“…คำว่าพอเพียง มีความหมายว่า พอกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง แปลงจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง หมายความว่า สองขาของเรายืนอยู่บนพื้นได้ไม่หกล้มไม่ต้องขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่
คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูก็ได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น…”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อเอ่ยถึงเศรษฐกิจพอเพียง หลายๆคนอาจมองไปที่การต้องกลับไปทำนา ทำไร่ ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เมื่อเก็บผลผลิตได้เหลือจากที่กินและแบ่งปันก็เอาไปขาย แต่สำหรับสังคมเมืองที่ไม่มีที่ดินแบบนี้ก็สามารถน้อมนำเอาคำสอนของพระองค์ท่านไปใช้ได้ ซึ่ง พระองค์ท่านพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างง่ายๆนั่นคือการพอมีพอกิน การไม่เบียดเบียนใคร และการใช้ของอย่างคุ้มค่าอย่างที่พระองค์ท่านทรงทำเป็นแบบอย่างไว้ ไม่ว่าจะเป็น ยาสีพระทนต์ ดินสอแท่งสั้น เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ที่พระองค์ทรงใช้อย่างคุ้มค่านั่นเอง นอกจากนี้การใช้ชีวิตง่ายๆตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตสังคมเมือง ยังมีสิ่งอื่นๆที่น่าสนใจอีก ได้แก่
- ความพอประมาณซึ่งก็คือไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การใช้เงินไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยจนเงินหมดต้องมาขอหยิบยืมผู้อื่น
- ความมีเหตุผลทุกอย่างจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
- มีภูมิคุ้มกันคือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์นั้นๆไม่หวาดกลัวจนเกินไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้มี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง 2 ประการ คือ
- เงื่อนไขความรู้ไม่ว่าจะเป็น ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ รอบด้าน และความรอบคอบที่จะนำความรู้นั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและลงมือปฏิบัติ
- เงื่อนไขคุณธรรมอันประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
จะเห็นได้ว่าหากเรารู้จักนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ก็สามารถสร้างความมั่นคง และความสงบในชีวิตของเราได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างของคนในสังคมเมืองที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ดังนี้
ปวีณา เข็มกลัด ปัจจุบันประกอบอาชีพ เลขา เธอเข้ามาอยู่กรุงเทพฯตั้งแต่เรียนจบและทำงานที่นี่ ทุกๆวัน ปวีณา จะทำงานด้วยความขยันขันแข็งและซื่อสัตย์สุจริตจนเจ้านายไว้วางใจและให้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือนที่สูงพอสมควร แต่ชีวิตของเธอก็ยังเป็นเหมือนเดิม ยังอยู่อพาร์ทเมนท์เดิม กินอาหารแบบเดิมๆ ความเป็นอยู่เรียบง่ายเหมือนเดิม ของแบรนด์เนมก็แทบไม่ใช้ ทุกวันหยุดเธอจะนั่งรถตู้กลับบ้านราชบุรีเพื่อไปอยู่กับพ่อแม่และครอบครัวตลอด ด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่เคยมีปัญหาเรื่องการเงิน ครอบครัวอบอุ่น เป็นที่รักของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน และทั้งหมดนี้ก็เพราะเธอน้อมนำเรื่องความพอเพียงของพระองค์ท่านมาใช้ในการดำรงชีวิตนั่นเอง
ถวิล ตันยงค์ ข้าราชการบำนาญ คุณลุงถวิลอยู่กรุงเทพกับภรรยาตั้งแต่ยังไม่มีอะไร เป็นเพียงข้าราชการเล็กๆคนหนึ่ง จากนั้นก็เก็บหอมรอมริบรวมเงินค่อยๆซื้อห้องเล็กๆแล้วปรับปรุงมาทำบ้านเช่าราคาถูกสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเงินมากนัก จากนั้นก็เปิดร้านขายของชำเล็กๆ ด้วยความขยันเก็บเงินก็สามารถซื้อห้องเช่าขยายไปเรื่อยๆจนกลายเป็นสิบกว่าห้องและกลายเป็นรายได้หลักที่ดี สำหรับลูกๆของลุงทุกคนก็เป็นเด็กดีตั้งใจเรียนจนสุดท้ายก็ได้ทำงานและประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ถึงวันนี้ลุงจะขาดคู่ชีวิตไปแล้วแต่ลูกๆก็ยังดูแลลุงอย่างดี ชีวิตของลุงจึงมีความสุขตั้งแต่ต้นจนบั้นปลายชีวิต ด้วยความขยันและความพอเพียงที่ลุงยึดตามแนวของพ่อหลวงนั่นเอง
ครูไอฝน ครูประกิจ กล้าหาญ สองครูผู้ขยันขันแข็งจากโรงเรียนวัดห้วยสุวรรณวนาราม จ. สุพรรณบุรี ในทุกๆวันครูทั้งสองจะมาโรงเรียนแต่เช้า ครูประกิจจะทำหน้าที่ซ้อมนักกีฬาวอลเลย์ ส่วนครูไอฝนจะบรรจงดูแล รดน้ำดอกดาวเรืองหน้าโรงเรียนทุกวันอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 จากนั้นจึงใช้เวลาทั้งวันในการสอนเด็กนักเรียน ครูไอฝนจะเป็นคนที่เข้มข้นในเรื่องการเรียนการสอนมาก ด้วยอยากให้นักเรียนเข้าใจในวิชาที่สอนและสามารถสอบแข่งขันได้คะแนนดีๆ ทุกๆเย็นครูจะอยู่ต่อเพื่อสอนเสริมให้กับเด็กนักเรียนเพิ่มเติม และหากเด็กยังไม่เข้าใจก็อาจมีการสอนเสริมในวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยในขณะที่ครูประกิจ นอกจากสอนหนังสือแล้วยังมีความสามารถในการสอนนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง จนสามารถพาทีมชนะมาแล้วมากมาย จนโรงเรียนมีชื่อเสียงในกีฬาชนิดนี้ ครูทั้งคู่มาโรงเรียนทุกวันไม่เว้นแม่แต่วันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อมาซ้อมนักกีฬาหรือมาสอนเสริม ครูใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายซึ่งชุดที่คุ้นตาก็คือชุดพละ เสื้อโปโล กางเกงวอร์ม ไม่มีคำว่าแบรนด์เนมสำรับครูทั้งคู่ รถก็ใช้รถกระบะธรรมดา กินอยู่ก็ง่ายๆ แน่นอนว่าครูไม่มีปัญหาเรื่องการเงินอยู่แล้ว แถมยังเป็นที่รักของผู้ปกครองนักเรียนทุกคนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพราะครูทั้งคู่มีพ่อหลวงที่เป็นแบบอย่างดีๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเต็มที่ของการทำงาน การประหยัดอดออมและความพอเพียง
และนี่คือการใช้ชีวิตพอเพียงตามรอยพ่ออย่างถูกต้อง เมื่อไรชีวิตก็เต็มไปด้วยความสุข…