สมัยนี้มีสิ่งล่อตาล่อใจเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เครื่องมือเครื่องใช้ อีกทั้งการท่องเที่ยวที่น่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยทั้งหมด ติดอยู่เพียงแต่ว่า เงินที่เรามีอยู่ค่อนข้างจำกัด เลยปล่อยตัวปล่อยไปตามใจอยากได้ไม่เต็มที่ ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้ ต้นเดือนอู้ฟู่ ปลายเดือนต้องกินมาม่า ถามว่าชีวิตแบบนี้ดีไหม จะว่าดีก็ได้นะ เพราะสนุกอิสระ หาเงินมาได้ ก็กินใช้หมดไปวันๆ แต่ถ้ามองให้ยาวไกลอีกหน่อย ถึงวัยที่เราไม่สามารถทำงานหาเงินได้แบบตอนนี้ เราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้กิน ใช้อยู่ แถมยังต้องรักษาตัวยามป่วยไข้ ที่สังขารร่างกายต้องเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา
เมื่อคิดได้ดังนี้ ก็ต้องรีบจัดการตัวเองใหม่ ว่าทำอย่างไรเมื่อแก่ตัวไปจะไม่เดือดร้อน ก็ต้องออมเงินวันนี้ เพื่อให้มีใช้ในวันข้างหน้าไง การจะออมเงินต้องเริ่มที่ประเมินเรื่องการเงินของตัวเองก่อน มี 5 ขั้น โดยตั้งเป็นคำถามได้ 5 ข้อดังนี้
1 ตอนนี้มีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่?
รายรับเฉลี่ยคือ รายได้ของเราที่มาจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โอที รายได้เสริม รับจ๊อป ต่างๆ เฉลี่ยแล้วมีประมาณกี่บาทต่อเดือน เคยเปิดดูสลิปเงินเดือนไหม ว่าถูกหักค่าอะไรไปบ้าง หากคิดจะออมเงิน ต้องลองเปิดดูสลิปเงินเดือน และรวบรวมรายได้ทั้งหมดเอาไว้ เพื่อจะได้ง่ายต่อการจัดการในขั้นต่อไป
2 ตอนนี้มีค่าใช้จ่ายหลักๆอะไรบ้างเป็นจำนวนเงินกี่บาทต่อเดือน?
บางทีเราก็ละเลย ไม่ตรวจสอบ ไม่ทำบัญชีว่า เดือนๆหนึ่งต้องมีรายจ่ายอะไรเป็นประจำทุกเดือนบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่า หลังจากจ่ายไปแล้ว เราจะมีเงินเหลือใช้ต่อทั้งเดือนอีกเท่าไหร่ รายจ่ายประจำส่วนหนึ่งดูได้จากสลิปเงินที่บริษัทหักออกไป เช่น ค่าประกันสังคม เงินสำรองเลี้ยงชีพเป็นต้น การรวบรวมค่าใช้จ่ายควรจะแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นกับค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การแยกค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยออกมา จะทำให้เห็นส่วนที่เราสามารถจัดการลดรายจ่ายได้ตรงจุด เพราะค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เราสามารถลด ละ เลิกได้ การที่เราไม่แยกออกมาอย่างชัดเจน ก็ทำให้เราเนียนกับการใช้จ่ายได้อย่างไม่ค่อยรู้สึกผิด
3 รายจ่ายคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของรายรับ?
เมื่อสามารถรวบรวมและแยกแยะตัวเลขได้ เราก็จะสามารถรู้ได้ว่า อัตราการรับและการจ่ายเงินของเราในแต่ละเดือนมีรูปแบบเป็นอย่างไร เช่น เสมอตัว รับเท่ากับจ่าย รับมากกว่า หรือจ่ายมากกว่า เมื่อแจกแจงออกมาได้ ก็จะจัดการเรื่องการเงินได้ง่ายขึ้น
4 มีเงินออมต่อเดือนเท่าไหร่?
คำถามข้อนี้อาจทำให้หลายคนงงๆ เพราะทั้งชีวิตไม่เคยคิดว่าจะต้องมีคำๆนี้ในการจัดการเงินด้วย ตัวเลขเงินออมเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด สำหรับการดำรงชีพในอนาคต เพราะถ้าไม่มีการออม แล้วตอนที่ทำงานไม่ไหวแล้ว จะเอาเงินที่ไหนใช้ ต้องคิดให้ยาวไกลหน่อย ไม่ใช่ว่ามีเท่าไหร่ใช้ให้หมด อนาคตค่อยว่ากัน คิดแบบนี้ออกจะประมาทเกินไป ถ้าใครยังไม่มีเงินออม ต้องตัดใจเริ่มออมเงินกันได้แล้ว บางคนบอกว่า จะกินจะอยู่ยังไม่พอใจ จะเอาที่ไหนมาออม ก็ต้องตัดใจไง กัดฟันแย่งปากแย่งท้องเอาออกมาออมให้ได้ เดือนหนึ่งอดข้าวอดกาแฟสัก 3 มื้อ ก็เก็บเงินได้ตั้ง 300 บาทแล้ว 1 ปีก็จะมีเงินเก็บ 3600 บาท
5 งานที่ทำมีความมั่นคงหรือไม่?
คำถามนี้ดูง่ายๆจากบริษัทที่เราทำอยู่ว่า กิจการดีไหม ธุรกิจยังไปได้ดีอยู่หรือเปล่า เขาบรรจุให้เราเป็นพนักงานประจำแล้วหรือยัง ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยดี ก็แสดงว่างานของเรามีความั่นคงระดับหนึ่ง แต่ถ้าดูแล้วยังไม่แน่นอน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต้องหาทางหนีทีไล่ หาอะไรทำสำรองไว้จะดีที่สุด
การประเมินการเงินของตนเอง จะช่วยให้เรารู้ความจริงว่า เราใช้จ่ายได้สมดุลหรือไม่ ใช้เงินแบบประมาทไปหรือเปล่า ยังไงก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดถึงอนาคตด้วย ถ้าเห็นว่าการเงินของตัวเองมีจุดอ่อนตรงไหน ก็แก้ไขให้ตรงจุด รายต่ายมากไปก็ต้องลดรายจ่าย สัดส่วนเงินออมน้อยไปก็ต้องใส่เพิ่ม เริ่มจากคำถาม 5 ข้อนี้ก่อน ถ้าทำได้ดี จากนั้นค่อยต่อยอดเรื่องการลงทุนได้ในอนาคต