เคยมีคนมาถามว่าถ้าอยากจะ ซื้อกองทุน สักกองจะดูที่ NAV หรือราคาที่จะซื้อพอหรือเปล่า คำตอบก็คือว่าไม่พอแน่นอน เพราะ NAV หรือที่ย่อมาจาก Net Asset Value หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ” ของกองทุนที่จะเป็นตัวที่บอกว่า ณ วันที่เราดูกองทุนนั้น กองทุนมีมูลค่าอยู่ที่เท่าไรหรือจะพูดง่ายๆ ว่ามีราคาเป็นเท่าไรนั่นเอง ซึ่งถ้าหากเราต้องการซื้อกองทุนสักกองแล้วล่ะก็ดูแค่ราคาอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูถึงเรื่องนโยบายของกองทุนด้วย ดูผลตอบแทนที่กองทุนจะให้กับเรา และที่จะลืมไม่ได้คือ ค่าใช้จ่ายของกองทุน ทีนี้เรามาดูกันทีละเรื่องดีกว่าว่าทำไมเราต้องศึกษาให้ละเอียด
เริ่มด้วยที่นโยบายของกองทุน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บอกเราได้ว่ากองทุนที่เราสนใจนั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนบ้าง
เช่น หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ หรือเป็นการลงทุนในกองทุนด้วยกันเอง โดยเราสามารถศึกษาหรือหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากหนังสือชี้ชวนของกองทุน ที่ บลจ.ทุกๆ ที่จะต้องเปิดเผยไว้ที่เว็บไซต์ของตัวเอง และจะต้องมีการปรับปรุงให้ถูกต้องทุกครั้งด้วย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุน และนอกจากนั้นเรายังจะได้รู้ด้วยว่ากองทุนที่เราสนใจนั้นมีการบริหารจัดการแบบไหน มีความเสี่ยงของกองทุนอยู่ในระดับใด เพื่อที่เราจะได้เอามาใช้เปรียบเทียบกับตัวเองว่าเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนของกองทุนได้หรือเปล่า หรือจะเป็นสภาพคล่องของกองทุน เพราะบางกองทุนสามารถซื้อขายได้ทุกวัน แต่บางกองทุนซื้อแล้วจะขายไม่ได้จนกว่าจะครบกำหนดของโครงการ และบางกองทุนขายแล้วอีก 3-5 วันถึงจะได้รับเงิน เป็นต้น
ผลตอบแทนของกองทุนก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาดที่จะต้องศึกษาก่อนจะลงทุน
เพราะเราจะได้รู้ว่าแนวโน้มของเงินที่เราเอาไปลงทุนในกองทุนนั้นจะได้รับผลตอบแทนมาเท่าไรและเป็นรูปแบบไหนบ้าง เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนจะมี 2 แบบ คือ กำไรจากการดำเนินงานและเงินปันผล แต่ก็มีบางกองทุนไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล แต่จะเป็นในลักษณะที่จะขายหน่วยลงทุนให้เราแบบอัตโนมัติ เมื่อกองทุนมีกำไรถึงระดับหนึ่ง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เรามีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอเหมือนกับการจ่ายเงินปันผล แต่ไม่ต้องเสียภาษีปันผล 10% และที่เราจะต้องรู้ก็คือ ผลตอบแทนที่เราเห็นนั้นเป็นผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นเราจะเห็นคำเตือนของกองทุนที่ว่า “ผลตอบแทนในอดีตไม่ใช่เครื่องยืนยันผลตอบแทนในอนาคต” แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวเลขที่เราสามารถใช้ประมาณการได้
ซึ่งผลตอบแทนที่เราได้มานั้นจะดูว่าดีหรือไม่ดีก็จะต้องเอาไปเปรียบเทียบกับตัววัดอื่นด้วย ได้แก่ ดัชนี้มาตรฐาน (Benchmark) เปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน และเปรียบเทียบกับผลงานในอดีตของกองทุนเอง เพื่อที่จะดูความสม่ำเสมอของกองทุนด้วยว่ามีการบริหารที่ดีมากน้อยแค่ไหน และเพื่อที่จะใช้บอกได้ด้วยอีกว่าผู้จัดการกองทุนมีฝีมือในการบริหารจริงๆ ไม่ใช่โชคช่วย ทั้งนี้เราสามารถหาข้อมูลผลตอบแทนที่ว่านี้ได้จากเว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการกองทุนหรือ www.aimc.or.th และที่ www.morningstars.com
และเรื่องสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่ายของกองทุนหรือที่เราจะเรียกว่าค่าธรรมเนียมของกองทุน
ซึ่งมีสองส่วนคือ ส่วนที่เรียกเก็บจากกองทุนและส่วนที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุน โดยค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนที่เป็นรายการใหญ่ๆ ก็คือ ค่าบริหารจัดการกองทุนหรือค่าจ้างผู้จัดการกองทุนมาบริหารกองทุนให้เรา ซึ่งจะคิดจากความยากง่ายในการลงทุน เช่น กองทุนหุ้นจะสูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้นต่างประเทศจะสูงกว่ากองทุนหุ้นในประเทศ หรือกองทุนที่บริหารแบบ Active จะสูงกว่าแบบ Passive และค่าธรรมเนียมนี้จะเรียกเก็บจากกองทุนไม่ว่ากองทุนจะมีกำไรหรือขาดทุน ส่วนค่าธรรมเนียมอีกตัวก็คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากนักลงทุน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย สับเปลี่ยน หรือโอนย้ายไป บลจ.อื่นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ใช่นักลงุทนที่ชอบซื้อๆ ขายๆ ก็ไม่ต้องห่วงค่าธรรมเนียมส่วนนี้มากนัก หรือบางที่ก็อาจจะยกเว้นให้กับนักลงทุนก็มี
และข้อมูลต่างๆ ที่ว่าเหล่านี้นั้นเราสามารถหาได้จาก Fact Sheet ของกองทุนที่ทุก บลจ. จะต้องทำและเปิดเผยให้เราได้ทราบอยู่แล้วในเว็บไซต์ของ บลจ.เอง ดังนั้นเราต้องอ่านให้เข้าใจก่อนตัดสินใจเลือกกองทุนเสมอ