อนาคตกำหนดได้ หากมีความฝัน มีเป้าหมาย สร้างครอบครัว และฐานะให้เป็นปึกแผ่น มีความมั่นคงและความสุขในทุกช่วงของชีวิต เข็มทิศการเงินจะช่วยให้วางแผนชีวิตในแบบที่ต้องการให้เป็นจริงได้อย่างไร มีคำตอบให้ดังต่อไปนี้
1. เงินเดือนน้อย ค่าครองชีพสูง
ไม่ใช่เหตุผลผัดวันประวันพรุ่งไม่เก็บออมเงินเสียที คนวัยเริ่มต้นทำงาน อยู่ในวัยเตรียมตัวแต่งงานวางแผนอนาคตร่วมกัน หากมีการวางแผนการเงินตั้งแต่ต้นจะทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น กำลังเก็บออมเงินน้อยก็ค่อยเป็นค่อยไป เก็บเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนด้วยตัวเลข 10-%30% ของรายได้ พร้อมกับทำบัญชีรายรับรายจ่าย ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและใช้เงินให้เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐานในชีวิต
2. เงินออมห้ามถอนออกมาใช้
รายได้แต่ละเดือนต้องจัดสรรให้พอ อย่าอดออมมากเกินไปเพื่อไม่ให้รู้สึกเป็นภาระ หากเงินเดือนเหลือใช้ต้องเก็บ เงินพิเศษ รายได้พิเศษต่าง ๆ ต้องเก็บเป็นเงินออมทั้งหมด ระยะแรกอาจปรับตัวลำบาก แต่เมื่อเงินออมในบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น ควรจัดสรรเงินออมในการซื้อของเงินสด เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย เพื่อลดรายจ่ายดอกเบี้ยที่ทบสูงเท่าเงินต้น การวางแผนการเงินในส่วนนี้ต้องศึกษาข้อมูลมาก ตั้งแต่การเลือกบ้านที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นในอนาคต คำนวณราคาบ้าน ระยะเวลาที่ต้องเก็บออม การออมและการลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ในปัจจุบันและเป็นสินทรัพย์ที่ดีในอนาคต
3. การเลี้ยงลูกมีส่วนสำคัญในแผนการสร้างฐานะ
ต้องฝึกนิสัยเก็บออมให้ลูกแต่เล็ก ให้เรียนรู้และซึมซับระเบียบวินัยของพ่อแม่ รู้จักความอดทน รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ เห็นที่มาที่ไปของรายได้และรายจ่าย จะช่วยให้ลูกตั้งเป้าหมายอนาคตและทางเดินชีวิตอย่างเหมาะสมรอบคอบ ทั้งหมดนั้นเท่ากับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก ช่วยครอบครัวมีสุขภาพการเงินที่ดี และเติมเต็มแผนการสร้างฐานะให้มั่งคั่งได้อย่างสมบูรณ์แบบ
4. วางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของลูก
เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดทิศทางและเตรียมความพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายของลูกในแต่ละช่วงวัยเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะการเงินของครอบครัวในระยะยาว โดยเริ่มเก็บออมตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมค่าใช้จ่ายตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา และการเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อระดับสูงสุดไม่ว่าจะใน หรือนอกประเทศ นอกจากข้อมูลด้านค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว ต้องคำนวณค่าเล่าเรียนที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5%-10% ต่อปี วางแผนว่ามีลูกกี่คน แต่ละคนใช้จ่ายเท่าไร มีเงินฝากและเงินลงทุนด้านการศึกษารูปแบบใดและเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญคือการเอาใจใส่ให้ลูกใฝ่ใจเรียนรู้ มีความประพฤติดี เป็นบุคคลที่มีคุณภาพในสังคม เพื่อทุนทั้งหมดนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างแท้จริง
5. การบริหารครอบครัวเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน
