สิ้นปีกันแล้ว.. ลงทุนในกองทุนรวมกันไปตั้งแต่ต้นปี ถามตัวเองกันก่อนเลยว่าเราเคยเปิดพอร์ตการลงทุนของเราดูบ้างหรือเปล่าว่าลงทุนอะไรไปบ้าง แล้วแต่ละกองทุนที่ลงไปนั้นกำไรหรือขาดทุนเป็นยังไงบ้าง เพราะฉะนั้นเมื่อลงทุนในกองทุนกันไปแล้วเราก็ต้องมา เปรียบเทียบกองทุน ทบทวนสัดส่วนการลงทุนของเรากันบ้าง
ทบทวนสัดส่วนการลงทุน
โดยเราจะเริ่มกันที่เราจะต้องทบทวนสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงไม่ใช่สภาวะตลาด เพราะถ้าหากเรากำหนดเป้าหมายในการลงทุนของเราเพื่อการออม การทบทวนสัดส่วนการลงทุนไปตามสภาวะตลาดนั้นจะทำให้การลงทุนของเราผิดไปจากเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ จนทำให้เรากลายเป็นนักเก็งกำไรไปทันที และที่สุดความโลภอาจจะเข้ามาครอบงำการลงทุนของเราและทำให้เราเกิดการผิดพลาดในการลงทุนก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นการทบทวนสัดส่วนการลงทุนในกองทุนของเราจะต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเราเสมอ นั่นก็คือ เป้าหมายและความเสี่ยงจากการลงทุนที่เราได้ตั้งไว้ตั้งแต่แรก เพราะว่าวันที่เริ่มลงทุนวันแรกกับปัจจุบัน สถานะของตัวเราอาจจะเปลี่ยนไป เช่น จากเดิมที่อยู่คนเดียวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การลงทุนอาจจะเน้นไปที่ตลาดหุ้น ตลาดต่างประเทศได้ แต่ตอนนี้อาจจะมีครอบครัว มีภาระความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น เงินที่จะใช้ลงทุนก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้น การลงทุนที่เน้นในกองทุนหุ้น กองทุนต่างประเทศอาจจะต้องลดลง มาเป็นกองทุนตราสารหนี้กันมากขึ้นก็เป็นได้
ทบทวนสินทรัพย์ที่ลงทุน
เมื่อทบทวนสัดส่วนการลงทุนเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องไม่ลืมที่จะทบทวนสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ด้วย ซึ่งนั่นก็คือเราจะต้องวิเคราะห์หรือตรวจสอบว่า กองทุนรวมที่เราลงทุนไปนั้น ยังคงสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนให้เราได้ตามเป้าหมายที่เราวางไว้หรือไม่ และเราจะต้องดูว่านโยบายการคัดเลือกสินทรัพย์ที่ลงทุนในกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า เช่น กองทุนหุ้นนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของหุ้นบางกลุ่มในพอร์ต เป็นต้น มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทุนของเราบ้างหรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะมีผลกระทบต่อการบริหารกองทุนที่เราเลือกลงทุนอยู่ก็เป็นได้
ทบทวนกองทุนจากผลการดำเนินงานของกองทุน
ถัดมาก็จะเป็นการทบทวนกองทุนจากผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งสิ่งที่จะต้องทำอีกเช่นกันคือ เราก็จะต้องกลับไปดูในตอนต้นของเราว่า เราเลือกลงทุนในกองทุนแต่ละกองทุนนั้นเพื่ออะไร แล้วเราคาดหวังอะไรจากการลงทุนในกองทุนนั้นๆ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วเราก็มาทบทวนดูว่ากองทุนที่เราเลือกลงทุนนั้นยังคงให้ผลตอบแทนตามความคาดหวังของเราในตอนต้นได้หรือไม่ เช่น ถ้าผลการดำเนินงานของกองทุนที่เราลงทุนออกมาดีกว่ากองทุนส่วนใหญ่ที่มีนโยบายการลงทุนประเภทเดียวกัน นั่นก็แสดงว่ากองทุนที่เราเลือกยังทำผลงานได้ดีอยู่ หรือเราอาจจะเทียบกับดัชนีอ้างอิงของกองทุนที่เราเลือกลงทุนก็ได้ เช่น ถ้าเราลงทุนในกองทุนหุ้นที่เป็นแบบ Active Management ผลตอบแทนของกองทุนก็จะต้องชนะดัชนีตลาดหุ้นในสัดส่วนที่สูงพอสมควร เพราะการบริหารกองทุนแบบ Active Management เป็นการบริหารให้ชนะตลาดไม่ใช่เทียบเท่าตลาด เพราะฉะนั้นเมื่อเราทบทวนผลการดำเนินงานของกองทุนแล้วเราพบว่าผลการดำเนินงานยังเป็นที่น่าพอใจและเป็นไปตามที่คาดหวังเราก็ไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตการลงทุนของเรา แต่ถ้าผลงานของกองทุนเป็นไปในทางตรงกันข้าม เราอาจจะต้องมองหากองทุนอื่นๆ ดูบ้าง
สุดท้ายการทบทวนผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นบางครั้งเราอาจจะใช้เพียงตัวเลขอย่างเดียวก็ไม่น่าจะได้ เราต้องดูสภาวะการณ์รอบๆ ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือผู้บริหารของ บลจ. การเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทุน เพราะบางครั้งก็อาจจะมีผลหรือไม่มีผลต่อการบริหารกองทุนก็ได้ แต่บางครั้งก็มีผลกระทบ เช่น กองทุนหุ้นที่เป็นแบบ Active Management ซึ่งผลการดำเนินงานส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดการกองทุน เพราะบางกองทุนที่เปลี่ยนผู้จัดการกองทุนไปแล้ว จากที่เคยมีผลการดำเนินงานดีก็อาจจะไม่ดีเหมือนเดิมก็เป็นได้
และก่อนจากกันสิ่งอยากให้คิดก่อนจะปรับพอร์ตการลงทุนให้เข้าภาวะตลาดนั้นต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ตลอดจนการเฝ้าติดตามปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้านและเป็นไปอย่างใกล้ชิดด้วย ซึ่งเราจะทำอย่างนั้นได้ คือ เราจะต้องมั่นใจในฝีมือของเราเองและจะต้องมีเวลาที่เพียงพอ ไม่ใช่นั้นแล้วโอกาสในการปรับพอร์ตกองทุนรวมของเราอาจจะผิดพลาดได้ และที่สำคัญอย่าลืมเป้าหมายหรือความคาดหวังที่ตั้งไว้และความเสี่ยงที่เรายอมรับได้จากการลงทุน เพราะนั่นคือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการลงทุนกองทุนของเรา