ใครติดโซเชียลบ้างยกมือขึ้น! ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งจะว่าไปก็ถือว่าใช้งานโซเชียลมีเดียบ่อยเหมือนกัน บางครั้งติดหนึบเป็นชั่วโมงต้องบังคับตัวเองให้ลุกไปทำอะไรต่อ ด้วยความที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ อาการติดโซเชียลในบางครั้งก็เลยยังไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่นัก ตราบใดที่เรายังวางแผนและรับผิดชอบงานต่าง ๆ ได้ดีอยู่ มีอยู่บ้างบางช่วงที่แอบคิดว่าถ้าเอาเวลาเล่นโซเชียลไปทำงานคงจะเสร็จเร็วกว่านี้ และอาจรับงานได้มากขึ้นอีก
กลับไปแอบคิดถึงคนทำงานประจำที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศพร้อมกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย ถ้าเราไม่สามารถบังคับตัวเองให้ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสมก็น่าจะเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะผลกระทบที่เห็นเด่นชัดเป็นอันดับแรกเลยก็คือเรื่องของเวลาทำงานที่จะถูกเบียดบังไปใช้ในเรื่องส่วนตัวที่อาจไม่ได้มีประโยชน์กับเรื่องงานนัก ยกตัวอย่าง บางคนเช็ค อ่าน และตอบเมล์ส่วนตัว บางคนแอบเล่นเกม (มีจริงค่ะ) ส่วนบางคนก็อัพเฟซบุ๊ก หรือไม่ก็เช็คไลน์กันแทบจะทุกนาที วางมือถือลงไม่กี่นาที เดี๋ยวก็ต้องหยิบขึ้นมาดูอีกแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้เวลาทำงานจะมีหรือไม่ แล้วประสิทธิภาพในการทำงานจะยังดีอยู่หรือ เพราะสมาธิไม่ได้จดจ่ออยู่กับเรื่องงานเลย
มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเล่นโซเชียลของคนทำงานและมีผลกระทบกับงานของเขาเหล่านั้นมาเล่าให้ฟังกันสักเล็กน้อยค่ะ เรื่องแรกเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา เลขที่คดีดำที่ 2564/2557 เป็นเรื่องของพนักงานบัญชีทดลองงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จึงตัดสินใจฟ้องบริษัทเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยได้บอกว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้าจะเลิกจ้างทันทีต้องจ่ายค่าชดเชยสำหรับการไม่บอกกล่าวล่วงหน้า รวมไปถึงค่าเสียหายที่เกิดจากการเลิกจ้างที่พนักงานยืนยันว่าไม่เป็นธรรม แต่กรณีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเหตุผลของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทผู้ว่าจ้างฟังขึ้นมากกว่า จำเลยชี้แจงว่าโจทก์ใช้เวลางานไปคุยเล่นเรื่องส่วนตัว ส่งผลเสียหายต่อบริษัท เพราะเป็นการเบียดบังเวลางาน บกพร่องในหน้าที่ โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทเล่นอินเทอร์เน็ตและพูดคุยเรื่องส่วนตัวทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง การทำงานในช่วงทดลองงานตำแหน่งงานบัญชีจำเป็นต้องมีความละเอียดรอบคอบและสมาธิจดจ่อกับการทำงาน กรณีนี้จำเลยจึงมีสิทธิ์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แถมยังไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ด้วย สรุปกรณีนี้คือศาลยกฟ้อง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ
