เป็นกันบ้างหรือเปล่า เวลาอ่านเรื่องของคนที่ประสบความสำเร็จมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทำอะไรออกมาก็ขายดีไปหมด จนเรา อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง บ้าง เผื่อเอาไว้เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองนอกเหนือจากการทำงานประจำ แต่ก็คิดแล้วคิดอีกก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มยังไงดี บทความนี้มีคำตอบ
มาเริ่มที่ตัวเราก่อนเลย คือ ต้องรู้จักความคิดริเริ่มที่อยากจะทำนู่นทำนี่
อย่างเช่น ต้องเริ่มที่จะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ มองว่าตอนนี้ “เทรนด์” อะไรกำลังมาแรง ทำเลตรงไหนที่น่าสนใจในการเริ่มธุรกิจของเรา หรือมองเห็นปัญหาและช่องว่างที่ตลาดมีอยู่แล้วหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อไปตอบโจทย์ที่เกิดขึ้นกับสังคม หรือจะแทรกตัวเองให้ไปยืนอยู่ในช่องว่างที่ตลาดมีอยู่ให้ได้ เอาตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นกันได้ในปัจจุบันนี้ คือ การขายกล้องติดรถยนต์ ที่หลายๆ คนมองว่าเวลาเกิดปัญหาบนท้องถนนมักจะมีการถกเถียงกันว่า “เธอผิด ฉันถูก” ก็ติดกล้องซะเลย จะได้รู้กันไปเลยว่าใครผิดใครถูกไม่ต้องเถียงกัน ซึ่งถ้าใครจับทางได้ก่อนเอาของมาขายได้ก่อน ก็มีโอกาสรวยก่อนก็เป็นได้ หรืออาจจะลองคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มาทดลองตลาดก็ดูดีไม่น้อย อีกทางเลือกหนึ่งที่มีคนประสบความสำเร็จไม่น้อย ก็คือ เริ่มธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ เริ่มจากงานอดิเรกของตัวเอง จนสามารถพัฒนามาเป็นธุรกิจได้
หรือถ้าไม่อยากนับหนึ่งใหม่ซะทีเดียว ก็ลองมองสิ่งใกล้ๆ ตัว ก็อาจจะพบขุมทรัพย์ที่สำคัญก็เป็นได้ นั่นก็คือ ให้ทำการต่อยอดจากธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่
เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น เปิดตลาดให้กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างจากกลุ่มเดิมที่ธุรกิจครอบครัวเคยทำไหว ทำการขยายสาขา เป็นต้น หรือจะต่อยอดจากงานประจำที่เราจะมีทักษะจากงานประจำนั้นเป็นอย่างดี เช่น เป็นหมอที่โรงพยาบาลก็มาเปิดคลีนิกของตัวเอง นักบัญชีหรือผู้ตรวจสอบบัญชีก็มาเปิดสำนักงานบัญชี รับทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี หรือบางที่ก็เพิ่มบริการด้วยการให้ความรู้เรื่องการทำบัญชี การทำเอกสารภาษี ก็ดูน่าสนใจและไปได้ดีอยู่ไม่น้อย
ทางเลือกสุดท้ายที่จะแนะนำ ก็คือ การไปซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว
เพราะไม่อยากเหนื่อยกับการมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งการซื้อกิจการก็มีได้สองแบบ คือ ไปซื้อกิจการจากเจ้าของเดิมโดยตรง เนื่องจากเจ้าของอาจจะไม่อยากทำต่อ อยากไปอยู่ต่างประเทศ หรือทะเลาะกับหุ้นส่วนทำให้ไม่อยากทำธุรกิจต่อ ซึ่งเราจะต้องศึกษาและหาข้อมูลให้ดีให้รอบด้านว่า ทำไมเจ้าของเดิมถึงจะขายกิจการ หากกิจการที่ว่านี้ดีจริง ส่วนการซื้อกิจการอีกแบบหนึ่งที่เราจะเห็นกันได้บ่อยๆ ก็คือ การซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็น “ธุรกิจกึ่งสำเร็จรูป” ก็ว่าได้ เพราะเจ้าของธุรกิจแฟรนไชล์นั้นจะวางระบบไว้ให้เราเรียบร้อย เหมือนเป็นสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจ เราไม่ต้องมานั่งลองผิดลองถูกให้เสียเวลา โดยมีธุรกิจหลากหลายให้เลือก เช่น ร้านสะดวกซื้อ โรงเรียนกวดวิชา ร้านข้าวมันไก่ ร้านบะหมี่ ร้านกาแฟ เป็นต้น ซึ่งเจ้าของแฟรนไชล์จะช่วยเราวางแผนทั้งหมด เช่น การจัดวางร้าน การซื้อของเข้าร้าน การเตรียมวัตถุดิบ การทำบัญชีในแต่ละวัน เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สะดวกสำหรับคนที่อยากมีธุรกิจแต่ไม่อยากเริ่มต้นจากศูนย์
หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเราจะเริ่มธุรกิจจากอะไรได้บ้าง ก็ลองมานั่งคิด ค้นหาไอเดียที่มีอยู่ในหัว แล้วก็เขียน เขียน เขียนออกมาให้หมด จะมีกี่ไอเดีย กี่ธุรกิจก็เขียนออกมาให้หมด ต่อจากนั้นก็มานั่งอ่านทีละข้อแล้วถ้าอันไหนอ่านแล้ว ธุรกิจไหนไม่เหมาะกับตัวเราก็ขีดฆ่าออกไป เช่น บางธุรกิจเราเห็นโอกาสแล้วทำออกมาต้องปังแน่นอน แต่เรามีเงินไม่มากพอที่จะเริ่มต้นแบบนี้ก็ขีดออกดีกว่า หรือเราไม่มีความรู้เพียงพอก็อย่าเอามาดีกว่า เพราะถ้าธุรกิจที่ทำอันแรกมันไปได้ไม่ดีก็อาจจะทำให้เสียกำลังใจกันเปล่าๆ ทีนี้ก็เลือกให้เหลือธุรกิจที่เหมาะกับเรามากที่สุดมา 2-3 ธุรกิจ เพื่อมาศึกษาอย่างจริงจังในแต่ละด้านว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า แต่ห้ามคิดเอาเองนะ ต้องทำการสำรวจตลาดจริงๆ เอาแบบสะดวกที่สุดตอนนี้ก็สำรวจจากโลกออนไลน์ก่อนเลย เพราะเราคงไม่มีเงินที่จะไปจ้างบริษัทมาสำรวจตลาดให้เรา
เมื่อได้ธุรกิจที่คิดว่าใช่แล้วก็ลงมือทำกันเลย แต่ก็อย่างที่หลายคนที่ทำธุรกิจมา มักจะบอกอยู่เสมอว่า ตอนเริ่มต้นคิดใหญ่ได้ แต่ขอให้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน เพราะถ้าผิดพลาดยังไงก็ยังแก้ไขได้ทัน เพราะฉะนั้นถ้าใคร อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็เริ่มสำรวจตัวเองและลงมือทำได้เลย