แต่ก่อนนั้น ทฤษฎีการตลาดและการบริหารธุรกิจมักจะประเมินความสำเร็จและความมั่นคงของกิจการจากผลกำไรขาดทุนเป็นเกณฑ์สำคัญ ในปัจจุบัน ธุรกิจไม่สามารถตีค่าความสำเร็จขององค์กรจากตัวเลขบนผลสรุปรายงานประจำปีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การแสดงออกถึงจุดยืนและนโยบายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งภาพลักษณ์ขององค์กรที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าดัชนีมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และยังสามารถนำไปสู่ความมั่งคั่งทางธุรกิจที่ยั่งยืนได้
จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้ กิจการร้านค้าแบรนด์ดังหลาย ๆ รายต่างพากันออกแคมเปญด้าน CSR หรือ Corporate Social Responsibilities ขึ้น แม้จะเป็นการตลาดเชิงภาพลักษณ์ แต่ก็เป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการช่วยเหลือสังคมของกิจการขนาดใหญ่ เฉกเช่นเดียวกับบรรดามหาเศรษฐีระดับโลกหลาย ๆ ท่านที่เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้วงการธุรกิจเกิดความตระหนักถึงคำว่า “ให้” เพื่อนำกำไรคืนสู่สังคม
ย้อนกลับไปในช่วงปีพ.ศ. 2549 เรื่องราวของเจ้าพ่อแห่งวงการคอมพิวเตอร์ระดับโลก บิลล์ เกตส์ ได้ปลุกจิตสำนึกของผู้คนจำนวนไม่น้อยเมื่อเขาประกาศว่าจะอุทิศเวลาส่วนตนให้กับงานการกุศลและยังได้ก่อตั้งมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ขึ้น ในระยะต่อ ๆ มาชื่อเสียงเรื่องความใจบุญและนิสัยรักการช่วยเหลือสังคมก็ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2554 บิลล์ เกตส์ได้ชักชวนเพื่อนรักระดับมหาเศรษฐีกูรูด้านการลงทุน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้ร่วมกันต่อยอดแนวทางการกุศลโปรเจคท์ช่วยเหลือสังคมภายใต้ชื่อ “The Giving Pledge” ขึ้นมา ซึ่งโครงการนี้เป็นการรวมตัวของครอบครัวมหาเศรษฐีหลาย ๆ ตระกูล แม้แต่เศรษฐีหน้าใหม่ใจดิจิตอลอย่าง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊คเองก็เป็นอีกหนึ่งในบรรดาเศรษฐีที่ตบเท้าเข้าร่วมในโครงการช่วยเหลือสังคมนี้ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติม >> กุญแจสู่ ความมั่งคั่งทางการเงิน สไตล์วอร์เรน บัฟเฟตต์ <<
ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน บิลล์ เกตส์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของคำว่า “ให้” ไว้ในรายการ ‘This week with Christiane Amanpour’ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งสามารถสรุปใจความได้ว่า คนเราอ่อนไหวและคล้อยตามกับการเสียสละได้ไม่ยาก ทุกวันนี้มีผู้เข้าร่วมในโครงการ The Giving Pledge ไม่น้อยกว่า 40 คนแล้วและในอีกไม่กี่เดือนต่อไปก็จะมีคนมาร่วมสมทบเพิ่มอีก
หากจะพูดถึงนิสัยของคนรวย นิสัยที่ช่วยให้เขาก้าวขึ้นมายืนในจุดที่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้นั้น แนวคิดสำคัญที่ต่างจากคนทั่วไปส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่คนรวยมักจะคบค้าสมาคมกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ หรือผู้ที่มีมุมมองต่อชีวิตในเชิงบวก ตรงกับสำนวนไทยโบราณที่ว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” ไม่ใช่เพราะว่าคนรวยเลือกคบคนที่ฐานะ หรือ คบเพื่อหวังผลทางสังคมเป็นสำคัญ
