คนทำงานอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ทำงานประจำหรือเรียกว่าไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน ก็คือคนที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์นั่นเอง ในยุคสมัยปัจจุบันมีคนเลือกหันมาทำงานแบบฟรีแลนซ์กันมากขึ้น เพราะมีข้อดีคือเป็นเจ้านายตัวเอง มีอิสระ สามารถเลือกเวลาทำงานเองได้ ทำงานเองที่บ้านก็ได้ ไม่ต้องเดินทางฝ่ารถติดไปที่ทำงาน มีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาทำงานพอสมควร เพียงแค่ทำเสร็จให้ทันส่งตามกำหนดที่คุยไว้กับลูกค้า และรักษาคุณภาพของงานให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ อยากจะหยุดเมื่อไหร่ก็หยุดได้ เพราะเป็นนายตัวเอง ไม่ต้องมีเจ้านายคอยนั่งมองหรือคอยสั่งโน่นสั่งนี่ตลอดเวลา แถมไม่ต้องมีเพื่อนร่วมงานคอยขัดขาจุกจิกกวนใจอีกด้วย
แต่ด้วยความที่งานของฟรีแลนซ์มีความยืดหยุ่นและเป็นอิสระ ทำให้ความมั่นคงของงานก็น้อยกว่ามนุษย์เงินเดือน งานอาจมีเข้ามาไม่สม่ำเสมอ บางช่วงงานอาจชุก แต่บางช่วงอาจไม่มีงานเลยก็ได้ ความไม่แน่นอนของงานมีผลกับความมั่นคงของรายได้ รายได้ของฟรีแลนซ์แม้บางคนจะทำงานได้เงินมาก แต่รายได้ที่ไม่สม่ำเสมอก็ทำให้ต้องเผื่อเงินไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีงานหรือไม่มีเงินเข้ามาด้วย การบริหารเงินสำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์จึงยากและท้าทายกว่าคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน หากช่วงที่มีงานมีเงินเราใช้แบบไม่เก็บ ถึงเวลาที่งานน้อยเงินน้อย ก็อาจมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายก็ได้ เพราะทุกคนต้องมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ลดทอนไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ฟรีแลนซ์เช่นกัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ
วันนี้เรามีข้อแนะนำในการบริหารเงินสำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์ เพื่อให้แม้มีรายได้ไม่แน่นอนแต่ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายไม่ต้องกังวล แถมหากบริหารเงินดีดียังมีเงินเก็บเหลือเป็นก้อนอีกด้วย พร้อมแล้วมาดูกันเลยค่ะ
ประมาณค่าใช้จ่ายรายเดือน
การวางแผนทางการเงินหรือการบริหารเงินจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเราต้องรู้รายได้และรายจ่ายของเราในแต่ละเดือน สำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่แน่นอนเพราะเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ อย่างน้อยเราควรจะต้องรู้รายจ่ายรายเดือนของเราว่ามีค่าอะไรบ้างที่จำเป็นจะต้องจ่ายทุกเดือน หากเรายังไม่ทราบก็ต้องเริ่มทำ เริ่มจากการจดบันทึกค่าใช้จ่ายทุกครั้งที่เราจ่ายไป เมื่อครบเดือนก็มารวบรวมคำนวณเป็นหมวดหมู่ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าบ้าน ค่าของใช้ส่วนตัว ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ การจดบันทึกค่าใช้จ่ายนอกจากจะทำให้เราทราบจำนวนค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว จะทำให้แยกให้เห็นชัดเจนได้ด้วยว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่จำเป็นและส่วนไหนที่ไม่จำเป็น หากเรารู้สึกว่าค่าใช้จ่ายของเราเยอะเกินไปก็สามารถเลือกตัดทอนจากที่ไม่จำเป็นออกไปได้ด้วย
ออมเงินจากรายได้