ไม่เพียงแต่เรื่องของเวลาและสมาธิในการทำงานเท่านั้น แต่ข้อความที่โพสต์ลงในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับเรื่องงานที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุทำให้ถูกไล่ออกได้เช่นกัน ลองไปดูตัวอย่างจากอีกเรื่องกันค่ะ เป็นเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกไล่ออกจากงานทันที หลังจากที่โพสต์ข้อความบางอย่างลงเฟซบุ๊ก เธอมีชื่อว่า Kaitlyn Walls เพิ่งได้งานใหม่ในสถานเลี้ยงเด็ก แต่เธอได้โพสต์ข้อความว่า เธอเกลียดการทำงานที่ daycares มาก และเกลียดการถูกรายล้อมไปด้วยเด็ก ๆ ไม่น่าเชื่อว่าโพสต์ของเธอมีการแชร์ต่อไปในวงกว้าง จนไปถึงนายจ้างคนใหม่ ที่เมื่อเห็นก็โทรหาเธอทันทีเพื่อบอกว่าไม่ต้องมาทำงานที่นี่แล้ว
อีกรายเป็นสาวที่ใช้ชื่อในทวิตเตอร์ว่า cella_ เธอได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า พรุ่งนี้แล้วสิที่จะต้องทำงานที่แสนห่วยแตก เจ้านายที่เป็นเจ้าของร้านพิซซ่าที่เธอกำลังจะไปทำงานได้เข้ามาเห็นข้อความเข้า จึงทวิตข้อความกลับทันทีว่า พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ เพราะเธอถูกไล่ออก แถมยังอวยพรอย่างเจ็บแสบให้โชคดีกับการเป็นคนไร้งานและไร้เงินด้วย
สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยได้เคยออกมาเปิดเผยว่ามีลูกจ้างเป็นจำนวนไม่น้อยที่ถูกไล่ออกเพราะสาเหตุแชทในเวลางานจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่องานที่รับผิดชอบ จึงอยากเตือนพนักงานที่ทำงานทุกคนให้รู้จักแบ่งเวลา แม้เราจะอยู่ในยุคของข้อมูลข่าวสาร ไม่อยากตกเทรนด์ของกลุ่มเพื่อน ๆ ก็ตาม แต่เวลางานก็ควรเป็นเวลางาน บริษัทและนายจ้างเขาจ่ายเงินเพื่อจ้างให้เราไปทำงานให้ ไม่ใช่จ้างให้ไปคุยหรือแชทเรื่องส่วนตัว ส่วนใหญ่แล้วเจ้านายมักมีการตักเตือนหรือแจ้งปัญหาให้พนักงานทราบก่อน ไม่มีเจ้านายคนไหนที่จะไล่ลูกน้องออกทันทีด้วยเหตุผลแค่เรื่องใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปแค่ไม่กี่ครั้ง (ไม่รวมกรณีที่เป็นเพื่อนกับเจ้านาย แล้วไปโพสต์ด่าเจ้านายแบบเสีย ๆ หาย ๆ ) แต่ถ้าเตือนแล้ว พูดก็แล้วยังไม่ฟัง บริษัทก็ต้องมีมาตรฐานลงโทษตามข้อกำหนดของบริษัทต่อไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเราจะโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง
ทิ้งท้ายไว้สักเล็กน้อยกับคำแนะนำในการเล่นโซเชียลมีเดียของคนทำงาน
- ไม่แชทเรื่องส่วนตัวในเวลางาน ใช้เวลาช่วงพักเที่ยงหรือหลังเลิกงานในการแชทเท่านั้น จะได้ไม่มีปัญหา ในเวลางานไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่างานที่อยู่ตรงหน้าของเราเท่านั้น
- ไม่เล่นเกมออนไลน์ในเวลางาน แม้ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็ไม่เหมาะสม ควรโฟกัสไปที่งานที่เรารับผิดชอบให้ดีที่สุด
- ระมัดระวังการอัพข้อความหรือรูปต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย หลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลกระทบกับเรื่องงาน ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรพูดถึงเรื่องงาน เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานเลยจะดีที่สุด อย่าคิดว่านั่นเป็นโลกส่วนตัวที่เราจะทำอะไรก็ได้ เพราะผลกระทบของมันอาจใหญ่หลวงเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ เพราะการโพสต์หรือแชร์ข้อความของเราจะถูกเผยแพร่ไปในวงกว้างทันที
ระมัดระวังในการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม คิดก่อนโพสต์ทุกครั้ง เพียงเท่านี้ชีวิตการทำงานของเราก็จะมั่นคงและไร้ปัญหาค่ะ
ขอบคุณข้อมูล
- http://oknation.nation.tv/blog/atimenews/2015/05/05/entry-1
- https://www.meekhao.com/news/bad-manner-on-twitter
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2564/2557