ใครจะคิดว่า คนวัยเริ่มทำงานจะมีหนี้เสียมากที่สุด!
รู้มั้ยว่า สิ่งนี้เป็นสัญญาณเตือนภัยที่บ่งบอกถึงความน่าสะเทือนใจต่อภาวะความเสี่ยงของเสถียรภาพทางระบบการเงินและเศรษฐกิจของชาติ รวมทั้งสะท้อนวินัยทางการเงินที่ไม่ดีของคนรุ่นใหม่ที่แม้เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน แต่กลับมีภาวะหนี้ที่สูง แถมบางรายเป็นหนี้เสียอีกด้วย
ล่าสุดนางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยผลวิจัย “มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทย ผ่านบิ๊กดาต้าของเครดิตบูโร” จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ NCB ที่ได้รวบรวมสถิติสินเชื่อส่วนบุคคลของเครดิตบูโร จากสถาบันการเงิน 90 แห่ง ที่มีข้อมูลสินเชื่อ 60.5 ล้านบัญชี ของผู้กู้ 19.3 ล้านคนทั่วประเทศ พบว่า ภาพรวมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนและหนี้เสียของคนไทยอยู่ในภาวะค่อนข้างสูง โดยในจำนวนผู้กู้ 19.3 ล้านคน มียอดหนี้รวมกันถึง 9.8 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 147,068 บาท แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่า ยอดหนี้เฉลี่ยน่าจะสูงกว่านี้ เพราะยังไม่รวมหนี้สหกรณ์ หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมทั้งหนี้นอกระบบอื่นๆ อีกด้วย
จากข้อมูลข้างต้น หากวัดสัดส่วนหนี้ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ตามมาตรฐานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 71.2 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ และถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว
ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ในผลการวิจัยยังพบด้วยว่า คนวัยเริ่มทำงานที่เพิ่งจบการศึกษาได้ไม่กี่ปีและมีอายุน้อย กลับเป็นวัยที่มีหนี้เสียมากที่สุด ซึ่ง 1 ใน 2 ของคนวัยนี้จะมีสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุดถึงร้อยละ 30 เปรียบเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 17 ของประชากรทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงที่สุดถึงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 15 ของผู้กู้ทั้งประเทศ ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีบัตรเครดิตมากที่สุดถึงร้อยละ 20 ขณะเดียวกันก็มีสัดส่วนหนี้เสียจากสินเชื่อบัตรเครดิตสูงสุดอีกด้วย นอกจากหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตแล้ว คนวัยนี้ยังติดอันดับมีสินเชื่อรถยนต์มากที่สุด และมีสัดส่วนหนี้เสียจากสินเชื่อนี้สูงเกือบร้อยละ 20 เช่นเดียวกับสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ที่มีหนี้เสียสูงสุดถึงร้อยละ 37.2
หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า ประชากรมีรายได้ประจำ และมีสลิปต์เงินเดือนเป็นหลักฐานชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาหนี้รายหัวกลับพบว่า ประชากรในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และใต้ จะมีมูลค่าหนี้ต่อหัวมากที่สุด สำหรับสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากที่สุดจะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ส่วนภาคเหนือจะน้อยที่สุด
นับเป็นสัญญาณที่น่ากลัว หากคนไทยโดยเฉพาะคนวัยเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่ควรสร้างฐานอันมั่นคงทางการเงินเพื่ออนาคตที่ดีของตนเอง ยังไร้วินัย ใช้เงินอย่างฟุ้งเฟ้อกับสิ่งของฟุ่มเฟือยเพื่ออวดฐานะ หรือได้รับการยอมรับจากสังคม จนยอมเป็นหนี้ยาวและนานแบบไม่กังวลใจ แต่ทราบหรือไม่ว่า ผลลัพธ์ซึ่งจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่น่าตระหนักมากกว่า ก็คือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศที่ไม่พัฒนา จนในที่สุดตัวคุณก็จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างจังนั่นเอง
…ใช้จ่ายแต่พอดี ไม่สร้างหนี้ ย่อมเป็นวิถีที่ดีที่สุด…
ที่มา