อย่าลืมกันนะ ชาวฟรีแลนซ์ทั้งหลายว่าเมื่อออกมาเป็นเจ้านายของตัวเองแล้ว ทุกวันที่ 25 หรือทุกสิ้นเดือนเราจะไม่ได้รับเงินเหมือนครั้งที่ทำงานประจำแล้วนะ รวมทั้งสิ้นปีก็ไม่ได้มีโบนัสมาให้ชุ่มชื่นหัวใจอีกแล้ว สวัสดิการต่างๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อคิดจะมาเป็นเจ้านายตัวเอง ก็อย่าลืมที่จะต้องดูแลสุขภาพทางการเงินและสุขภาพของร่างกายด้วยตัวเองเหมือนกัน เรามาดูกันดีกว่าว่า เป็นฟรีแลนซ์ แล้วต้องวางแผนการเงินกันเรื่องอะไรบ้าง
อ่านเพิ่มเติม : อยากเป็นฟรีแลนซ์ มืออาชีพ ต้องทำยังไง
ต้องมีรายได้จากหลายทาง
เป็นฟรีแลนซ์ต้องวางแผนเรื่องรายได้ดีๆ เพราะรายได้จากงานฟรีแลนซ์อย่างเดียวบางครั้งก็ไม่แน่นอน บางเดือนมีงาน บางเดือนก็ไม่มีงาน หรือบางครั้งปริมาณงานมากน้อยก็ไม่เท่ากัน เงินที่จะได้จากลูกค้าก็อาจจะมีช้าไปบ้าง ฟรีแลนซ์ที่ดีก็ควรจะมีรายได้จากทางอื่นๆ ด้วย เช่น บางคนก่อนที่จะออกจากงานก็อาจจะหาซื้อคอนโดแล้วก็ปล่อยให้คนอื่นเช่า เพื่อให้มีรายรับเข้ามาทุกเดือน หรือหากเราเป็นฟรีแลนซ์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่เราถนัดก็อาจจะเปิดเป็นคอร์สฝึกอบรมก็เป็นได้ เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีเยอะอยู่ที่เมื่อประสบความสำเร็จจากการเป็นฟรีแลนซ์ ก็เลยรับสอน Know How ของตัวเองให้คนอื่นๆ ได้นำไปใช้
ใช้บัญชีเงินฝากธนาคารมาแบ่งประเภทการใช้เงิน
เมื่อรายได้ที่เข้ามาไม่แน่นอน การวางแผนเรื่องการใช้เงินก็เป็นเรื่องสำคัญ ขอยกตัวอย่างการแบ่งบัญชีสำหรับจัดการเงินของเราสัก 2 ตัวอย่าง ละกัน
ตัวอย่างแรก ก็อาจจะมีบางคนที่เปิดบัญชีธนาคารไว้ 4 บัญชี เพื่อแยกประเภทการใช้จ่ายเงินเป็นดังนี้
- บัญชีสำหรับการใช้จ่ายประจำเดือน ซึ่งเป็นบัญชีที่มีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าในแต่ละเดือนจะใช้เงินเป็นจำนวนเท่าไร ก็จะแบ่งเงินที่ได้มาจากรายได้มาฝากไว้ที่บัญชีนี้ และที่สำคัญเมื่อหมดแล้วห้ามไปหยิบยืมมาจากบัญชีอื่นๆ เด็ดขาด ซึ่งบัญชีนี้เราอาจจะใช้บัญชีออมทรัพย์ธรรมดาและมีบัตร ATM ด้วยก็ดี เพื่อสะดวกในการถอนเงินมาใช้
- บัญชีสำรองสำหรับการใช้จ่ายภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า เผื่อไว้สำหรับบางครั้งที่ไม่มีงานมาให้ทำเลย หรือไม่สบายแล้วทำให้ไม่สามารถรับงานมาทำได้ เราก็อุ่นใจได้บ้างว่าเรายังมีเงินสำรองสำหรับใช้จ่าย ไม่ต้องไปเดือนร้อนคนอื่นๆ บัญชีนี้เราอาจจะเปิดเป็นแบบฝากประจำก็ได้ เพราะยังไงก็จะนำออกมาเฉพาะที่ไม่มีเงินจริงๆ
- บัญชีเงินออม เป็นบัญชีเงินออมตามชื่อเลย เพียงแต่เราอาจจะเลือกเปิดบัญชีที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดก็ได้