ทั้งสามีและภรรยาต่างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบลูกและการเงินเท่าเทียมกัน ให้อิสระทางความคิดแก่กันและช่วยกันวางแผนในแบบที่อยากจะเป็น มีงานอดิเรก พักผ่อนไปเที่ยวเพื่อคลายความเครียดเหมือนคนอื่นบ้าง แต่ควรจัดสรรวางแผนให้ใช้จ่ายน้อย งานอดิเรกที่สร้างรายได้ยิ่งดี หากครอบครัวมีความเข้มแข็งพอ มีความเข้าอกเข้าใจกัน ภาวะเศรษฐกิจการเมืองใด ๆ ก็ทำอันตรายแก่สุขภาพทางการเงินไม่ได้ ทุกคนจะหันหน้าเข้าหากันร่วมมือแก้ไขปัญหา
6. วางแผนชีวิตหลังเกษียณ
หลังจากทำตามแผนและปรับปรุงแผนเป็นระยะตามความเหมาะสม การวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในวัยเกษียณเป็นการเตรียมเงินก้อนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายเมื่อไม่มีรายได้ประจำอีกต่อไป รวมทั้งเงินอีกก้อนสำหรับรองรับเหตุฉุกเฉินและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพื่อดูแลตัวเองและคนที่เรารักให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงหลังวัยเกษียณ ในกรณีของคนโสด หรือครอบครัวที่ไม่มีลูก เงินออมหลังเกษียณเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเมื่อรายได้ทั้งหมดกลายเป็นศูนย์และไม่สามารถพึ่งพาลูกหลานญาติพี่น้อง และการมีลูกไม่ได้รับประกันได้ว่าลูกจะเลี้ยงดูยามแก่ชรา
อ่านเพิ่มเติม >> เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว หลัง วัยเกษียณ <<
7. สังคมไทยยึดเอาความกตัญญูเป็นค่านิยมสำคัญ
ความกตัญญูทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า เป็นคุณธรรมที่ส่งเสริมให้คนในสังคมมีความรักสามัคคีอยู่กันด้วยความสงบสุขร่มเย็น แต่สภาพเศรษฐกิจทำให้คนหนุ่มสาวต้องทิ้งบ้านเกิด เดินทางไปทำงานไกลเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและแลกกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่เมื่อพ่อแม่อายุมากขึ้น และลูกใช้เงินที่สะสมเป็นทุนในการสร้างชีวิตให้มีฐานะมั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้แล้ว การเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่ชราจะเป็นแบบอย่างให้ลูกของตนเห็น ปลูกฝังความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ลูกผูกพันแสดงความรักความเอาใจใส่ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุหลายคนชอบอยู่ตามลำพังในบ้านของตนเอง แต่เมื่อถึงเวลาที่ไม่สามารถทำอะไรเองได้ทุกอย่าง ไปไหนมาไหนลำบาก หรือมีอาการความจำเสื่อม ครอบครัวต้องคอยสังเกตและช่วยเหลือดูแล
ทุกคนในครอบครัวจำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน ปรึกษากันว่าถ้าพ่อแม่ยังอยู่ในบ้านของตนต่อไป ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย อาจหาคนมาช่วยทำอาหารและทำความสะอาดบ้านบางครั้งบางคราว หรือฝากเพื่อนบ้านแวะมาดูแลเป็นระยะ ๆ หรือสับเปลี่ยนกันมาดูแลเอง ลูกแต่ละคนจะต้องแบ่งหน้าที่กันดูแลพ่อแม่ ช่วยเรื่องเงิน ถ้าเห็นว่าไม่ปลอดภัยอยู่ตามลำพัง อาจต้องหาลูกหลาน ญาติ หรือคนดูแลมาอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด
การวางแผนล่วงหน้าในทุกเรื่องจะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ทำให้ครอบครัวปรับตัวรับสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น การลงทุนให้ความรักความอบอุ่นดูแลบุตรหลานและพ่อแม่ที่แก่ชราเป็นอย่างดี ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต