นายกรัฐมนตรีของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในเวทีใหญ่ระดับโลกอย่าง G20 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาที่นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน โดยเจ้าภาพประเทศจีนได้เชิญนายกฯ ของไทยในฐานะของประธานกลุ่ม G77 วาระปี 2559 นี้
การเข้าร่วมประชุม G20 ในฐานะของประธานกลุ่ม G77 ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประธานกลุ่มได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม จึงถือเป็นเกียรติอย่างมากกับประเทศไทยของเรา ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2558 ประเทศไทยก็เคยได้รับเกียรติมาแล้วในการประชุมยูเอ็นที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สมาชิกทั้ง 134 ประเทศต่างก็ลงมติให้นายกรัฐมนตรีของไทยเป็นประธาน G77 หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทั้ง 77 ประเทศ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปีเช่นกันที่ผู้นำของประเทศไทยได้เป็นประธานกลุ่ม G77 นี้
ก่อนหน้าวันประชุม G20 ที่มีขึ้น ในวันที่ 4 กันยายน 2559 นายกรัฐมนตรีของไทยได้มีโอกาสเข้าพบหารือแบบทวิภาคีกับประธานาธิบดีของจีน สี จิ้น ผิง ที่โรงแรมเจ้อเจียงซีจื่อ โดยหัวข้อในการหารือก็เกี่ยวข้องกับเรื่องความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ พร้อมกับความตั้งใจที่จะกระชับความสัมพันธ์ของทั้งไทยและจีนให้ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น
สี จิ้น ผิง ได้กล่าวย้ำในเรื่องของความร่วมมือทางด้านการขนส่งในระบบรางระหว่างไทยและจีนว่าพร้อมที่จะดำเนินการให้ลุล่วงต่อไป ในขณะที่นายกฯ ของไทยเราก็ได้กล่าวว่าไทยพร้อมร่วมมือเช่นเดียวกัน แต่ที่ต้องล่าช้าเป็นเพราะติดข้อกฎหมายบางประการ นอกจากนั้น นายกฯ ไทยยังได้กล่าวขอบคุณที่ชาวจีนจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยและได้ย้ำว่าได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายให้ดูแลนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างเต็มที่
วันที่ 5 กันยายน 2559 ที่มีการประชุม G20 ที่ศูนย์การประชุมระหว่างประเทศนครหางโจวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงวิสัยทัศน์ร่วมกับผู้นำ G20 โดยวาระการประชุมมี 4 หัวข้อใหญ่ด้วยกัน คือ การเติบโตเศรษฐกิจแนวใหม่ ความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ความแข็งแกร่งของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการพัฒนาที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงทุกประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวย้ำที่ประชุมถึงเรื่องของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในการเป็นหุ้นส่วนของเศรษฐกิจโลก การพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ SME และเชื่อมโยงให้เข้าถึงห่วงโซ่ของโลก พร้อมกับยังแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องของการพัฒนาภายในประเทศโดยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติด้วย
นอกจากนั้น นายกฯ ไทยยังได้กล่าวถึงเรื่องของความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้เศรษฐกิจนั้นเกิดความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน นายกฯ ไทยยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจและการเงินของโลกด้วย
หลังการประชุมเวทีใหญ่ G20 นายกฯ ของไทยได้เปิดโอกาสให้แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัท อาลีบาบากรุ๊ป ที่เป็นกลุ่มธุรกิจ e-commerce ระดับโลกเข้าพบโดยหัวข้อในการหารือเป็นเรื่องของการพัฒนา e-commerce ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทย โดยนายกฯ ไทยเชื่อว่าผู้นำของอาลีบาบากรุ๊ปจะสามารถใช้เทคโนโลยีในเรื่องของการขนส่งและระบบการชำระเงินในการพัฒนาธุรกิจ SME ของไทยให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย
นายกฯ ไทยได้ย้ำถึงเรื่องการส่งออกของไทยว่ากว่า 90% เป็นการส่งออกโดยธุรกิจ SME แต่ที่ผ่านมามีความไม่สมบูรณ์ในเรื่องของการบริหารจัดการและกลไกของภาครัฐ หากอาลีบาบากรุ๊ปจะช่วยแบ่งปันประสบการณ์กับธุรกิจ SME ของไทยเราเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงก็จะถือว่าเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะสินค้า OTOP ที่ไทยเราอยากจะผลักดันให้ไปไกลยังต่างประเทศ
แจ๊ค หม่า ได้กล่าวชมว่าประเทศไทยมีข้อดีในเรื่องของคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ มีจุดเด่นในเรื่องของการให้บริการ เชื่อว่าระบบที่มีอยู่ของบริษัทจะช่วยให้ SME ของไทยสามารถส่งสินค้าออกมาขายยังประเทศจีนและในภูมิภาคได้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยว่าจะสามารถพัฒนาสินค้า OTOP ให้ก้าวไกลไปในระดับสากลได้ แจ๊ค หม่า ยังได้พูดถึงเรื่องของระบบ Alitrip ที่จะช่วยส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว ทำให้ไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมากได้
การที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้มีโอกาสรับเชิญเข้าร่วมในการประชุมระดับโลกอย่างเวที G20 นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุดนั่นก็คือเป็นการตอกย้ำบทบาทของประเทศไทยในการเป็นที่ยอมรับของเวทีโลกมากขึ้น โดยการถูกเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะของประธาน G77 ก็หมายถึงการยอมรับว่าเศรษฐกิจของไทยและประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม G77 นั้น สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของโลกได้ด้วยและยังเป็นการสะท้อนว่าแต่ละประเทศในเวทีประชาคมโลกนั้นมีความเชื่อมั่นและสนใจต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของไทย รวมถึงวิสัยทัศน์ในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริด้วย เป็นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในเพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
การได้พบปะกับประธานาธิบดีของประเทศจีนอย่าง สี จิ้น ผิง ซึ่งถือเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการหารือแบบทวิภาคีก็เป็นสัญญาณที่ดีในเรื่องของความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศว่าจะมีการเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน อีกทั้งการที่นายกฯ ไทยได้หารือกับแจ๊ค หม่า นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จของจีน ก็เหมือนกับเป็นการฝากฝังให้อลีบาบากรุ๊ปนั้นช่วยเหลือ SME ของไทยเราในเรื่องของระบบการขนส่งและระบบการชำระเงินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากทุกอย่างทำได้จริงธุรกิจ SME ของไทยที่ส่งสินค้าออกไปขายยังประเทศจีนและในภูมิภาคแถบเอเชียก็จะมีอนาคตที่ดูมีความหวังขึ้นได้อีกมากทีเดียว เพราะผู้นำได้มีการพูดคุยกันในเรื่องของนโยบายกว้าง ๆ กันไปแล้ว ต่อจากนี้ไปก็คงเป็นเรื่องของการต่อยอดแนวคิดจากนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ ว่าจะมีผลออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง คงต้องติดตามกันดูต่อไป