ในทางตรงกันข้าม การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่มีทัศนคติเชิงบวกที่อยู่รอบข้าง ช่วยเปลี่ยนมุมมองในชีวิต การมองอุปสรรคให้กลายเป็นโอกาส และมีความเชื่อมั่นในความสำเร็จข้างหน้า การมีทัศนคติที่ดีมีแต่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้ลุกขึ้นต่อสู้กับทุกอุปสรรคในชีวิตการทำงานอย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่า ทั้งบิลล์ เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟต์ สองมหาเศรษฐีระดับโลกในวัยที่ต่างกัน มีความเชี่ยวชาญในงานที่ต่างกัน แต่เมื่อได้มานั่งคุยกันเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็ต่างให้ความเคารพต่อกันและกลายมาเป็นเพื่อนรักจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่านิสัยของคนรวยที่โดดเด่นจนน่าจะนำมาปลูกฝังในตัวเรากันให้มาก คือหลักการบริหารเงินดีและรู้จักใช้เงินให้เป็น ซึ่งความหมายของการบริหารเงิน “ดี” นั้น ไม่ได้แปลว่าต้องมัธยัสถ์ ตระหนี่ หรือไม่ควักเงินออกมาใช้สักบาทเดียว ในทางกลับกัน การบริหารเงินที่ดีคือการรู้จักนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตอย่างพอเหมาะพอควร การต่อยอดเงินเพื่อการลงทุน เราสามารถเห็นตัวอย่างการใช้เงินให้เป็นได้จากมหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟต์ ผู้นิยมกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหุ้นหลาย ๆ กลุ่มที่เขาได้ศึกษาและวิเคราะห์เป็นอย่างดี โดยเขาจะวิเคราะห์แล้วว่ากิจการกลุ่มนั้นมีรากฐานการจัดการธุรกิจที่ดีและจับแนวทางของรายได้ในอนาคตได้
ส่วนการใช้เงิน “เป็น” นั้น แม้จะวอร์เรนจะขึ้นชื่อว่าเป็นเศรษฐีที่มีเงินมหาศาลระดับ 61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วก็ตาม แต่วอร์เรนกลับยังคงเลือกใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่บ้านหลังเดิมแทนซื้อคฤหาสน์สุดหรู ขับรถไปไหน ๆ เองโดยไม่ต้องมีคนขับรถ ใช้รถคันเล็กคู่ใจแทนซื้อรถสปอร์ตสุดหรูมาขับ และทำในสิ่งที่ใครหลาย ๆ คนต่างพากันชื่นชม นั่นคือ การทำหน้าที่เป็นผู้ “ให้” โดยวอร์เรนจัดว่าเป็นผู้ที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง เพราะเขาได้บริจาคเงินไม่น้อยกว่า 85% ของมูลค่าทรัพย์สินที่มีให้กับมูลนิธิบิลล์แอนด์เมลินดา และมูลนิธิอื่น ๆ อีกมากมายในปีพ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา และยังคงบริจาคเงินอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
หากจะมองให้ลึกถึงนิสัยของคนรวยในเรื่องการ ช่วยสังคม ความพอเพียงและการแบ่งปันน่าจะเป็นเงาสะท้อนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างของพวกเขาอยู่ไม่น้อย แท้ที่จริงการที่คน ๆ หนึ่งทุ่มเทแรงกายแรงใจหาเงินมาก็เป็นสิทธิโดยชอบ บางคนใช้เงินเพื่อตอบสนองความสุขของตนเอง
แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราตระหนักถึงคำว่าพอเพียงแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่ได้มาก็จะเหลือมากพอนำมาแบ่งปันต่อให้ผู้อื่นได้
เช่นเดียวกับที่ทั้งบิลล์ เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟต์กระทำมาตลอด ก็คือการให้ นับเป็นอีกหนึ่งนิสัยคนรวยที่น่าจะเอาเป็นแบบอย่างเพราะไม่เพียงแต่เป็นการเติมความสุขเท่านั้น แต่ยังสร้างความหมายให้กับชีวิตได้ดีไม่น้อยอีกด้วย