สำหรับคนที่เพิ่งจบการศึกษาจากรั้วการศึกษา ไม่ว่าจะจากสถาบัน-สาขาวิชาไหนก็ตาม เมื่อออกสู่โลกของการทำงาน นอกเหนือไปจากความตื่นเต้นดีใจที่สามารถหางานได้ตรงกับความต้องการแล้ว ยังมีอีกความรู้สึกหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้นั่นก็คือความกังวลใจ เพราะการทำงานเป็นอีกโลกหนึ่งที่คุณไม่คุ้นเคยมาก่อน ดังนั้น กลุ่มเด็กจบใหม่ หรือ First Jobber จึงมีเรื่องให้ต้องขบคิดมากกว่าคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน
ดังนั้น ในวันนี้เพื่อลดความกังวลใจและเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตวัยทำงานมากยิ่งขึ้น จึงมีปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการแก้ไขของชีวิตการทำงานที่เด็กจบใหม่อาจต้องเจอมาฝากกัน
การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ
การก้าวเข้าสู่วัยทำงาน-โลกของการทำงาน สำหรับคนที่เพิ่งผ่านช่วงเวลาของวัยรุ่นมานั้นเปรียบได้กับการเกิดอาการ Culture Shock ซึ่งเกิดกับคนที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเลยทีเดียว เพราะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร ระบบการทำงาน เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เนื้อหางานที่ทำหรือแม้แต่สถานที่ เมื่อทุกอย่างเป็นของใหม่ภายในใจลึก ๆ แล้วต้องรู้สึกผิดที่ผิดทาง อาจเกิดเป็นความเครียดโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่ความผิดพลาดในการทำงานได้ง่าย ๆ
สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือการปรับตัว ฝึกสังเกตเพื่อนร่วมงานให้มาก ๆ เพื่อให้เห็นว่าในองค์กรของเรามีการทำงานอย่างไร มีการปฏิบัติตัวกันอย่างไร และที่สำคัญเมื่อคุณทำงานแล้ว เรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีความเข้มงวดมากขึ้น จริงจังมากขึ้น ไม่เหมือนสมัยที่อยู่ในรั้วโรงเรียน-มหาวิทยาลัย แต่เราไม่ได้ขอให้คุณทำตัวฝืนธรรมชาติ ควรเป็นตัวของตัวเองภายใต้กฎและข้อปฏิบัติภายในองค์กรอย่าเพิ่งถอดใจในช่วงแรก ๆ ของการทำงาน
สิ่งที่เรียนอาจ (ไม่) เกี่ยวกับเนื้องานที่ทำในทันที
ปัญหาโลกแตกอันดับหนึ่งสำหรับการเริ่มการทำงานใหม่ เมื่อจบใหม่ออกมา เหมือนเป็นคนร้อนวิชา ทุกคนอยากใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เล่าเรียนมาให้เกิดประโยชน์ แต่กลับไม่เป็นไปตามที่หวังเอาไว้ ตรงนี้สามารถเกิดปัญหาได้สองประเภท
- ประเภทแรก คือ เนื้องานยังไม่ตรงกับที่เรียน
- ประเภทที่สอง คือ ได้งานตรงกับสาขาที่เรียน แต่รู้สึกขัด ๆ ไม่เป็นเหมือนที่หวังเอาไว้
หากคุณเจอประเภทแรกระลึกเอาไว้เสมอว่าบางครั้งสิ่งที่เรียนมาอาจยังไม่ได้ใช้ในทันที การประยุกต์เนื้อหาที่เรียนมาใช้ในการทำงานต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานระยะหนึ่งเพื่อการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ให้ลองดูไปก่อนหรือลองปรึกษาหัวหน้างานของคุณดูว่าให้ปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง ส่วนถ้าหากคุณเป็นประเภทที่สอง ที่ได้งานตรงกับสิ่งที่เรียนแต่กลับกลายเป็นเพิ่งรู้ตัวว่า ไม่ชอบเสียแล้ว ใจเย็น ๆ ลองทำสักระยะก่อน เพราะการทำงานช่วงแรกมีปัจจัยด้านการปรับตัวมาเกี่ยวข้อง แต่หากผ่านช่วงแรกไปแล้ว แน่ใจจริง ๆ ว่างานที่ได้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการก็จะได้ไม่เสียดายหากต้องเปลี่ยนสายอาชีพ
