เรื่องการเงิน ที่ควรสอนลูกตั้งแต่เด็ก เสริมวินัยทางการเงิน
ความรู้ด้านการเงินถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในอนาคตได้ ดังนั้น การปลูกฝังทักษะการเงินให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็กจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสอนเรื่องการเงินให้กับลูกนั้น ไม่ได้หมายถึงการกดดันให้พวกเขาเติบโตเป็นนักลงทุน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน แต่ยังเป็นการมอบความรู้พื้นฐานที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจคุณค่าของเงิน รู้จักใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด และวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตที่มั่นคงของพวกเขา อีกทั้งความรู้ด้านการเงิน ยังเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนไม่ได้ ต้องใช้ประสบการณ์ของพ่อแม่เท่านั้น สำหรับพ่อแม่มือใหม่ท่านไหน ที่สนใจอยากศึกษาวิธีการปลูกฟังความรู้ทางการเงินให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก สามารถทำตาม 5 เรื่องการเงิน ที่ควรสอนลูกตั้งแต่เด็ก เพื่อให้คุณสามารถถ่ายทอดความรู้ เสริมทักษะทางการเงินแบบ ‘หา-เก็บ-ใช้-ให้’ เพื่อให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยทางการเงินดีได้
5 เรื่องการเงิน ที่ควรสอนลูกตั้งแต่เด็ก
-
การออมเงินขั้นพื้นฐาน (Saving Money)
สอนการเงินเด็กที่สำคัญที่สุด คือการฝึกเด็กเรื่องการออมเงิน เพราะการออมเงินเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการมีวินัยทางการเงินที่ดี โดยพ่อแม่สามารถสอนให้เด็กเริ่มเก็บเงินหยอดกระบุก วันละเล็กละน้อย จากนั้นเริ่มตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินเพื่ออดออม เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อของเล่นที่ชื่นชอบ เก็บเงินเพื่อไปเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ การสอนให้ลูกเก็บเงินตั้งแต่ยังเด็ก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเด็กจะเรียนรู้และจดจำว่าเงินเป็นสิ่งที่มีค่า ต้องหมั่นหยอดกระปุกเพื่ออดออมสำหรับอนาคต
เมื่อลูกเริ่มต้นจนถึงวัยประถม พ่อแม่จึงจะสามารถสอนให้เด็กรู้จักกับการเก็บเงินในธนาคาร โดยการพาลูกไปเปิดบัญชีเงินฝาก จากนั้นให้เริ่มหยอดกระปุกและเก็บเงินในแต่ละเดือน เพื่อให้เห็นยอดการเติบโตของจำนวนเงินในบัญชี รวมถึงดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากเงิน เหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกภูมิใจ และยังชื่นชอบฝากเงินเพื่ออนาคตได้อีกด้วย
-
การทำรายรับ-รายจ่าย (Income-Expenses)
พ่อแม่สามารถสอนเด็กให้รู้จักกับการวางแผนการเงินง่าย ๆ เริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย แบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ ระหว่างเงินสำหรับการออม แยกกับการบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน จะช่วยให้เด็กเข้าใจความสำคัญของการวางแผน และสามารถจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การสอนให้เด็กรู้จักใช้เงินอย่างมีคุณค่า ไม่ใช้เงินไปกับสินค้าที่ฟุ่มเฟือย จะช่วยป้องกันพฤติกรรมในการใช้เงินเกินตัว หรือตกเป็นหนี้เสียในอนาคตได้ โดยเราสามารถเริ่มต้นจากการสอนเด็กให้รู้จักเปรียบเทียบสินค้าและความคุ้มค่าของการใช้เงิน สามารถใช้เงินได้อย่างมีสติและไม่ใช้เงินจนหมด ช่วยให้ลูกน้อยรู้จักกับประโยชน์ของการใช้เงินอย่างมีคุณค่า
-
การหาเงินด้วยตัวเอง (Earning Money)
นอกจากสอนให้เด็กรู้จักการใช้เงินอย่างมีสติ และเรียนรู้การทำรายรับ-รายจ่ายแล้ว การสอนให้ลูกรู้จักหาความรู้เพื่อเสริมทักษะทางด้านการเงิน หรือสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน โดยเราสามารถสังเกตว่าเด็กมีความสนใจทางด้านไหน เช่น หากชอบวาดรูป อาจเสริมทักษะให้เด็กฝึกวาดรูปและรู้จักกับอาชีพนักศิลปะ (Artist) เพื่อประกอบอาชีพในอนาคต หรือถ้าเด็กสนใจในด้านการเล่นกีฬา หรืออยากเป็นหมอ ก็สอนให้เด็กรู้จักกับอาชีพเหล่านี้ อันจะเป็นแนวทางในการวางแผนอนาคตทางการศึกษา และเชื่อมโยงให้เข้ากับงานที่เด็กสนใจได้
-
การลงทุน (Investment)
เมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้น สอนให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องการลงทุน (Investment) ทั้งประเภทของการลงทุน ความหมายของการลงทุน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคต โดยเราควรชี้แนะให้เด็กเห็นว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงหลายระดับ หากเราลงทุนในความเสี่ยงต่ำ จะทำให้เงินงอกเงยช้า แต่เติบโตได้อย่างมั่นคงได้แน่นอน นอกจากนี้ เด็กควรรู้จักการกับสร้าง Passive Income จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในทองคำ และสินทรัพย์อื่น ๆ ยิ่งลงทุนตั้งแต่เด็ก ก็จะได้เปรียบมากกว่า
-
แยกแยะความต้องการ และความอยาก
ในปัจจุบัน มีเทรนด์การใช้เงินและช้อปปิ้งมากมาย อาจทำให้เด็ก ๆ ถูกดึงดูดด้วยสิ่งของต่าง ๆ ที่เห็นตามโฆษณาหรือสื่อสังคมออนไลน์ สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้พวกเขาแยกแยะความต้องการและความอยาก เรียนรู้ว่าอะไรจำเป็นสำหรับชีวิต อะไรเป็นเพียงสิ่งของที่อยากได้ การสอนให้พวกเขาพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ จะช่วยให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและป้องกันปัญหาหนี้สินในอนาคต ถือเป็นเกราะป้องกันหนี้สินในอนาคต
การสอนเรื่องการเงินให้กับเด็กนั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ผู้ปกครองสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ โดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นบทเรียน สิ่งสำคัญคือต้องสอนอย่างอดทน เข้าใจ และสนับสนุนให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เด็ก ๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ด้านการเงิน มั่นคง และพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ทางการเงินในอนาคต