ประชาชนผู้ถือบัตรทองเตรียมเฮกันอีกครั้ง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์สามารถคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แล้ว
เพราะความน่ากลัวของโรคร้ายนี้ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ได้คร่าชีวิตคนไทยไปเป็นจำนวนมากแทบทุกปี จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติล่าสุด พบว่า ผู้ชายป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับ และมะเร็งปอด ส่วนผู้หญิงพบมากเป็นอันดับ 4 รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้การตรวจคัดกรองและยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองควรจะได้รับ ซึ่งจะเริ่มในปีงบประมาณ 2561 นี้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักประมาณ 3,000 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย โครงการนี้จึงมีเป้าหมายที่จะดำเนินการตรวจคัดกรองให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1,276,000 ราย และคาดว่าน่าจะพบผู้ป่วยประมาณ 25,380 ราย ซึ่งจะใช้งบประมาณสำหรับตรวจคัดกรองมากถึง 100 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับการตรวจคัดกรองนั้น ได้แก่ ผู้ที่ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายผิดปกติ บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจก็สามารถรับการตรวจได้เช่นกัน โดยการนำอุจจาระไปดูว่ามีเลือดปนหรือมีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งหากพบความผิดปกติก็จะรีบนำผู้ป่วยมาตรวจด้วยการส่องกล้อง เนื่องจากหากพบว่าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษาได้ผลดีกว่า และไม่ต้องผ่าตัด หรือให้เคมีบำบัด ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากในแต่ละครั้ง
การให้บริการกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับว่าได้รับความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก “ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560” พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95.66 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ได้รับความพึงพอใจที่ร้อยละ 91.86 โดยเรื่องที่ประชาชนรับทราบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
-
ใช้บัตรประชาชนในการใช้สิทธิร้อยละ 92.39
-
คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 90.18
-
เมื่อเจ็บป่วยต้องไปใช้บริการที่หน่วยที่ลงทะเบียนสิทธิ ร้อยละ 86.39
ส่วนเรื่องที่ประชาชนรับทราบน้อยที่สุด คือ
-
ใช้สิทธิคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ร้อยละ 57
-
สามารถเปลี่ยนหน่วยได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ร้อยละ 52.83
-
ทราบสายด่วน ร้อยละ 52.63
โดยกลุ่มประชาชนที่รับทราบข้อมูลน้อยที่สุด คือ กลุ่มอาชีพค้าขาย กลุ่มช่วงอายุ 25-39 ปี และกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ถึงแม้ความพึงพอใจจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ยังไม่เคยใช้สิทธิบัตรทองเลย โดยให้เหตุผลว่า
- ขั้นตอนบริการตามสิทธิมีความยุ่งยาก รอนาน
- ไม่สะดวกในการเดินทางไปหน่วยบริการตามสิทธิ
- ไม่มั่นใจในคุณภาพการบริการ
- ไม่มั่นใจคุณภาพยา เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
- มีทางเลือกอื่น ซึ่งผู้ที่ตอบประเด็นนี้จะเป็นกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ในช่วง 15,001-30,000 บาทต่อเดือน
จากผลการสำรวจดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขเองก็พร้อมที่จะปรับปรุงการให้ข้อมูลและบริการแก่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งการเพิ่มการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานการบริการ และประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน ลดภาระการบันทึกข้อมูล ทั้งยังจะปรับปรุงคุณภาพยาให้ดีขึ้น
เมื่อทุกฝ่ายให้ความสำคัญ และพร้อมใจกันพัฒนาเพื่อหลักประกันสุขภาพที่ดีของประชาชนเช่นนี้แล้ว แน่นอนว่า ประเทศชาติย่อมต้องได้ประโยชน์อย่างสูงสุดอย่างแน่นอน
…เพราะคุณภาพของประชาชน คือ แรงขับเคลื่อนที่ดีของชาตินั่นเอง…
ที่มา