แม้มีรายได้ที่ไม่แน่นอนแต่ทุกครั้งเมื่อทำงานแล้วได้เงินมา ควรนำเงินเข้าบัญชีธนาคาร มีเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายประจำบ้าง ทำแบบนี้ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา ควบคู่ไปกับการจดบันทึกรายจ่าย จะทำให้เราเห็นสถานะรายได้รายจ่ายของเราว่ายังคงเพียงพอกันอยู่หรือไม่ ช่วงที่มีงานมากมีรายได้มาก ก็ไม่ควรใช้เงินเพลินต้องเผื่อไว้สำหรับอนาคตที่อาจมีช่วงงานน้อยเงินน้อยด้วย มนุษย์ฟรีแลนซ์น่าจะมีเงินเก็บเผื่อไว้ประมาณ 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายรายเดือนเพื่อให้ไม่ต้องกังวลหากมีงานเข้ามาน้อย ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก
เลือกลงทุนแบบยืดหยุ่น
มนุษย์ฟรีแลนซ์มีรายได้ที่ไม่แน่นอน เมื่อมีเงินออมจากการเหลือเก็บก็ต้องพยายามลงทุนเพื่อให้เงินทำงานงอกเงยเป็นผลตอบแทนให้กับเราด้วย โดยช่องทางการลงทุนที่เหมาะสมกับมนุษย์ฟรีแลนซ์ควรเป็นการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นพอสมควร ต้องเป็นการลงทุนที่ไม่ได้กำหนดเงินที่ต้องฝากหรือต้องลงทุนรายเดือนได้ก็จะดี ควรเป็นการลงทุนที่เราเลือกจะลงทุนเท่าไหร่หรือเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น ซื้อทองคำ ซื้อกองทุน ฯลฯ
ทำประกันสุขภาพ
การเป็นฟรีแลนซ์เนื่องจากไม่มีต้นสังกัดเป็นบริษัท ส่วนมากจึงไม่มีสวัสดิการในเรื่องของการประกันสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็จะต้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเอง การทำประกันสุขภาพไว้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้มนุษย์ฟรีแลนซ์สามารถบริหารเงินได้ดีขึ้น เนื่องจากการทำประกันสุขภาพจะทำให้เราทราบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่เราต้องจ่ายและคุ้มครองสุขภาพของเราไปทั้งปี จะทำให้เราบริหารเงินได้ดีกว่าหากเกิดกรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุต้องรักษาตัวและต้องใช้เงินก้อนใหญ่ซึ่งอาจทำให้เรามีปัญหาติดขัดได้
อย่าก่อหนี้โดยไม่จำเป็น
ด้วยรายได้ที่ไม่แน่นอนก็ทำให้โดยมากมนุษย์ฟรีแลนซ์ขอสินเชื่อจากธนาคารได้ค่อนข้างยากอยู่แล้ว แต่ก็มีช่องทางให้ทำได้เช่นกัน แต่อย่างน้อยต้องอย่าลืมว่ารายได้ของเรานั้นไม่แน่นอน หากจะก่อหนี้อะไรโดยเฉพาะหากเป็นหนี้ระยะยาว ควรคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน หากเราไม่มีเงินชำระหนี้คืนได้ ก็จะเป็นปัญหาที่ต้องแก้กันอย่างยืดยาวในอนาคต
บริหารบิลค่าใช้จ่าย
บิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มาเรียกเก็บทุกเดือน หากทำได้ควรบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงให้มีวันครบกำหนดชำระที่กระจายกันไป ไม่กระจุกตัวรวมกันอยู่ที่ช่วงใดช่วงหนึ่งเพียงช่วงเดียว หากเป็นมนุษย์เงินเดือนก็อยากจะแนะนำให้รวบทุกบิลมาจ่ายพร้อมกันจะได้ไม่ลืม สะดวก และง่ายต่อการจัดการ แต่เพราะเป็นมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่แน่นอน การทยอยจ่ายแต่ละบิลจะช่วยบริหารเงินของเราได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับยอดรวมของบิลทุกประเภทด้วย หากจำนวนเงินรวมไม่มากนัก ไม่อยากมาคอยจำก็เลือกรวบบิลรวมรอจ่ายในช่วงเดียวกันของเดือนก็ได้
บริหารเรื่องภาษี
มนุษย์ฟรีแลนซ์ก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือน เพียงแต่การยื่นแบบฟอร์มอาจต่างประเภทกัน สำหรับค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่สามารถนำมาหักจากเงินได้ก่อนคำนวณภาษีก็เหมือนกับของมนุษย์เงินเดือน หากเป็นไปได้มนุษย์ฟรีแลนซ์ก็ควรบริหารในเรื่องภาษีนี้ด้วย โดยหากมีค่าลดหย่อนอะไรที่สามารถนำมาหักเพื่อทำให้จ่ายภาษีน้อยลงก็ควรอย่าลืมนำมาหักด้วย จะช่วยให้สามารถประหยัดภาษีได้