สำหรับประชาชนคนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรประกันสังคม “บัตรทอง” นับเป็นที่พึ่งพิงหลักที่จะช่วยให้การรักษาพยาบาลจากความเจ็บป่วยต่างๆ ได้ทุเลาเบาบางหรือหายขาดได้
ล่าสุด นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกมาเผยถึงสถานการณ์งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ทางบอร์ด สปสช. ได้นำเสนองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในปี 2561 ไป 141,916 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณฯ ได้พิจารณาแล้ว และปรับลดงบในปีดังกล่าวเหลือเพียง 128,533 ล้านบาท ซึ่งงบถูกปรับลดไปกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 274 บาทต่อประชากร ส่งผลให้นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้นำทีมผู้บริหาร สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมหารือกับสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 60 เนื่องจากเห็นว่า งบประมาณที่ถูกปรับลดนั้นเป็นจำนวนที่มากเกินไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคนได้
อ่านเพิ่มเติม : บัตรทองยังอยู่ไม่ไปไหน มาทบทวนสิทธิ์กัน
จากการเจรจาได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะสำนักงบประมาณจะเพิ่มเติมงบประมาณ 500 ล้านบาท หรือเพิ่มคนละ 10.5 บาท ในส่วนสิทธิประโยชน์ใหม่ 3 รายการ จากที่ลดทอนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งรายการดังกล่าวประกอบด้วย
-
การคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เฉลี่ยต้องเพิ่มงบรายหัวประมาณ 3-4 บาทต่อคน
-
วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ในเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เฉลี่ยต้องเพิ่มงบรายหัวอีกคนละ 6 บาท
-
ค่าบริการสาธารณสุขกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (Emergency Claim Online: EMCO) ที่มีการจัดทำราคาค่าใช้จ่ายตามรายการ (Free schedule)
ถึงแม้งบประมาณที่ได้รับมาจะลดลงจากที่เสนอ แต่ สปสช. ยืนยันว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เพียงแต่บางโครงการอาจต้องชะลอการดำเนินการไป ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็สามารถของบประมาณกลางปีเพิ่มเติมได้ และเพื่อให้การบริหารจัดการงบทุกส่วนมีความสมดุล และผลประโยชน์ตกถึงมือประชาชนมากที่สุด จะไม่มีการนำเงินส่วนอื่นมาใช้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี รองเลขาธิการฯ ยังมีความกังวลต่องบประมาณที่หายไปกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เพราะงบที่นำเสนอไปเบื้องต้นต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ก่อนหน้านี้ เป็นตัวเลขที่ถูกต้องจากการคำนวณต้นทุนการบริการภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทาง สปสช. มีความเข้าใจในสถานการณ์และข้อจำกัดของประเทศเป็นอย่างดี แต่ยังมีความกังวลในเรื่องภาระงาน และต้นทุนการบริการ ทั้งจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น การปรับอัตราค่าครองชีพ และในปี 2561 นี้ กองทุนฯ ยังถูกหักเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2% จากปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท หลังจากนี้ ทาง สปสช. จะขอเฝ้าระวังสถานการณ์การใช้งบประมาณฯ อย่างใกล้ชิด พร้อมกับประสานกับสำนักงบประมาณในการรายงานต่อนายกรัฐมนตรี หากจำเป็นคงต้องเสนอของบประมาณเพื่ออุดหนุนระบบเพิ่มเติม
แม้ว่าการเพิ่มงบประมาณบัตรทองในครั้งนี้ยังไม่มากมายนักในความคิดเห็นของ สปสช. แต่หากมีการบริหารจัดการและดำเนินโครงการบนพื้นฐานความจำเป็นและประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เชื่อแน่ว่า งบประมาณที่น้อยนี้ จะคงคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสุขภาพอนามัย และวิถีชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างแน่นอน
ที่มา
- http://www.thaipost.net/?q=หมอปิยะสกลยันงบบัตรทองปี61ปชชได้ประโยชน์เพิ่ม
- http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000015111