วาง “เป้าหมาย” ในการทำงานเสีย
ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กจบใหม่ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงยังไม่มีเป้าหมายในการทำงานเลย เมื่อไม่มีเป้าหมายในการทำงานจะส่งผลให้ชีวิตในการทำงานมีลักษณะของการทำงานไปวัน ๆ มาทำงานในตอนเช้าเพื่อเก็บของกลับบ้านในตอนเย็น เมื่อทำงานในรูปแบบนี้แล้วผลงานและการทำงานกับเพื่อนร่วมงานอาจออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร และสภาพแวดล้อมในการทำงานก็จะหดหู่ขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายเกิดเป็นอาการอยากเปลี่ยนงานได้ในที่สุด
การวางเป้าหมายไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณเอง คิดให้ดีว่า งานที่เราทำนั้นมีหน้าที่อย่างไร เราควรทำอย่างไรบ้าง มีเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไรบ้าง พร้อมกับคิดว่าต้องทำอะไรเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น หากมีแนวทางในการก้าวไปสู่เป้าหมาย ความรู้สึกทุ่มเทหรือ Passion ในการทำงานก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ
หายใจเข้าลึก ๆ เมื่อเจอแรงกดดัน
คนสมัยใหม่ส่วนมากไม่ค่อยมีความอดทน ยิ่งเป็นเด็กวัยรุ่นด้วยแล้ว หากเจอสภาวะกดดันขึ้นมา ก็ทำพาลให้เกิดอารมณ์ในด้านลบเอาได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ใจ หรืออาจถึงขั้นออกอาการหงุดหงิดงุ่นงานออกมาให้เห็นตรง ๆ ซึ่งตรงจุดนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้กลุ่ม First Jobber มีความเป็นไปได้เปลี่ยนง่าย-ลาออกเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
แรงกดดันเป็นอีกสิ่งที่ต้องเผชิญ อย่าเพิ่งถอยหนี เพราะการที่เพิ่งเริ่มทำงาน ไม่มีใครสามารถทำงานได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ความผิดพลาดต้องเกิดขึ้นแน่นอน และการโดนตักเตือนก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อคุณหนี คุณจะกลายเป็นเหมือนคนหนักไม่เอา เบาไม่สู้ ดังนั้น เมื่อมีอะไรที่ไม่คาดคิด ความกดดันถาโถม สิ่งที่คุณควรทำคือการหายใจเข้าลึก ๆ ใช้เวลาคิดใคร่ครวญให้ดี พยายามคิดในแง่ดีและมองเป็นประสบการณ์ที่เราต้องเรียนรู้
วางแผนการใช้เงินก่อนจะสายเกินไป
การบริหารจัดการเงินเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษสำหรับเด็กจบใหม่ เพราะมีหลายคนที่หลงไปกับเงินที่หามาได้ และเกิดการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต ด้วยเงินที่ยังไม่สูงนักสำหรับการทำงานในปีแรก ทำให้เมื่อใช้จ่ายเกินตัวเมื่อถึงยามจำเป็นต้องใช้เงินแล้วอาจพบว่าตัวเองไม่มีเงินเก็บอยู่เลยก็เป็นได้ ส่วนบางคนเมื่อบริหารจัดการเงินไม่เป็น กลับมองว่าเงินเดือนที่ได้น้อยเกินไป โดยที่ไม่ได้คิดถึงการใช้เงินของตัวเอง
การใช้เงินนั้นมีวิธีประหยัดอยู่มากมาย ลองแจกแจงเอาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนออกมาดู พร้อมระบุถึงเงินส่วนที่ต้องการเก็บออมเอาไว้ เมื่อนำเอารายได้มาหักกับรายจ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ หักกับเงินออมที่เราต้องการออมเพื่ออนาคต ส่วนที่เหลือคือส่วนที่คุณสามารถนำไปใช้จ่ายได้ตามใจชอบ
อ่านเพิ่มเติม : 2015-2016 นักศึกษาจบใหม่ ป.ตรี ได้เงินเดือนเท่าไหร่ ?