- บัญชีพิเศษเพื่อความสุขของตัวเอง บัญชีนี้ก็เพื่อความสุขของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นไปเที่ยว ซื้อของขวัญให้พ่อ แม่ ในโอกาสพิเศษ ซึ่งเราสามารถวางแผนได้ล่วงหน้าว่าจะซื้ออะไร จะไปเที่ยวที่ไหน เพราะถึงเวลาจริงๆ เราจะต้องไม่ต้องไปเอาเงินส่วนอื่นมาใช้ หรือไปใช้เงินจากบัตรเครดิต
ตัวอย่างที่สอง ตัวอย่างนี้บางคนก็อาจจะเปิดบัญชีธนาคารไว้ 5 บัญชี และแต่ละบัญชีก็มีวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป
- บัญชีเงินออมฉุกเฉิน อย่างบอกเป็นบัญชีสำหรับเหตุฉุกเฉิน เช่น รถเสีย ซ่อมบ้าน คนในบ้านเจ็บป่วย
- บัญชีเงินสำหรับสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อไม่ทำงาน ก็จะเหมือนอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นฟรีแลนซ์อาจมีงานมากน้อยหรือบางครั้งก็ไม่มี ก็จะได้มีเงินใช้อย่างไม่เดือดร้อน
- บัญชีเงินสำหรับการทำประกันชีวิต คือ การเก็บเงินเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันสำหรับตัวเอง ทั้งประกันสุขภาพเวลาเข้าโรงพยาบาล หรือประกันอื่นๆ
- บัญชีสำหรับเงินลงทุน อันก็จะเหมือนกับบัญชีการออม คือ มีเงินออมเพียงพอแล้วอาจจะแบ่งบางส่วนไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ เพื่อสร้างรายรับให้กับตัวเองอีกทางหนึ่ง
- บัญชีสำหรับตอบแทนผู้มีพระคุณหรือตอบแทนสังคม บัญชีนี้คือการแบ่งเงินไว้สำหรับการซื้อของหรือดูแลพ่อแม่ พี่น้อง หรือคนอื่นๆ ที่มีพระคุณต่อเรา หรือจะแบ่งไปให้กับมูลนิธิต่างๆ ที่มีอยู่ก็ไม่ว่ากัน ใช้หลักที่ว่ามีมาก มีน้อยก็แบ่งปันกันไป
อย่าลืมทำประกันชีวิตให้ตัวเองด้วย
สวัสดิการจากบริษัทก็ไม่มีแล้ว เวลาเจ็บป่วยต้องไปหาหมอก็จะไม่มีคนมาช่วยจ่ายให้ ถึงแม้ว่าบางคนยังใช้สิทธิประกันสังคมต่อเนื่อง แต่ด้วยค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันก็ไม่ใช่ถูกๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมควรมองหาประกันสุขภาพเวลาที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเตรียมไว้สัก 1 กรมธรรม์ก็ยังดี อาจจะซื้อเพิ่มเติมจากสิทธิที่ประกันสังคมให้มาก็ได้ จะได้ช่วยประหยัดค่าเบี้ยประกันได้บ้าง
เรียนรู้เรื่องการลงทุนสักนิด
ข้อนี้เมื่อเราเรียนรู้เรื่องการลงทุน ก็อาจจะกลายเป็นรายรับอีกทางหนึ่งของเรา เพราะถ้าเราเรียนรู้ที่จะแบ่งเงินที่ได้จากการเป็นฟรีแลนซ์มาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะถ้าเราเลือกลงทุนให้เป็นเราก็จะได้ผลตอบแทนที่เป็นจำนวนเงินที่ไม่มากไม่น้อย แต่ก็อาจจเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเพิ่มขึ้นก็เป็นได้
เป็นยังไงกันบ้างการวางแผนเรื่องการเงินให้กับฟรีแลนซ์ อย่างที่เคยบอกเมื่อออกมาเป็นฟรีแลนซ์แล้วต้องทำตัวเองให้คนอื่นอิจฉาทั้งเวลาการทำงานและเรื่องเงินๆ ทองๆ จะแบ่งแบบไหนก็ไม่ว่ากัน ขอแต่เพียงให้รู้ว่าเงินเข้า เงินออกมีเท่าไร ใช้ไปเท่าไร เหลือเก็บเท่าไร หรือเรียกง่ายๆ ว่าอย่าใช้เงินมั่วนั่นเอง