งเป้าหมายที่ต้องการ เพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะบรรลุเป้าหมายได้ เช่น ผ่อนบ้าน,ซื้อรถยนต์,ออมเงินเพื่อลูก,เก็บเงินเพื่อการเกษียณ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะการตั้งเป้าหมายจะทำให้เรารู้ว่าควรจัดสรรเงินอย่างไรถึงจะดีที่สุดนั่นเอง
2. เขียนรายละเอียดของเป้าหมายให้ชัดเจนและประมาณการค่าใช้จ่ายของเป้าหมายแต่ละอย่าง เช่น
- ผ่อนบ้าน : ราคาบ้านเท่าไหร่ ระยะเวลาผ่อนกี่ปี ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องใช้เงินดาวน์เท่าไหร่ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ
- ออมเงินเพื่อลูก : วางแผนว่าจะมีลูกกี่คน,ค่าใช้จ่ายของลูกต่อปี,ค่าเล่าเรียน,ประกันชีวิตและสุขภาพ เป็นต้น
- เงินออมเพื่อการเกษียณ :ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือน x จำนวนปีที่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่,ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
3. คำนวณเงินทั้งหมดเพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณต้องมีเงินเท่าไหร่สำหรับแผนการในอนาคตของครอบครัว
จัดระเบียบรายรับรายจ่าย
- รวบรวมรายได้ของคุณทั้งสองคน เพื่อที่จะได้รู้สถานะทางการเงินของครอบครัว
- แยกบัญชีสำหรับเงินที่ใช้แต่ละประเภทให้ชัดเจนและไม่นำมาปนกัน เช่น เงินเก็บสำหรับลูก,บัญชีเงินออมเพื่อซื้อบ้าน,บัญชีเงินออมเพื่อเกษียณของสามีภรรยา,บัญชีเงินค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เพื่อที่คุณจะได้รู้ยอดเงินที่แท้จริงของแต่ละบัญชี และวางแผนได้ถูกต้องว่าจะต้องเพิ่มเงินในส่วนไหนเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายแต่ละอย่าง
- ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว ให้เห็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อคุณทราบตัวเลขทางการเงินที่แน่ชัด จะช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เหมาะสมได้ เช่น รายรับพอดีกับค่าใช้จ่ายแต่ไม่พอสำหรับเงินเก็บ คุณจึงต้องมีแผนสำหรับหาเงินเพิ่ม เป็นต้น
- เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น และประเมินความสามารถในการชำระหนี้ก่อนที่จะตัดสินใจกู้ยืม โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ที่หากจำเป็นควรมีเพียงใบเดียวเพื่อใช้ในครอบครัว และจ่ายเต็มจำนวนเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยงอกเงยโดยไม่จำเป็น
วางแผนในการมีลูก
1. ก่อนมีลูก ควรตั้งเป้าหมายเก็บเงินให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1 ปีแรก โดยเฉพาะในช่วงหลังคลอดที่คุณแม่ยังไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายจำเป็นที่จะต้องมี แบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ
- ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และค่าคลอด ซึ่งคุณต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะเลือกฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ รวมถึงค่าแพคเกจคลอดต่างๆ เพื่อที่จะได้ประเมินค่าใช้จ่ายและเงินที่ต้องเตรียมได้อย่างแน่นอน
- ค่าใช้จ่ายหลังคลอด ซึ่งประกอบไปด้วยค่าผ้าอ้อม, ค่าเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวต่างๆของเด็กแรกเกิด
2. ค่าใช้จ่ายสำหรับประกันสุขภาพสำหรับลูก เพราะในช่วงวัยเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อย มีโอกาสที่ลูกจะเจ็บป่วยได้มาก ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลในสมัยนี้ก็ไม่ใช่น้อยๆเลย ดังนั้นทำประกันสุขภาพเอาไว้เพื่อความอุ่นใจจะดีกว่า
3. วางแผนมีลูกห่างกันอย่างน้อย 4 ปีเพื่อให้ลูกคนแรกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้พอสมควร ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่เหนื่อยเกินไป
ฝึกลูกน้อยให้ออมเงินเพื่อวินัยทางการเงินที่ดีในอนาคต
วินัยทางการเงินและการออมเป็นสิ่งที่สร้างได้ ดังนั้นฝึกให้ลูกเก็บออมเงินและทำบัญชีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ลูกเห็นคุณค่าของเงิน และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าที่คุณสามารถให้กับลูกได้ เพื่อให้ลูกๆสามารถพึ่งพาตัวเองและมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต