สำหรับผู้ที่เป็นลูกจ้างต้องการค่าสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ในการเลิกจ้างขอนายจ้าง ซึ่งตนเองไม่ได้กระทำความผิดแต่ถูกนายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หากคุณเป็นลูกจ้างต้องการคำนวณสินจ้างเพื่อให้นายจ้างจ่ายจะต้องทำอย่างไร
วันนี้เราขอยกตัวอย่างคดีความ ที่เกิดจากการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าของนายจ้าง พร้อมการคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ลองมาดูรายละเอียดพร้อมๆ กันเลยค่ะ
โจทก์ (ลูกจ้าง)
โจทก์ ได้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2547 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงาน เป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 25,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน มีระยะเวลาทดลองงาน 119 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายรวม 33 วัน เป็นเงิน 27,499 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายให้
นอกจากนี้ในระหว่างทำงานจำเลยได้หักค่าจ้างโจทก์ไว้ 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งละ 1,000 บาท คือค่าจ้างประจำเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2547 รวมเป็นเงิน 2,000 บาท โดยจำเลยอ้างว่าหักไว้เพื่อเป็นเงินประกันการทำงาน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ขอเงินประกันดังกล่าวคืน แต่จำเลยไม่คืนให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 27,499 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยคืนเงินประกันการทำงาน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย (นายจ้าง)
ทางจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2546 โจทก์ได้มาสมัครทำงานกับจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล จำเลยพิจารณาแล้วให้โจทก์ทดลองงาน ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลา 119 วัน โดยให้ค่าจ้างอัตราเดือนละ 25,000 บาท และให้เริ่มทดลองงานตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2547 เป็นต้นไป ในระหว่างทดลองงานจำเลยได้ประเมินผลการทำงานของโจทก์ ซึ่งปรากฎว่า การทำงานไม่อยู่ในเกณฑ์การรับเป็นพนักงานของจำเลย แต่จำเลยก็ยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ยังคงให้ทดลองทำงานต่อไป แต่โจทก์กลับละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2547 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย และไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย การกระทำดังกล่าวของโจทย์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
เนื่องจากโจทก์ มิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยล่วงหน้า จำเลยจึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นจำนวนเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างที่โจทก์ได้รับขอให้ยกฟ้องและให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลย เป็นจำนวนเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้ถือเอาเงินประกัน 2,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลย
โจทก์ ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 กรรมการผู้จัดการของจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ทางโทรศัพท์ และหลังจากนั้นก็นำใบลาออกของจำเลยมาให้โจทก์เขียนแต่โจทก์ปฏิเสธ ปกติรอบบัญชีเงินเดือนจะตัดทุกวันที่ 25 ของเดือน แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลได้คำนวณค่าจ้างให้โจทก์เต็มเดือน คือค่าจ้างของวันที่ 26 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2547 ให้แก่โจทก์ ด้วยแสดงว่าจำเลยมีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่ต้องมาทำงานกับจำเลย วันที่ 1 มีนาคม 2547 จำเลยจึงไม่มีความเสียหายที่จะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดตามฟ้องแย้งได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
การพิจารณาของศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นจำนวนเงิน 26,666.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี และคืนเงินประกันการทำงาน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ทั้งนี้ทางจำเลยไม่ยอม จึงขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์จำเลย เนื่องจากเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายในข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอุทธรณ์ของจำเลยไว้ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนเป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น (ทางจำเลยไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้ชัดเจนว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนตรงไหนอย่างไร ที่ถูกควรฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และการที่จำเลยเพียงแต่อ้างเหตุผลตามที่กล่าวต่อไปในข้อ 3 ) ซึ่งฟังยุติแล้วว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อ 2 จึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ 3 เท่านั้น หาใช่อุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงไม่ และยังเป็นข้ออุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้ อย่างชัดเจนจึงต้องห้ามอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนปัญหาอุทธรณ์ของจำเลยข้อที่ 4 ที่ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำนวน 32 วัน เป็นเงิน 26,666.66 บาท นั้น ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 หรือไม่เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทย์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2547 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 25,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน และฟังว่าจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 โดยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2547 ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยได้จ่ายค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงคงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ถึงสิ้นเดือน มีนาคม 2547 เป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติไว้อีกหนึ่งเดือน เป็นเงิน 25,000 บาท เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ รวม 32 วัน เป็นเงิน 26,666.66 บาทนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อ 4 ของจำเลยฟังขึ้น
บทสรุป
ทางศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง